xs
xsm
sm
md
lg

ภัยธรรมชาติกับทิศทางของรัฐยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


ชักออกอาการหันรี-หันขวาง...ไม่รู้จะร่อนไป-ร่อนมาแถวไหนกันดี ด้วยเหตุเพราะโลกช่วงนี้...มันคงไม่ได้มีแต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง การค้า หรือการทหารเท่านั้น แต่ที่ออกจะหนักหนาสาหัสอย่างเป็นพิเศษ เห็นได้ชัดเจนแบบตำตา ตำใจยิ่งขึ้นทุกที คงหนีไม่พ้นไปจากเรื่อง “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” นั่นแหละทั่น ไม่ว่าไฟป่า-น้ำท่วม-แผ่นดินไหว-ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ ที่ต่างไล่เรียงกันมาเป็นลูกระนาด ชนิดทำให้ “ลูกบ้า” หรือความบ้าในระดับต่างๆ ของบรรดาผู้นำโลก ไม่ว่ารายไหน ต่อรายไหน กลายเป็นเรื่องกระจอกงอกง่อยไปโดยทันที...

และอันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถือเป็น “เรื่องใหม่” แต่เป็นเรื่องที่ใครๆ พูดจาว่ากล่าวกันมานานแล้ว...ว่าสิ่งที่อาจถือเป็น “ภัยคุกคาม” หรือเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ต่อวิกฤตของโลกในทุกๆ ด้าน เอาไป-เอามา...มันอาจไม่ใช่เป็นภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย จากอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ อย่างที่เคยนึกๆ-คิดๆ เมื่อหลายต่อหลายทศวรรษที่แล้ว แต่ด้วย “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” นี่แหละ ถือเป็นภัยคุกคามระดับมาแรงแซงโค้ง ล้ำหน้าภัยคุกคามชนิดอื่นๆ ชนิดต้องชิดซ้าย ตกคู ตกคลองกันไปเป็นแถบๆ ไม่ว่าจะมองจากตัวเลขสถิติ ผลกระทบจากความเสียหายที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ การเมือง หรือวิถีชีวิตทางสังคมของผู้คนอย่างหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นทุกที...

ถ้าว่ากันแบบตัวเลขกลมๆ...ที่บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ในระดับโลก อย่าง “สวิส รี” (Swiss Re) เขาเคยประเมินเอาไว้เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วนี่เอง ว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วทั้งโลกในปี ค.ศ. 2017 เพียงปีเดียวเท่านั้น เมื่อคิดเป็นตัวเงิน-ตัวทองมูลค่าไม่น่าจะต่ำกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือปาเข้าไปประมาณ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขของธนาคารโลก ที่เคยสรุปมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี ค.ศ. 2014 ว่าพุ่งไปถึง 380,000 ล้านดอลาร์ กี่ล้านล้านบาทก็ลองเอา 30บาทกว่าๆ เข้าไปบวก-ลบ-คูณ-หารกันเอาเอง เฉพาะแค่ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทางวัตถุ ทางการผลิต การค้า-การขาย เพียงอย่างเดียว ก็แทบอ้วกแตกแล้ว นั่นยังไม่รวมไปถึงทางการเมือง ทางสังคม ที่สามารถสร้างความปั่นป่วน กลายเป็นตัว “จุดชนวน”ความขัดแย้งต่างๆ ตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้...

อย่าง “สงครามกลางเมือง” ในซีเรีย...ที่รบกันมา 7-8 ปีส่งผลให้ผู้คนล้มตายนับเป็นแสนๆ เกิดการไหลบ่าของผู้อพยพเกือบ 5 ล้านคน ผู้ไร้ที่นาคาที่อยู่อีกเกือบ 7 ล้านคน ตัวที่เป็นตัวจุดชนวนให้ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น ก็คือภาวะความแห้งแล้งในเมือง Dara’a เมืองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของก่อกบฏในซีเรียนั่นเอง ไม่ต่างไปจากความแห้งแล้งในแถบจงอยแอฟริกา ช่วงปี ค.ศ. 2011-2012 ที่ทำให้ผู้คนนับสิบๆ ล้านต้องอพยพ โยกย้ายถิ่นฐาน ก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาททางการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงการแย่งยื้อทรัพยากรระหว่างแต่ละประเทศ และถ้าหากไม่หันมาฆ่ากันเอง เชื้อโรค หรือโรคระบาด อันมีที่มาจากความแห้งแล้ง ความเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ ก็อาจหันมาฆ่าผู้คนในแถบนั้นกันแทนที่ อย่างเช่น เชื้อ “อีโบลา” (Ebola) ที่พร่าผลาญสังหารผู้คนในแอฟริกาตะวันตก แถบไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี ฯลฯ ตายไปเป็นหมื่นๆ เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2014 อะไรประมาณนั้น...

