xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนต้องช่วยซับน้ำตาพี่น้องชาวลาว

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอเอฟพี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (Xepien-Xenamnoyu)ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและมีบางส่วนของคันกันน้ำพังจากน้ำป่าหลากและน้ำท่วมหนังรวมทั้งดินสไลด์จนมีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตและบ้านเรือนจำนวนมากถูกน้ำท่วมเสียหายที่จังหวัดอัตตาปือ (Attapeu) อาจจะเป็นพื้นที่ประสบภัยที่เรารับทราบกันดีแล้วถึงภัยพิบัติและคราวเคราะห์ครั้งใหญ่ของพี่น้องชาว สปป.ลาว เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของไทยในทุกมิติ แต่แท้จริงแล้ว อัตตาปือไม่ใช่พื้นที่ประสบภัยแห่งเดียวเท่านั้น

จากรายงานของประเทศลาวต่อ Disaster Monitoring ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management (AHA Centre) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยประชาคมอาเซียนเพื่อบรรเทาภัยพิบัติร่วมกันภายในประชาคมอาเซียน พบว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา 10 จังหวัดของ สปป.ลาวได้กลายเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อัตตาปือ (Attapeu), สะหวันนะเขต (Savanhnakhet), คำม่วน (Khammouan), ไชยบุรี (Xayabuly), บอลิคำไซย (Bolikhamsay), หลวงพระบาง (Luang Prabang), บ่อแก้ว (Bokeo),เซกอง (Sekong), เชียงขวาง (Xiengkhouang) และ อุดมไชย Oudomxay) ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุม 349 หมู่บ้าน ใน 42 เขต ต่างก็กำลังประสบภัยน้ำท่วมกันทั้งหมด คำถามคือ แล้วอาเซียนมีกลไกในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเรา

อาเซียนมีคลังสินค้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่กู้ภัยและศูนย์ให้ความช่วยเหลือเมื่อเพื่อนบ้านอาเซียนของเราอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งอาเซียนเรียกความร่วมมือและหน่วยงานนี้ว่า ระบบโลจิสติกส์เพื่อรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินสำหรับภูมิภาคอาเซียน (Disaster Emergency Logistics for ASEAN: DELSA) ซึ่ง Regional Warehouse ซึ่งเป็นคลังเก็บสินค้าและอุปกรณ์ช่วยเหลือหลักจะตั้งอยู่ที่จังหวัด Subang ในประเทศมาเลเซีย โดยเป็นศูนย์ที่ทางอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุน และองค์ความรู้จากหนึ่งในประเทศที่มีประสบการณ์และมีประสิทธิภาพที่สุดในการรับมือกับภัยพิบัตินั่นคือ ญี่ปุ่น ผ่านความร่วมมือที่เรียกว่า Japan-ASEAN Cooperation

ในคลังสินค้าแห่งนี้จะมีอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลืออย่างพรั่งพร้อมไม่ว่าจะเป็น เต้นท์ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักเบา เตียงสนาม อุปกรณ์สนามสำหรับให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อุปกรณ์ด้านสุขอนามัยต่าง ๆ ยารักษาโรค เครื่องครัว อุปกรณ์สำคัญในการยังชีพ เครื่องปั่นไฟ เรือท้องแบบอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ไฟส่องแสงสว่าง และที่สำคัญคือ ห้องน้ำเคลื่อนที่ และอุปกรณ์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก (พิจารณาภาพประกอบ) และที่สำคัญกว่าสิ่งของ และอุปกรณ์ คือมีโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัยให้พร้อมกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ในภูมิภาค

นอกจากที่ Subang มาเลเซียแล้ว DELSA ยังมีคลังสินค้าย่อยอีกด้วย โดยคลังสินค้าย่อยขนาด 1,250 ตารางเมตรตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ประเทศไทย โดยมีขอบเขตการใช้งานของคลังเก็บครอบคลุมพื้นที่ 5 ประเทศคือ ไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว ครับ และโครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยหน่วยงานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

นอกจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในไทย ที่พร้อมและมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านแล้ว ประเทศไทยยังเป็นที่ต้องของ ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) อีกด้วย นั่นหมายความเรามีความพร้อมในเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมสำหรับปฏิบัติภารกิจในภาคสนาม โดยหน่วยงานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมการแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม ซึ่งนาทีนี้ทีมแพทย์ทหารอาเซียนจากประเทศไทยมีความพร้อมและเดินทางไปช้วยสถานการณ์ในสปป.ลาวแล้ว

คำถามสำคัญคือ มีของแล้ว มีคนเก่ง ๆ แล้ว แล้วเราในฐานะประเทศไทยและประชาคมอาเซียน นำเอาของ นำเอาคน และนำเอาความร่วมมือเหล่านี้ไปช่วยพี่น้องของเราใน สปป.ลาวอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง




กำลังโหลดความคิดเห็น