xs
xsm
sm
md
lg

ชงบอร์ดอีอีซีตั้ง6คณะทำงานฯ-ดีเดย์6บิ๊กโปรเจกต์ต้นปี62

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ชงบอร์ดอีอีซี 10 ส.ค.นี้ เสนอตั้งทีมคณะทำงานประสานการลงทุน 6 กลุ่มครอบคลุม 10 อุตฯเป้าหมาย เพื่อทำหน้าที่จับคู่ธุรกิจไทย-ต่างชาติ ด้าน"กอบศักดิ์"ลั่น 6 บิ๊กโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซี 7แสนล้านบาท มั่นใจได้ผู้ชนะประมูลโครงการทันในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อการันตีโครงการไม่พลิกแม้มีรัฐบาลใหม่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(ลกพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานในวันที่ 10 ส.ค.นี้จะสรุปข้อเสนอแนะของภาคเอกชนเกี่ยวกับพรบ.อีอีซี รวมทั้งอุปสรรคต่างๆ หลังจากมีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) รวมทั้งตั้งทีมประสานร่วมประชารัฐ ในนาม คณะทำงานประสานการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 6 กลุ่มครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างเอกชนต่างชาติกับภาคเอกชนไทยในการจับคู่ธุรกิจ หรือหาพันธมิตรร่วมทุน รวมทั้งข้อเสนอโครงการที่เอกชนต่างชาติขอให้มีการเสนอเพิ่มเติม

โดยกลุ่มคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มเทคโนชีวภาพ /แปรรูปอาหาร/ไบโออีโคโนมี , กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ , กลุ่มอิเล็กโทรนิกส์อัจฉริยะ/หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ/ดิจิทัล , กลุ่มการบินและโลจิสติกส์, กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ ,กลุ่มท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

นอกจากนี้ จะสรุปโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีบริษัทเอกชนทั้งไทยและเทศสนใจซื้อซองเอกสารร่างขอบเขตการประมูล(TOR) 31 รายรวมทั้งมีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ที่จะเปิดขายTORในช่วงส.ค.-ก.ย. 61 เป็นโครงการถัดไป โดยทางแอร์บัสได้ตกลงทำสัญญาที่จะร่วมทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา "อีอีซีเดินหน้า เชื่อมโลกให้ไทยแล่น: โอกาสของนักลงทุนไทย" วานนี้( 1 ส.ค.) ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( อีอีซี)จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อประเทศไทยเป็นประตูทางการค้าสู่เอเชีย(Gateway to Asia)ที่ขยายผลต่อจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด โดยปีนี้มีเป้าหมายจะมีการเร่งผลักดัน 6 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีให้ได้ผู้ชนะในประมูลและลงนามสัญญาได้ภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 2562 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อสร้างหลักประกันแก่นักลงทุนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดใหม่

โดยทั้ง 6 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เปิดขายซองTORแล้ว , โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จะเปิดขาย TORในเดือนต.ค.นี้ , โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานฯ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(EECd) คิดเป็นวงเงินการลงทุนราว 7 แสนล้านบาท ไม่รวมโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ขณะนี้พบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในโครงการอีอีซีเพิ่มมากขึ้นหลังจาก พ.ร.บ. อีอีซี มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พ.ค. 2561 โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 2 รองจากจีนหากมีการตัดสินใจเลือกลงทุน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จะเสนอขอให้SMEของไทยสามารถลงทุนนอกนิคมฯใน 3 จังหวัดอีอีซีโดยได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอเท่ากับลงทุนในนิคมฯ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น