xs
xsm
sm
md
lg

โลกกำลังเข้าสู่หายนะเร็วกว่าที่เราคิด...เพราะ “กระบวนการป้อนกลับ”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

แม้ว่าเรื่องที่ผมได้นำมาเขียนในวันนี้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนนอกวงการ แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจต่อโลกและชีวิต เป็นเรื่องที่เรามักจะคิดไม่ถึง แม้แต่ในวงการวิชาการเอง แต่ผมก็มั่นใจว่า หลังจากท่านเข้าใจตัวอย่างที่ผมจะยกมาประกอบแล้ว ท่านจะสามารถเข้าใจได้ อย่างน้อยก็ในแนวคิดของเรื่องครับ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เว็บไซต์ THINKPROGRESS ได้นำผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 16 คน มาเสนอ (เขียนโดย Joe Romm) โดยที่บทความต้นฉบับลงตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America เมื่อ 3 วันก่อน

ข้อความที่ JoeRomm สรุปมาจากผลงานวิจัยตอนหนึ่งความว่า “เรากำลังผลักโลกให้ไปสู่สภาพที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ที่เรียกว่า “Hothouse Effect” เป็นหายนะที่เกิดจากการที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น โดยระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 200 ฟุต และเราอาจจะเข้าใกล้ “จุดที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ (point of no return)” เร็วขึ้นกว่าที่คนส่วนมากตระหนักผลการศึกษาเตือน”

ข้อตกลงปารีสที่กว่า 190 ประเทศได้ลงนามเมื่อปี 2558 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงนั้น มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคอุตสาหกรรม) ได้ ชาวโลกจะต้องลดการปล่อยลงเหลือระดับศูนย์หรือไม่ปล่อยเลยตลอดครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 หรือภายใน 32 ปีข้างหน้า

คำเตือนที่ผมได้เล่ามาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ผมเคยอ่านเจอมาเยอะแล้ว และผมก็เชื่อว่าองค์การสหประชาชาติก็น่าจะทราบเรื่องนี้แล้ว เพราะเขาจะมีการปรับและทบทวนแผนทุก 5 ปี

แต่ผมคิดว่าคำเตือนใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 16 คนนี้ (บรรณาธิการโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่ และที่สำคัญคือข้อความต่อไปนี้

“ก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมาไม่ใช่ตัวการเดียวตามลำพังที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ผลการศึกษาของเราพบว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสนั้น จะเป็นเหตุทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะมันจะเป็นปัจจัยที่เรียกว่า “กระบวนการป้อนกลับ (Feedback)” เข้าไปในระบบอีก ส่งผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไปอีก แม้ว่าการปล่อยก๊าซฯ จะได้ค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ แล้วก็ตาม” หนึ่งในผู้วิจัยอธิบาย

ผมเองขอยอมรับว่า ได้อ่านงานวิจัยต้นฉบับเพียงคร่าวๆ เท่านั้น ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องในรายละเอียด ถึงรู้เรื่องก็คงยากที่จะนำมาเสนอในที่นี้ครับ

เหตุผลของผู้วิจัยก็คือ เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งจะละลาย ส่งผลให้ชั้นดินที่อยู่ถัดลงไปที่เรียกว่า “ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost)” (ขอบคุณอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ สำหรับคำแปล) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจะละลายตาม ในชั้นดินนี้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนปนอยู่หรือถูกกักเก็บอยู่นานหลายปี เมื่อมันละลายคราวนี้แหละมันจะออกมาอาละวาด ทั้งตัวก๊าซที่ทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลกและความร้อนที่ถูกเก็บไว้ก่อนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซมีเทนซึ่งมีประสิทธิภาพเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 21 เท่า

ก๊าซฯ ที่หลุดออกมาจากชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนี้ก็จะลอยไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลกให้หนาเพิ่มขึ้นไปอีก โลกก็จะร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

นั่นคือ มนุษย์จะค่อยๆ เข้าสู่ “ก้นหอยแห่งความตาย (Death Spiral)” เร็วเข้าไปอีก

บทความของ Joe Romm ได้อ้างผลการศึกษา (ของคนอื่น) เมื่อปี 2017 ว่า “ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่ร้อนเพิ่มขึ้นจะมีผลให้พื้นที่ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลายไปถึง 1 ใน 4 ของที่มีอยู่ในโลก”

ผมขอจบเรื่องผลงานวิจัยที่น่าสนใจมากๆ เอาไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ แต่ผมจะขอมาทำความเข้าใจกับ “กระบวนการป้อนกลับ”เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิชาการทางวิทยาศาสตร์เอง ยังไม่เห็นความสำคัญและคิดไม่ถึง ผมขอยกตัวอย่างประกอบสัก 2 เรื่อง

เรื่องแรกเป็นสุภาษิตไทย คือ “ดินพอกหางหมู” ซึ่งเว็บไซต์หนึ่งอธิบายว่า “สำนวนดินพอกหางหมูนี้ มีที่มาที่ไปคือ การเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของหมู ซึ่งชอบเกือกกลิ้งอยู่กับดินและน้ำ สถานที่ชื้นแฉะ มีโคลนตมและมักจะมีดินและโคลนไปติดอยู่ที่หางของมัน โดยที่มันมักจะไม่ยอมสลัดออก จนในที่สุดเมื่อสะสมพอกพูนมากๆ เข้า จะเกิดเป็นก้อนขนาดใหญ่ จนหมูเองไม่สามารถแกว่งหางได้”

