xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสูงสุดมีเวลา1เดือน-ยื่นฎีกาคดี"หมอนิ่ม"หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- รองโฆษกอัยการแจง สำนักงานอัยการสูงสุด มีเวลา1 เดือน ในการพิจารณายื่นฎีกา คดี"หมอนิ่ม" หรือไม่

วานนี้ (8 ส.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง คดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม กับ นางสุรางค์ ดวงจินดา มารดา หมอนิ่ม กับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลย ฐานร่วมกันจ้างวานฆ่านายจักรกฤษณ์ หรือ เอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม และ ยกฟ้องแม่ของ หมอนิ่ม กับลงโทษจำเลยอื่น

ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ ยกฟ้องพญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม แต่ให้ลงโทษประหาร มารดาแทน เพราะเชื่อว่าเป็นผู้จ้างวาน แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยอื่น พิพากษายืนนั้น ถือว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษไม่เต็มตามฟ้องของอัยการที่ฟ้องให้ประหารชีวิตจำเลยทุกคน เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีแนวปฏิบัติไปในทางเดียวกัน คือ ต้องเสนอสำนักงานอัยการศาลสูงพิจารณายื่นฎีกาต่อไป หรือไม่ โดยจะต้องยื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยคดีนี้จะมีนายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง เป็นผู้พิจารณายื่นฎีกา หรือไม่

ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า แม้ศาลอุทธรณ์ จะพิพากษาแก้ แต่อัยการศาลสูง จะพิจารณาอย่างไร เป็นดุลยพินิจ และไม่ใช่ว่าจะต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลล่างเสมอไป ซึ่งอัยการศาลสูง ก็จะพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เปรียบเทียบกัน ในการยื่นฎีกาโดยทั่วไปก็จะเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ที่ศาลรับฟังเป็นยุติ รวมทั้งอัยการไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด เพราะพยานหลักฐานใด ตามที่ได้นำสืบกันมาในศาลชั้นต้น จากนั้น ก็จะยื่นต่อศาลฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น