xs
xsm
sm
md
lg

พักหนี้เกษตรกร ครม.อนุมัติ1.6หมื่นล้านอุ้ม3.8ล้านราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360 - ครม. อนุมัติโครงการพักหนี้เกษตรกร 3.81 ล้านราย เป็นเวลา 3 ปี คาดใช้เงินงบประมาณรวมกว่ารวมมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท นายกฯสั่งทุกจังหวัด-อำเภอ ตั้งตลาดกลางประชารัฐ ค้าส่งซื้อขายพืชผลการเกษตร เพิ่มช่องทางค้าขายในพื้นที่

นายอภิศักดิ์ ตันติยวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการลดภาระหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเกษตรรายย่อย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการขยายเวลาชำระหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งหมด จำนวน 3.81 ล้านราย รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1.63 หมื่นล้านบาท จากวงเงินมูลหนี้สินเชื่อ 6.5 แสนล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี หรือตั้งแต่ 1 ส.ค.61 -31 ก.ค. 64 โดยได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้ 3 ปี โดยมีเงื่อนไข ชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ ปรับโครงสร้างการผลิต หรือ สินเชื่อฉุกเฉิน จัดหาปัจจัยการผลิต ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ โครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าว เช่น ข้าวโพด จำนวน 2 ล้านไร่ โดยจะประสานภาคเอกชน เพื่อรับซื้อ

2. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรรายย่อย เฉพาะต้นเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 2.5 และ ธ.ก.ส.ร้อยละ 0.5 ต่อปี ในส่วนต้นเงินกู้ที่เกิด 3 แสนบาท คิดดอกเบี้ยอัตราปกติ ระยะเวลาโครงการ 1 ส.ค.61 - 31 ก.ค.62 (1 ปี) โดยในช่วง 2 เดือนแรก (ส.ค.-ก.ย. 61) มาจากงบกลางปี 61 วงเงิน 2,724.85 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 10 เดือน วงเงิน 13,580.15 ล้านบาท ให้จัดสรรจากงบปีประมาณปี 62

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการตลาดประชารัฐด้วย ว่า ตนได้ให้แนวทางในที่ประชุมครม.ให้ทุกคนไปช่วยคิดว่า เราจะขยายตลาดประชารัฐ หรือตลาดชุมชนในพื้นที่ของเราอย่างไร ให้เป็นตลาดกลางสำหรับพืชผลทางการเกษตร ที่เกษตรกรสามารถเอาไปขายได้ อยากให้เป็นลักษณะของตลาดกลางในจังหวัด หรือ อำเภอ เพราะเราต้องการให้มีตลาดสำหรับค้าส่งของเกษตรกรเอง ซึ่งก็ต้องมีการตั้งกลไกขึ้นมาในการบริหาร

โดยเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน ไม่มีรายได้จากการเพาะปลูกก็สามารถมาค้าขายตรงนี้ได้ และจะได้เกิดวงจรในเรื่องของการขนส่ง คนที่มีรถ จะได้นำมาส่งของตามที่ลูกค้าสั่ง จะได้เป็นการเพิ่มช่องทางการค้าขายให้กับเกษตรกรเองด้วย

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ซึ่งได้มีมาตรการช่วยเหลือไปอีกระดับหนึ่ง โดยจะมีการทยอยพิจารณาไป แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามการใช้จ่ายงบประมาณ หรือตาม พ.ร.บ.การเงินการคลังปี 60 ที่จะต้องอยู่ในกรอบวงเงินที่กำหนด จึงขอให้ช่วยกันอธิบายให้เกษตรกรเข้าใจด้วย เพราะการใช้งบประมาณบางอย่างที่มันไม่ถูกต้อง หรือมากเกินไป ก็จะทำให้หลายอย่างมีปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น