xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนแตกที่ลาวใต้ ต้นทุนของหม้อไฟแห่งเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อ พ.ศ. 2558 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละประเภท เรียงลำดับจากน้อยไปหามาก มีดังนี้

พลังน้ำ (รับซื้อจากต่างประเทศ) หน่วยละ 2.41 บาท นิวเคลียร์ 2.54 บาท ถ่านหิน 2.67 บาท ความร้อนร่วม 3.09 บาท ความร้อน 5.57 บาท และกังหันก๊าซ 10.2 บาท

การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำมีต้นทุนถูกที่สุด แต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะต้องตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจนถูกต่อต้านจากสังคม

การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาวจึงเป็นทางออกของไทย เพื่อให้ได้ไฟฟ้าราคาถูก มาตอบสนองต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประเทศไทยเริ่มซื้อไฟฟ้าจากลาวมาใช้เมื่อ 20 ปีก่อน จำนวน 220 เมกะวัตต์ จากโครงการเขื่อนน้ำงึม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากลาว รวม 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยเกือบทั้งหมด เป็นไฟฟ้าจากเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ยกเว้น โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ที่เมืองหงสา ไม่ไกลจากจังหวัดน่านของไทย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้าได้ 1,473 เมกะวัตต์

อีกสองโครงการ ซึ่งก่อสร้างเกือบเสร็จแล้ว มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ.ในปีหน้า คือ โครงการไชยบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ สร้างขวางแม่น้ำโขงที่เมืองไชยบุรี ทางใต้ของหลวงพระบาง เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำใหญ่ที่สุดของลาว มีกำลังผลิต 1,220 เมกะวัตต์ และโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ซึ่งเกิดปัญหาเขื่อนแตก น้ำทะลักท่วมหมู่บ้านหลายแห่ง มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก ในขณะนี้ มีกำลังการผลิต 354 เมกะวัตต์

เดิมไทยกำหนดเพดานรับซื้อไฟฟ้าจากลาวไว้ที่ปีละ 7,000 เมกะวัตต์ ต่อมาในปี 2559 ขยายเพดานเพิ่มเป็น 9,000 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อเฉพาะไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนและถ่านหิน เพราะมีราคาถูกที่สุด

การซื้อไฟฟ้าเพิ่มดังกล่าวเป็นการร้องขอจากฝ่ายลาว ที่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึงปีละ 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 ตามนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย หรือหม้อไฟแห่งเอเชีย คือ การเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าส่งออกขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย

ลาวมีภูมิประเทศที่เหมาะกับการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน คือ มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางประเทศ มีแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงจำนวนมากที่ไหลผ่านภูเขา และมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลกลางมีอำนาจตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง โดยประชาชนไม่มีสิทธิคัดค้าน หรือแสดงความเห็นที่แตกต่าง

การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทำไม่ได้ในประเทศไทย จึงถูกส่งออกไปที่ประเทศลาว ที่เปิดรับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากต่างชาติ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ แลกกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในแม่น้ำโขง และล่าสุดตัวอย่างจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย คือ ชีวิตของประชาชนในชุมชนรอบๆ เขื่อน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ถึงแม้การก่อสร้างเขื่อนจะได้มาตรฐาน มั่นคงแข็งแรงเพียงใด ในที่สุดก็ไม่สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้

ภาวะฝนตกมากผิดปกติเป็นผลจากพายุโซนร้อน ไม่มีเขื่อนฝนก็ตกตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เขื่อนคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผลกระทบจากพายุมีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่น้ำปริมาณมหาศาลที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อนทะลักล้นเขื่อน ถาโถมซัดสาดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าพังทลายไปในพริบตา

ฝนตกหนักจากพายุเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เขื่อนแตกเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์

การเป็นแบตเตอรี่หรือหม้อไฟของเอเชีย ทำให้ลาวกลายเป็นแหล่งลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน ที่ดึงดูดกลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้าง และทุนพลังานจากไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ เพราะเป็นการลงทุนที่มีหลักประกันมั่นคงว่า จะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว เพราะมีผู้ซื้อไฟฟ้าแน่นอนคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นการลงทุนที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องผลตอบแทน และความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากประชาชน เหมือนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทย

ภายใต้นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากลาว แท้จริงแล้ว คือ การใช้ดินแดนประเทศลาว ใช้ทรัพยากรของลาวเป็นแหล่งลงทุนผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกผ่านคนกลางคือ กฟผ.โดยธุรกิจด้านพลังงานของไทย บริษัทก่อสร้างไทย ธนาคารไทย ต่างได้รับผลประโยชน์อย่างงามจากการลงทุนนี้

รัฐบาลลาวได้เงินค่าขายไฟฟ้าหน่วยละ 2.40 บาท หรืออาจต่ำกว่านี้ แต่มีต้นทุน รายจ่ายที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ คือ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชีวิตของคนลาว ที่สูญเสีย สูญหายไปใต้สายน้ำจากเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าราคาถูก

เป็นราคาของการเป็นหม้อไฟแห่งเอเชียที่ถูกละเลย ไม่นำมาคิดเป็นต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าที่ขายให้กับประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น