xs
xsm
sm
md
lg

35สนช.ยื่นแก้พ.ร.ป.กกต. ปมที่มากก.คัดเลือก-โละผู้ตรวจการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี การเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่จะมีการแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.กกต. ในประเด็น คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น พบว่า นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช.ได้มีหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 เพื่อขอให้มีการแก้ไข กม.ดังกล่าว พร้อมรายชื่อสมาชิก สนช.รวม 35 คน โดยสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้ลงเลขรับหนังสือ ที่ 7811 เวลา 11.18 น. โดยร่างแก้ไขที่เสนอนั้น มีเนื้อหาทั้งสิ้น 11 มาตรา รวม 5 หน้า
สาระสำคัญ ระบุถึงเหตุผลในการแก้ไขว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นตำแหน่งที่สำคัญ ควรกำหนดให้มี คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่มีองค์ประกอบหลากหลาย มีความเป็นอิสระ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ป.นี้ ส่วนเนื้อหาที่แก้ไขหลัก มีเพียงประเด็นเดียว คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด โดยมีการเปลี่ยนผู้แทนจาก 3 องค์กร คือ ประธานสภาทนายความจังหวัด ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ได้รับการรับรองจาก กกต. ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ออกจากการเป็นกรรมคัดเลือกตามที่ระเบียบกกต. ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 และ เสนอองค์ประกอบใหม่ ให้คณะกรรมการคัดเลือกในแต่ละจังหวัด ยกเว้น กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยบุคคล รวม 7 คน มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด อัยการจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และ ผอ.กต. จังหวัด เป็นกรรมการ และเลขานุการ
ส่วนในกรุงเทพฯ มี 8 คน ประกอบด้วย ปลัดกทม. เป็นประธาน ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และ ผอ.กต.กทม. เป็นกรรมการ และเลขานุการฯ และที่สำคัญ มีกำหนดไว้เป็น มาตรา 9 และ 10 คือ ให้การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ดำเนินการอยู่ก่อน พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ให้สิ้นผลไป และให้ดำเนินการคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 60 วัน นับแต่ พ.ร.ป. นี้ใช้บังคับ
สำหรับ สนช.ทั้ง 36 คน ที่ร่วมลงชื่อ อาทิ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ นายศักดิ์ทิพย์ ไกรกฤษ์ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ นายปรีชา วัชราภัย นายพงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณท์บริภาร นายภิรมย์ กมลรัตนกุล นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี นายวันชัย ศารทูลทัต นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ นายเจน นำชัยศิริ นายชาญวิทย์ วัสยางกูร นายฉัตรชัย ปิยสมบัติกุล นายวิทวัส บุญญสถิตย์ นายวิทยา ผิวผ่อง นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เป็นต้น
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานส สนช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับแจ้งจากสมาชิก สนช. จำนวนหนึ่ง ว่ามีความประสงค์ที่จะเสนอ ร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เกี่ยวกับประเด็นทีว่า ด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า การไปกำหนดให้ กกต.สามารถออกระเบียบเพื่อเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้นั้น อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงคิดว่าควรบัญญัติไว้ในกฎหมาย เพื่อให้เกิดความแน่นอน เพราะเมื่อกกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้ว ก็อาจจะมีการแก้ไขระเบียบอีก
ทั้งนี้ ส่วนตัวได้แจ้งกับสมาชิก สนช.ไปว่า กระบวนการของการแก้ไข กม.ดังกล่าว ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากมี 2 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1 . การรับฟังความคิดเห็นตามรธน. มาตรา 77 และ 2. การส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัยความชอบด้วยรธน. ของร่างพ.ร.ป. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่าการเสนอแก้ไขกฎหมาย กกต. ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลเป็นหลัก แต่อยู่บนเหตุผลทาง กม. ซึ่งตนเองยังไม่ได้เห็นรายละเอียด
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไข กม. เป็นเรื่องของสนช. ที่สามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ถูกขั้นตอน ตามรธน. ส่วนจะแก้อย่างไร ตนไม่ทราบ เหมาะสมหรือไม่ ตนไม่วิจารณ์ แต่ยืนยันเรื่องนี้ ไม่มีใบสั่งอะไรจากรัฐบาล เพราะถ้าจะมีใบสั่ง คงสั่งห้ามคัดเลือกตั้งแต่แรกไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากแก้เรื่องวิธีการ จะต้องโละที่คัดมาแล้วทั้งหมด ใช่หรือไม่ นายวิษณุ ย้อนถามว่า แล้วมันจะทันหรือไม่ เพราะมันมีกระบวนการจัดทำกฎหมาย เมื่อถามว่า หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อที่ได้มาอาจไม่ถูกใจรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็น ใครเป็นใคร ยังไม่รู้ และจากนี้ กกต. ยังต้องส่งชื่อไปให้จังหวัดพิจารณา หากจังหวัดคัดค้าน ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ต้องเอาออก ดังนั้น เห็นว่ากระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนที่ กกต.ต้องเดินหน้าคัดเลือก เพราะกระบวนการมันยาว ถ้ามันยังไม่เสร็จ กกต.ชุดใหม่เข้ามา จะเดินหน้าต่อ หรือล้มเพื่อสรรหาใหม่ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการแก้กฎหมาย หากจะแก้กฎหมาย คือ ต้องแก้เรื่องอื่น ถ้าหวังผลแค่ระงับตรงนี้ มีช่องทางอื่นที่ทำได้ แต่ตนไม่สามารถไปชี้แนะได้ เพียงแต่อธิบายกระบวนการ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้าไปสั่ง หรือ แนะอะไร เมื่อถามว่า จะต้องใช้ มาตรา 44 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่มีใครพูดอะไรในเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น