xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเลือกประธานกกต.วันนี้ "ฉัตรไชย-ธวัชชัย"คู่ชิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงการประชุมของ ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน ในวันนี้ (31ก.ค.) ที่รัฐสภา ว่า นอกจาก ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คนแล้ว จะมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯกกต. มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในฐานะที่ต้องทำงานร่วมกับ ว่าที่กกต.ทั้งหมด นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว ว่าที่กกต. จะหารือกันว่าจะดำเนินการเลือกประธาน กกต. อย่างไรด้วย
ส่วนเรื่องข้อกฎหมายที่มีการท้วงติงว่า ยังได้ว่าที่กกต.ไม่ครบ 7 คน ยังไม่สามารถเลือกประธาน กกต.ได้ เพราะอาจจะขัดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. มาตรา 12 นั้น เท่าที่ตรวจสอบไม่พบว่าขัดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ จึงต้องพิจารณาทั้งข้อกฎหมาย รวมถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม เช่น การลาออกจากทุกตำแหน่ง เอกสารทุกอย่างต้องครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ
ด้านนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ว่าที่ กกต. กล่าวว่า การจะเลือกประธาน กกต. ในการประชุมวันนี้ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนข้อท้วงติงเรื่องกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทางเลขาวุฒิสภาจะต้องหาข้อยุติก่อน เพราะตนไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมาย จึงไม่ทราบเจตนารมณ์ของกฎหมาย สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า ตนมีชื่อเป็นแคนดิเดตได้รับเลือกเป็น ประธานกกต.นั้น ไม่ทราบว่าข้อมูลมาจากไหน แต่ส่วนตัวแล้วต้องการเข้ามาทำงาน ยึดหลักพอเพียง ไม่ยึดติดตำแหน่งใด ๆ
ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต. กล่าวว่า ทางสำนักงาน กกต.ได้รับแจ้งให้ไปชี้แจง ในการประชุมของ ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน โดยประเด็นที่จะชี้แจง คือ เรื่องภารกิจงานต่าง ๆ ของ กกต. และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสำนักงานได้จัดส่งรายละเอียดให้ว่าที่ กกต. ทุกท่านไปก่อนแล้ว แต่ถ้ามีข้อติดใจสงสัยก็จะชี้แจงให้ทราบ ทั้งนี้ทางสำนักงานกกต.คาดการณ์ว่า หากมีการเลือกประธาน กกต.แล้ว ก็อาจจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นก็คงต้องเร่งดำเนินการในเรื่องของการออกระเบียบรองรับกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ใช้บังคับก็ต้องดำเนินการเลือก ส.ว. แต่ทางสำนักงาน กกต.ได้เตรียมงานไว้หมดแล้ว
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า ทางกรธ. จะส่งตัวแทนชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกประธาน กกต.ในที่ประชุมวิป สนช.วันนี้ แต่ไม่ได้ส่งตัวแทนไปชี้แจงในที่ประชุม ว่าที่กกต.ทั้ง 5 คน โดยยืนยันว่า ไม่มีปัญหาที่ ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คนจะเลือกประธาน กกต.โดยไม่รอให้ครบ 7 คน เพราะตามกฎหมายเขียนชัดเจนอยู่แล้วว่า สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี 7 คน จากทั้งหมด 9 คน ก็สามารถเลือกประธานได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อแคนดิเดต ประธาน กกต.คนใหม่ มี 2 คน คือ กับนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ว่าที่กกต. จากสายศาล และ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ว่าที่ กกต. จากการสรรหา
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เห็นต่างว่า การเลือกประธาน กกต. โดยที่ยังมี ว่าที่ กกต. ไม่ครบ 7 คน อาจขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมาย โดย เเหล่งข่าวระดับสูง ให้ความเห็นว่า ตาม พ.ร.ป.กกต. มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา...” ซึ่งทั้ง 7 คน จะต้องผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา และผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งถึงวรรคแปด ดังนั้น การที่ประธานวุฒิสภา จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งครั้งแรก จึงน่าจะต้องมีว่าที่กรรมการให้ครบ 7 คน ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.ป.กกต. ก่อน ซึ่งเป็นบทบัญญัติหลักในทุกองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญด้วย
ส่วนที่อ้างว่า มาตรา 12 วรรค 9 ของ พ.ร.ป.กกต. เปิดช่องให้ 5 ว่าที่ กกต.เลือกประธาน กกต.ได้นั้น เห็นว่าบทบัญญัตินี้ จะใช้ได้ต้องเป็นกรณีที่ประธาน กกต. ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และทำหน้าที่แล้วพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ซึ่งต้องมีจำนวนถึง 5 คน เลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกกต. แล้วแจ้งให้วุฒิสภาทราบ แต่ถ้ามีกรรมการเหลือไม่ถึง 5 คน ก็ต้องสรรหา หรือคัดเลือกให้ได้ถึง 5 คนก่อน แล้วจึงเลือกคนหนึ่งเป็นประธาน กกต. บทบัญญัติดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น ก่อนหน้านี้ที่ นายเจษฎ์ โทณะวนิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยกประเด็นข้อกฎหมาย มาตรา 12 ขึ้นอ้าง เมื่อนำมาพิจารณาประกอบข้อกฎหมาย มาตรา 8 ดังกล่าวแล้ว การจะเลือกประธาน กกต.ได้ จะต้องมีว่าที่ กกต.ครบ 7 คน เสียก่อน จึงจะชอบด้วยเหตุผลเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของกกต.ชุดปัจจุบัน ต่างรับทราบปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว แต่ปฎิเสธที่จะแสดงความเห็น เนื่องจากเกรงว่าการแสดงความคิดดังกล่าว อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประธาน กกต.ที่เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น


กำลังโหลดความคิดเห็น