ผมคิดว่าคำอธิบายข้างต้นนี้ ไม่ “คม” และ ไม่ “รอบด้าน” พอ ผมขอแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

หนึ่ง ถ้าหมูขี้เกียจ ดินก็จะพอกที่หางหมู เมื่อดินพอกที่หางจะส่งผลให้หมูตัวนี้ขี้เกียจมากขึ้น เมื่อหมูขี้เกียจมากขึ้น ก็ส่งผลให้ดินพอกมากขึ้นเป็นวัฏจักร เราเรียกวงจรนี้ว่า “กระบวนการป้อนกลับเชิงบวก (Positive Feedback)” ส่งผลให้สถานการณ์รุนแรงกว่าเดิมมากขึ้นๆ วนเวียนเข้าสู่ก้นหอยแห่งความตาย

สอง ถ้าหมูขยัน ดินที่เคยพอกก็จะค่อยๆ หลุดออก เมื่อดินที่พอกหลุดออกบ้าง หมูก็จะขยับตัวและขยันมากขึ้น เมื่อหมูขยันมากขึ้น ดินที่หางก็จะหลุดได้มากขึ้นอีก เป็นวัฏจักร เราเรียกวงจรนี้ว่า “กระบวนการป้อนกลับเชิงลบ (Negative Feedback)” ส่งผลให้สถานการณ์ผ่อนคลายกว่าเดิมมากขึ้นๆ

ตัวอย่างที่สอง การคิดดอกเบี้ยทบต้น

การคิดดอกเบี้ยทบต้น เป็นกระบวนการป้อนกลับเชิงบวก คือการนำดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละปีป้อนกลับเข้าไปเป็นเงินต้นอีกครั้งในทุกสิ้นปี สมมติว่าเราเริ่มต้นด้วยเงินต้นจำนวน 100 บาท ผมได้คำนวณและแสดงผลเปรียบกรณีการคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้น (หรือแบบธรรมดา) กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นไว้ดังตารางครับ

จากตารางจะเห็นว่า การคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นกระบวนการป้อนกลับ ส่งผลให้ในสิ้นปีที่ 16 ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ทำให้เงินรวมสูงกว่าการคิดดอกเบี้ยแบบธรรมดาถึงกว่า 2 ตัว (ดูตาราง)

ถ้าเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 2 องศา ส่งผลให้น้ำแข็งแถบขั้วโลกละลาย เมื่อน้ำแข็งละลายตัวก๊าซและความร้อนจะถูกปล่อยออกมาจากชั้นดินเยือกแข็งคงตัว ก็จะสามารถเทียบได้กับการนำดอกเบี้ยป้อนกลับมาเป็นเงินต้น นั่นเอง

วิธีคิดเดียวกันเลยครับ

เคยมีคนไปถามอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า “สิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีผลต่อการทำลายโลกมากที่สุด”

เขาตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น” นั่นย่อมหมายถึงว่า กระบวนการป้อนกลับ (ที่งานวิจัยชิ้นนี้อ้างถึง) มีความสำคัญมากๆ

ในทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์ การหาผลเฉลยของสมการที่เกิดจากการคิดแบบที่มีปัจจัยป้อนกลับกับไม่มี จะต้องใช้การหาผลเฉลยกันคนละแบบ คนละทฤษฎีกันเลยครับ และอาจจะนำไปสู่ผลเฉลยที่เรียกว่า “สภาพไร้ระเบียบ (Chaos)” ซึ่งมีความซับซ้อนมากจริงๆ ครับ

ปัจจุบันสถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก โดยที่เหตุและปัจจัยมีความสัมพันธ์ในแบบที่มี “กระบวนการป้อนกลับ” เกือบทั้งนั้น แต่เราไม่ได้สังเกต หรือไม่มีความละเอียดพอในการทำความเข้าใจมันเอง การแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนทัศน์ในอดีตจึงเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง

โดยสรุป ประเด็นสำคัญที่ผมได้นำเสนอมาแล้วก็คือ ธรรมชาติมี “กระบวนการป้อนกลับ” ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีพลังมาก แต่มนุษย์มักจะมองข้ามหรือแกล้งทำเป็นโง่เพื่อหวังผลประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นสำคัญ

อ้อ อาจมีบางท่านสงสัยว่า มนุษย์เราจะอยู่ได้หรือพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่องหรือ ถ้าต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในอีก 32 ปีข้างหน้าและต้องหยุดตลอดไปด้วย

ด้วยความรู้ที่ผมได้ติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีพลังงาน (ซึ่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) มาอย่างใกล้ชิด ผมขอยืนยันว่าทำได้อย่างแน่นอนครับ ไม่ว่าจะเป็นด้านไฟฟ้าและการขนส่งซึ่งปล่อยก๊าซฯ รวมกันประมาณ 80% ของทั้งหมด

ไม่ต้องรอนานถึง 32 ปีหรอกครับ ขอแค่ 10-15 ปีจากวันนี้ก็ยังทำได้ ทั้งโลกด้วยผมไม่ได้ใจร้อน แต่เพราะรู้ว่ากระบวนการป้อนกลับมันสำคัญจริงๆ สำคัญอย่างที่เราคาดไม่ถึงที่เป็นปัญหาก็คือตัวรัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์และเห็นแก่ตัวอย่างร้าจกาจเท่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น