การที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ...ได้กลายเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” หรือเป็น “ภัยคุกคาม”ระดับสูงสุด ที่มาแรงแซงโค้งยิ่งกว่าภัยคุกคามชนิดอื่นๆ นี่เอง ทำให้บรรดาสถาบัน องค์กรต่างๆ ในระดับโลก หรือระดับระหว่างประเทศ ต่างต้องพยายามหาทาง “ตอบโจทย์” ต้องค้นคว้าศึกษาหาหลักฐาน ข้อพิสูจน์มาใช้เป็นองค์ประกอบในการนำเสนอกรรมวิธีในการแก้ไข แก้ปัญหา หรือนำมาใช้เป็นแนวทางในการทุเลาเบาบางภัยคุกคามเหล่านี้ลงไปได้บ้าง แม้ว่าโจทย์เหล่านี้ จะเต็มไปด้วยความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยิ่งกว่าโจทย์อื่นๆ หลายต่อหลายเท่า เพราะมันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของตัวบุคคล สังคม ณ ที่หนึ่ง ที่ใด แต่เป็นเรื่องของแนวคิด พฤติกรรม ในระดับรัฐ ระดับประเทศ หรือเป็นเรื่องของ “ทิศทางการพัฒนา” ที่ยากจะหา “จุดลงตัว” กันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะภายใต้โลกที่ยังมันมี “ช่องว่างแห่งการพัฒนา” หรือ “ช่องว่างแห่งรายได้” ยังเต็มไปด้วย “โลกรวย-โลกจน” “โลกเหนือ-โลกใต้” ปรากฏให้เห็นแบบชัดๆ จะจะอยู่ในทุกวันนี้...

แต่ถึงกระนั้น...ความพยายามศึกษาค้นคว้าหาหลักฐาน ข้อพิสูจน์ ไม่ว่าในแง่วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยไม่ต้องอาศัยกระยาทรปนเอาไว้เลยแม้แต่นิด ในช่วงเวลานับเป็นทศวรรษๆ ก็ได้ก่อให้เกิดคำตอบและข้อเสนอแนะจำนวนหลากหลายมากมาย พอได้อ่าน ได้ฟัง ได้รับรู้รับทราบ กันชนิดแทบไม่หวาด-ไม่ไหว จนบางครั้งบางคราสามารถนำไปเคลื่อนไหว พัฒนาให้กลายไปเป็น “ข้อตกลง” ได้อย่างน่าปลาบปลื้มยินดี เช่น “ข้อตกลงกรุงปารีส” ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน เป็นต้น ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามหา “จุดลงตัว”ระหว่างรัฐ ระหว่างประเทศ การแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ในการร่วมมือเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของมวลมนุษยชาติ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาตินั่นเอง...

ไม่เพียงเท่านั้น...ข้อเสนอแนะอีกอันหนึ่งที่ต้องเรียกว่า น่าคิด น่าสนใจ ในการที่จะทำให้รัฐแต่ละรัฐ สามารถเกิดศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่ละรูป แต่ละแบบ นั่นก็คือข้อเสนอขององค์กรระหว่างประเทศอย่าง “IFRC” (The International Federation of Red Cross and Red Cross Societies) ที่มีสมาชิกอยู่เกือบ 190 ประเทศและได้พยายามเคลื่อนไหวรณรงค์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เพื่อให้รัฐแต่ละรัฐ ปรับสภาพตัวเอง ปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงตัวของรัฐเองด้วย ไปในแนวทางที่เรียกว่า “State of Resilience” หรือรัฐที่มีความยืดหยุ่นในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ได้อย่าง “รู้เท่าทัน” ในทุกๆ ด้าน อะไรประมาณนั้น ซึ่งก็แน่ล่ะว่า... “ความรู้เท่าทัน” ที่ว่านั้น ย่อมไม่ได้หมายถึงการอาศัยความก้าวหน้า ก้าวไกลทางเทคโนโลยี ในการป้องกันบรรเทาเบาบาง ภัยพิบัติในแต่ละครั้ง แต่ยังหมายถึงการหันมาปรับทิศทางในทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้อง เหมาะสมกับความเป็นไปทางธรรมชาติควบคู่ไปด้วย...

และจะด้วยข้อเสนอของ “IFRC” หรือจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่...นับวันเราพอได้เห็นรัฐใหม่ๆ ที่เริ่มแสดงออกถึงความพยายามปรับตัว ปรับทิศทางของประเทศทั้งประเทศ ให้เป็นไปในแนวนี้ หรือแนวที่หันไปให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การเพิ่มหรือลดระดับอัตราการขยายตัวของตัวเลขจีดีพีที่ไม่จำเป็นต้องโตแบบโตโยต้า อีกต่อไปแล้ว หันมาโตแบบมั่นคง ยั่งยืนโตแบบ นิว นอร์มอล” หรือโตไปพร้อมๆ กับการ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่ไม่ได้ต่างอะไรไปจาก “มิตรที่เป็นเพื่อนมนุษย์” ด้วยกันเอง นั่นแล...

แต่ก็นั่นแหละ...มันก็ยังมีรัฐบางรัฐ ประเทศบางประเทศ ที่ไม่เอาอ่าว ไม่เอาไหน แถมไม่คิดเอาใคร เอาแต่ “อเมริกา...มาก่อน” เป็นอันดับแรก อย่างคุณพ่ออเมริกายุค “ทรัมป์บ้า” เป็นต้น ที่ไม่เพียงแต่ตัดสินใจถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงที่กรุงปารีส” หันมาขนถ่านหินไปบังคับขายใครต่อใครกันอุตลุด ตั้งตน “เป็นศัตรูกับสิ่งแวดล้อม” อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ยังหันมาเห็นเพื่อนมนุษย์แต่ละรายเป็น “ศัตรู” ไปด้วยกันทั่วทั้งหมด จนแทบไม่เหลือมิตรติดปลายนวมเอาไว้มั่งเลย อันนี้นี่แหละ...ที่ควรหาทางทำให้พ้นๆ ไปจากโลกใบนี้โดยเร็วให้จงได้!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น