นายวสุรัตน์ กลิ่นหอมรื่น [1]
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในช่วงไม่กี่ปีนี้มีประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มากมาย ทั้ง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่สามารถให้นายจ้างสามารถหักเงินเดือนและนำมาชำระหนี้ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นประเด็นว่าละเมิดสิทธิ์ของผู้กู้เกินไปหรือป่าว และกำลังจะเริ่มใช้จริงในสิ้นปีนี้ และข่าวการเบี้ยวหนี้เป็นระยะๆ ล่าสุดนี้คือ คุณครูจากกำแพงเพชรกำลังถูกศาลสั่งยึดทรัพย์เพราะเป็นผู้ค้ำประกันให้นักเรียนของตนในการกู้ยืมเงินจาก กยศ.
คุณครูวิภา บานเย็น เป็นคุณครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในกำแพงเพชร เมื่อ 20 ปีก่อนได้เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับนักเรียนของตนกว่า 60 คน โดยมีจุดประสงค์ไม่ต่างกับ กยศ. ที่จะต้องการให้โอกาสนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าศึกษาต่อ เพื่อให้มีอนาคตที่ดีและเป็นกำลังในการพัฒนาแระเทศชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีผู้กู้ที่กลับมาชำระหนี้เพียงแค่ 30 คนเท่านั้น และมีหนี้รวมมูลค่ากว่าหนึ่งล้านบาท ในคดีที่ 1 และ 2 คุณครูถูกถูกศาลสั่งยึดบ้านและที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของพ่อและแม่ ตอนนี้เรียกได้ว่าคุณครูแทบไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเป็นของตนเองแล้ว นอกจากตำแหน่งทางวิชาการในการสอนหนังสือของตนเองนานนับสิบ ๆปี ถ้าในคดีต่อ ๆ ไป ถ้าหากศาลสั่งยึดตำแหน่งทางวิชาการไปแล้ว ทำให้คุณครูไม่สามารถสอนหนังสือได้ตามเดิม สุดท้ายต้องถูกศาลสั่งล้มละลาย เพราะไม่มีความสามารถในการหารายได้ จะคิดหาทางออกทางไหนแทนคุณครูก็มืดมิดไปหมด
อีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงในวงการการศึกษาไทยคือ โครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ครูสามารถกู้เงินเพื่อนำไปใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้หนี้ ซื้อบ้านพักที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ ลงทุน ศึกษาต่อ เป็นต้น และสามารถผ่อนชำระหนี้ได้นานถึง 30 ปี
เมื่อ 16 ก.ค. 2561 มีมีการแชร์คลิปวิดีโอปฏิญญามหาสารคาม โดยมีใจความว่า ต้องการให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการ ช.พ.ค. ทุกโครงการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป และลูกหนี้ ช.พ.ค. จำนวน 450,000 คน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2561 เป็นต้นไป ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมบุคคลที่เป็นครู ที่มีการศึกษาสูงมาก จบการศึกษาจากปริญญาตรีหรือปริญญาโท ต้องการที่จะเบี้ยวหนี้
ตัวอย่างหนึ่งจากสำนักข่าว Thai PBS News ข้าราชการบำนาญปัจจุบันรับเงินบำนาญเดือนละ 52,000 บาท ซึ่งเป็นรายรับต่อเดือนที่ค่อนข้างสูงมาก แต่กลับมีรายจ่ายต่อเดือนที่สูงกว่า ในเดือน ๆ หนึ่งจะต้องชำระหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 22,000 บาท ช.พ.ค. 7,500 บาท กรุงไทยธนวัฎ 12,000 บาท และค่างวดรถยนต์ 13,000 บาท โดยอ้างว่าเพื่อเติมเต็มชีวิตในสังคมปัจจุบัน
การกระทำของกลุ่มปฏิญญามหาสารคาม จะเป็นตัวอย่างให้กับลูกหนี้ในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกับผู้กู้ กยศ. เมื่อเห็นว่าคนที่สอนสั่งตนเองไม่ชำระหนี้ ลูกศิษย์ที่เป็นผู้กู้ กยศ. ก็จะไม่ชำระหนี้ตาม ซึ่งเป็นน่าตกใจมาก
ปัจจุบัน กยศ. ฟ้องคดีไปแล้วกว่า 1.2 ล้านคดี มูลค่าหนี้ 4.8 หมื่นล้านบาท (นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, 2561) ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า ทำไมเด็กไทยเบี้ยวหนี้เยอะถึงขนาดนั้น ไม่มีการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับนักเรียนนักศึกษา หรือผู้ที่ปลูกฝังจิตสำนึกหรือคุณครูเองก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับนักเรียนนักศึกษาเสียเอง
