xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทย : ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ?

เผยแพร่:   โดย: ดร.ศาสดา วิริยานุพงศ์


จากข่าวสะเทือนใจที่ “พ่อกระโดดตึก” จากการที่ศาลยกฟ้องจำเลยในคดีที่บุตรชายของตนถูกแทงเสียชีวิต ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยว่าเหมาะสม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะผดุงความยุติธรรมให้กับสังคมหรือไม่ ผู้เขียนเองได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ในหลายที่ ๆ และคิดว่าควรจะเรียบเรียงให้อยู่ในที่เดียวกันในบทความนี้

ก่อนอื่นต้องขอเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างระบบกฎหมายและระบบการค้นหาความจริงในคดีอาญา ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) นั้น การค้นหาความจริงในคดีอาญาเป็นการต่อสู้ระหว่างคู่ความ ศาลมีหน้าที่ควบคุมกฎเกณฑ์มิให้คู่ความเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันไม่ต่างจากคดีแพ่ง โดยจะไม่เข้าไปแทรกแซงการสืบพยานหรือการค้นหาความจริง และปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติแล้วจากคณะลูกขุน ส่วนในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) เน้นไปที่การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ศาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ค้นหาความจริง

ถ้าพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของศาลไทยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การค้นหาความจริงของไทยจะค่อนไปทางระบบไต่สวน เช่น การที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม การเดินเผชิญสืบ การที่ศาลมีอำนาจถามโจทก์ จำเลยหรือพยานคนใดก็ได้ระหว่างการพิจารณา อำนาจศาลในการไต่สวนการตาย เป็นต้น ตามแนวทางของประเทศในระบบซีวิลลอว์ ที่ให้ศาลมีบทบาทในการตรวจสอบหรือค้นหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติการค้นหาความจริงของไทยจะเป็นไปในทางระบบกล่าวหา แต่ก็ไม่ได้เป็นระบบกล่าวหาเต็มรูปแบบโดยขาดหัวใจสำคัญของการพิจารณาข้อเท็จจริง ซึ่งได้แก่ การไม่มีระบบลูกขุน ที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติ

การค้นหาความจริงในคดีอาญาทั้งระบบกล่าวหาและระบบไต่ส่วนต่างก็มีข้อดีข้อเสียทั้งคู่ ระยะหลังบางประเทศใช้ทั้งสองระบบควบคู่กันโดยเลือกนำสิ่งที่ดีมาใช้และไม่ทำให้อีกระบบเสียไป บทความนี้จึงไม่ได้มุ่งหรือเน้นไปที่ระบบการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพียงอย่างเดียว ว่าจะต้องนำระบบไหนมาใช้ หรือจะนำมาใช้ร่วมกันเหมือนบางประเทศ แต่มุ่งไปที่ระบบการค้นหาความจริงทั้ง “ระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ว่าควรจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร

กระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เริ่มจากตำรวจไปสิ้นสุดที่ราชทัณฑ์หรือบางกรณีก็สิ้นสุดที่หน่วยงานคุมประพฤติ เมื่อจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โดยขอเริ่มจากตำรวจ ตำรวจเองที่เป็นข่าวฆ่าตัวตายกันบ่อย ๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน เนื่องจากงานสอบสวนเป็นงานที่เครียด ยาก ถูกกดดันจากทุกฝ่าย ใครเก่งๆ หรือมีทางไปก็ออกไปสอบเป็นผู้พิพากษาหรือพนักงานอัยการกันหมด บุคลากรในสายงานดังกล่าวจึงไม่เพียงพอกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้น บางวันแค่ไปขึ้นศาลในฐานะพยานก็หมดวันแล้ว อีกทั้งหาคนมาทดแทนยาก เพราะต้องมีความรู้กฎหมายในระดับดีมากและมีประสบการณ์ในการทำสำนวน อีกทั้งปัญหาความก้าวหน้าในอาชีพ

ในส่วนอัยการนั้น ก็ต้องอาศัยตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานและค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม อัยการไม่สามารถลงไปปฏิบัติหน้าที่หรือร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานสอบสวนได้เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่อง และขาดบุคลากรที่ไปทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งก็คือ หน้าที่ที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ปฏิบัติอยู่

ส่วนศาลนั้น วิถีปฏิบัติของศาลไทย จะไม่พยายามค้นหาความจริงเองถึงแม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะเสี่ยงต่อการร้องเรียนของคู่ความ และผิดแนวทางที่ทำมาของศาลที่จะวางตัวเป็นกลางในคดีอันอาจจะก่อให้เกิดข้อครหาได้ การที่ศาลมิได้มีส่วนเป็นผู้สืบพยานเอง การได้มาซึ่งความจริงจึงอาจไม่ครบถ้วน หรือไม่สามารถจับพิรุธตามหลักจิตวิทยาพยานได้ดี

ในส่วนของราชทัณฑ์และคุมประพฤติขอละไว้ที่จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ เพราะในกรณีที่มีประเด็นอยู่ในขณะนี้ ยังไม่ไปถึงขั้นตอนการบังคับคดีอาญาและการปฏิบัติตามคำพิพากษา

สำหรับแนวทางปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่า จะทำให้แต่ละองค์กรหรือกระบวนการมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ในส่วนของตำรวจนั้น บางประเทศจะรับคนที่จบกฎหมายและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของตำรวจเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะไม่มีการรับแบบเรา คือ รับจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา แล้วเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยตำรวจในระดับถัดไป จบออกมาก็จะได้รับวุฒิ รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต ดังนั้น ในต่างประเทศนักเรียนนายร้อยตำรวจจะมีความรู้กฎหมายในระดับดีมาก รวมถึงความรู้ในสาขาอื่นที่เป็นที่ต้องการในงานตำรวจ เมื่อจบออกมาก็เริ่มที่ยศร้อยตำรวจโท แต่ในส่วนชั้นประทวนก็รับจบชั้นมัธยมศึกษา อันนี้ทำให้ตำรวจของเขาโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนมีความรู้ทางกฎหมายอย่างดี ไทยเราก็พยายามทำเหมือนกัน โดยรับผู้ที่จบปริญญาทางกฎหมายแล้วเข้าอบรมต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการฝึกอบรม

แต่ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท้ายที่สุดนายตำรวจเหล่านี้ก็ออกไปสอบเป็นพนักงานอัยการ หรือเป็นผู้พิพากษากันหมด เพราะความก้าวหน้าโดยรวมแล้วน้อยกว่าผู้ที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาตั้งแต่ต้น และแม้แต่ผู้ที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาตั้งแต่ต้นเมื่อมาเป็นพนักงานสอบสวนความก้าวหน้าก็ไม่ได้มาก ท้ายที่สุดผู้ที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจและมีวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิตไทยก็ออกไปสอบเป็นพนักงานอัยการหรือผู้พิพากษาด้วยเช่นกัน แล้วเราจะเหลือใครทำหน้าที่พนักงานสอบสวนต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

วิธีแก้แบบเข้มข้น ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ปัญหาอื่นของตำรวจด้วย แต่ขอไม่ขยายความในที่นี้ คือ การเปลี่ยนระบบการรับนักเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังมีอยู่และยังคงเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตนายร้อยตำรวจออกมารับใช้ประชาชนเช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็นรับผู้ที่จบระดับปริญญาตรีในสาขาที่เป็นที่ต้องการของงานตำรวจโดยเฉพาะงานของพนักงานสอบสวน ใช้เวลาศึกษา 2 ปี ฝึกงาน 6 เดือน สำหรับผู้ที่จบระดับปริญญาตรี และใช้เวลาศึกษา 1 ปี ฝึกงาน 6 เดือน สำหรับผู้ที่จบปริญญาโท จบมาแล้วได้ยศร้อยโท ตำแหน่งรองสารวัตร อีกทางหนึ่ง คือ แยกตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนหรือที่ต่างประเทศเรียกว่า ตำรวจทางคดีหรือตำรวจในกระบวนการยุติธรรม ออกมาเป็นอีกสายงานหนึ่งให้ชัดเจนขึ้น มีชั้นยศเลื่อนไหลได้ถึงยศพลตำรวจเอกเทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนภาค 5 ภาค มีคณะกรรมการตำรวจฝ่ายสอบสวน (ก.ตร.ส.) แยกออกมาจากคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่ในการพิจารณาโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ตำรวจผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน ทั้งนี้ คณะกรรมการตำรวจฝ่ายสอบสวน (ก.ตร.ส.) ก็จะยังมีความเชื่อมโยงบางส่วนกับคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในส่วนอัยการนั้น ควรเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการทำหน้าที่ในชั้นสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ไม่ใช่รอสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนแต่ฝ่ายเดียวหรือทำได้เพียงสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม แต่เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระให้กับพนักงานอัยการหรือให้ทำกระบวนการในชั้นสอบสวนถูกแทรกแซงมากเกินไป ควรกำหนดให้อัยการเข้าร่วมในชั้นสอบสวนเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์หรือคดีที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง

ในส่วนของศาลนั้น การเปลี่ยนวิถีปฏิบัติของศาลนั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เพราะความเคยชินของศาล แต่เป็นความพยายามที่จะวางตนเป็นกลางของศาลและลดความเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียน ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตหรือเจตนาที่ไม่ชอบแต่ประการใด ทางออกก็คือ อาจให้มีระบบผู้พิพากษานายเดียวทำหน้าที่ผู้พิพากษาสอบสวน แยกจากองค์คณะและผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่ค้นหาความจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะ รวมทั้งให้ความเห็นในเรื่องข้อเท็จจริง ทั้งนี้ความเห็นดังกล่าวจะไม่ผูกพันองค์คณะและผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อย่างไรก็ตามรูปแบบดังกล่าวก็ต้องเป็นการทำงานร่วมกันของผู้พิพากษาสอบสวนและพนักงานสอบสวนจึงจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ

สุดท้ายนี้ หากเราต้องการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพและให้ความเป็นธรรมกับคู่ความไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลย ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง และปรับปรุงในบางส่วน ที่เห็นได้ชัด คือ การเปลี่ยนแปลงในส่วนของตำรวจ และศาล และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของอัยการ ให้แต่ละองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นองค์กรที่ผดุงความยุติธรรมของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น