นับแต่จัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจนถึงปีการศึกษา 2556 มีผู้ที่มาชำระหนี้เพียง 2,034,924 คน หรือร้อยละ 72.97 และมีหนี้ที่ค้างชำระ 25,073.76 ล้านบาทหรือร้อยละ 34.72 (รายงานประจำปีของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 2556 หน้า 41) และมีแนวโน้มที่จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นดังแสดงในภาพที่ 1 ในแต่ละปี กยศ. มีภารกิจปล่อยกู้เงินเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทำให้จำเป็นต้องได้รับเงินงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการกู้ยืม
จุดประสงค์ของ กยศ. คือลดความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมกันให้คนในสังคม เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เยาวชนไทยได้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นกำลังให้กับประเทศชาติ สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและอาชีพ ตลอดจนปริญญาตรี โดยให้เวลาผ่อนชำระหนี้ถึง 15 ปี ชำระปีแรกร้อยละ 1.5 ของเงินต้น ดังตารางที่ 1 และจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 1 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของตลาด และมีช่วงเวลาปลอดหนี้ 2 ปีหลังสำเร็จการศึกษา และเงื่อนไขในการชำระเงินนั้นก็เป็นมิตรกับนักเรียนผู้กู้ยืมมากดังแสดงในตารางที่ 1
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือในแต่ละปีที่ครบกำหนดชำระหนี้จะมีผู้กู้มาชำระหนี้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ครบกำหนดชำระหนี้ทั้งหมดในปีนั้น ๆ จากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี แต่กระนั้นในปีหลัง ๆ ก็ยังมีผู้ไม่ยอมมาชำระหนี้ราวร้อยละ 10 หรือมากกว่า (รายงานประจำปีของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 2556 หน้า 45) ดังภาพที่ 2
ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีผู้มาชำระหนี้ทั้งหมดโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 60-70 และมีผู้กู้มาชำระหนี้เพียงไม่กี่ปีเมื่อถึงปีที่อัตราส่วนที่ต้องชำระสูงจนตนเองไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะหยุดการชำระหนี้ แต่ในปี 2555-2556 จำนวนผู้ที่ชำระหนี้ลดลงมากซึ่งน่าจะเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่ได้รับส่วนลดสูงสุดถึงหนึ่งแสนบาทและน่าจะมีลูกหนี้ของ กยศ. เข้าร่วมโครงการนี้เป็นจำนวนมากจนไม่มีเงินเหลือพอจะชำระหนี้ กยศ. ดังแสดงในภาพที่ 3
หลาย ๆ สาเหตุของการเบี้ยวหนี้ของผู้กู้ กยศ. คือ ผู้กู้มีรายได้น้อยมากทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ไหว โดยเฉพาะในสังคมเมืองกรุงที่มีค่าครองชีพที่สูงมาก เช่น จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีค่าเทอมที่แพงกว่ารัฐบาล และได้เงินเดือนเพียง 15,000 บาท ซึ่งจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนทั้ง ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าห้องพัก อีกทั้งไม่มีการการันตีการก้าวหน้าในอาชีพการงานว่าเงินเดือนจะเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราการชำระหนี้ของ กยศ. หรือไม่
ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีปริญญาตรีที่ว่างงานสูงถึง 170,000 คน (นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน) ทำให้ยิ่งไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้เลย ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าผู้กู้เลือกที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือสาขาที่ กยศ. ให้กู้ เมื่อจบออกมาก็ไม่สามารถทำงานในสาขาที่ตนเองจบมาได้ เพราะตนเองไม่ได้สนใจในสาขาที่เรียนมา
และยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเอกชนได้เปิดหลักสูตรที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เชิญชวนให้ให้สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งการแจก tablet notebook และจัดการเรื่องการกู้ยืมกับ กยศ. ให้ครบครัน โดยที่นักศึกษาไม่ต้องทำอะไรก็สามารถเข้าเรียนได้แล้ว ทั้งหมดนี้เพื่อเน้นเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้กับมหาวิทยาลัย สุดท้ายมหาวิทยาลัยก็จะได้เงินจาก กยศ. ไปมหาศาล และผู้กู้ก็จะมีหนี้ก้อนโต
ประเทศไทยในตอนนี้มีแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งเริ่มขาดทุนเพราะมีคนเรียนน้อยมาก เพราะปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ อยากเรียนอะไรก็แค่พิมพ์ลงไปใน google อยากฟังบรรยายก็แค่หาใน Youtube ในหลักสูตรที่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถโดยเฉพาะก็กำลังจะถูกลืมหายไป ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือตัวผู้กู้เอง หลงเชื่อในคำอวดอ้างของมหาลัย เลือกเรียนผิดสาขา เมื่อจบออกมาแล้วก็ไม่เป็นที่ต้องการกับตลาดแรงงาน
การที่ผู้กู้คิดว่ารัฐบาลควรจะรับผิดชอบหนี้ของตนเองเพราะตนเองเป็นผู้มีรายได้น้อย เงื่อนไขในการกู้ยืมเงินในปัจจุบันคือครอบครัวจะต้องมีรายได้รายปีไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งมีงานวิจัยหลาย ๆ งานเสนอว่า เงื่อนไขที่ว่าอาจจะใช้ได้ไม่เหมาะสมกับการลดความเหลื่อมหล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กที่ยากจนจริง ๆ ควรมีการเปลี่ยนวิธีการปล่อยให้กู้ยืมเงิน เช่น ให้สถานประกอบการท้องถิ่นเป็นคนเลือกเด็กที่ยากจนจริง ๆ ในพื้นที่ แล้วเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องรับเด็กคนนั้นเข้าทำงาน ทำให้เด็กคนนั้นสามารถชำระหนี้ได้ (รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ กกอ.)
หรือผู้กู้คิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้หนี้ก็ได้ เพราะเห็นตัวอย่างจากคนในสังคม เช่นเดียวกับกลุ่มครูปฏิญญามหาสารคามที่สร้างหนี้สินเกินความจำเป็น ไม่มีวิจัยการใช้เงิน เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีสำหรับคนในสังคมอย่างมาก
กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนหรือก็คือ เมื่อผู้กู้รายเก่าชำระหนี้คืน ทาง กยศ. ก็จะนำเงินนั้นไปให้ผู้กู้รายใหม่กู้ยืมต่อไป ถ้าหากผู้กู้ไม่มาชำระหนี้ กยศ. ก็จะต้องขอเงินงบประมาณจากภาครัฐเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี เพื่อให้เพียงพอกับผู้กู้ เฉลี่ยแล้วแต่ละปี กยศ. จะต้องขอเงินงบประมาณจากภาครัฐปีละ 20,000 ล้านบาท
ถ้าผู้กู้ไม่มาชำระหนี้คืนก็เท่ากับว่าตัดโอกาสของรุ่นน้องนักเรียนนักศึกษาในการเข้าศึกษา การที่รัฐบาลและ กยศ. เห็นความสำคัญของการศึกษาจึงมีมาตรการจูงใจให้มีการมาชำระหนี้ เช่น ออกโปรโมชั่นลดดอกเบี้ย ลดค่าปรับ ส่วนลดพิเศษสำหรับการชำระหนี้คืนทั้งหมด จากนั้นถ้าผู้กู้ยังไม่ยอมมาชำระหนี้คืนอีกก็ติดต่อเพื่อให้โอกาส ไกล่เกลี่ยหนี้ของตน และท้ายที่สุดถ้าไม่มีการชำระหนี้อีก กยศ. จะฟ้องร้องดำเนินคดี
จากเดิม กยศ. มีภาระทางการเงินที่สูงมากและต้องพึ่งพิงเงินงบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี ในระยะยาวมีผลทางลบรุนแรงต่อสถานะเงินกองทุน และกองทุนอาจจะล้มหรือมีเงินกองทุนติดลบและมีแนวโน้มเป็นปัญหาภาระการคลังสาธารณะของประเทศได้ในอนาคตอันใกล้ โดยหวังว่า พรบ. ฉบับใหม่ที่นายจ้างสามารถหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ได้นั้นประสบผลสำเร็จมีผู้มาชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้กองทุนไม่เป็นภาระของรัฐบาลอีกต่อไป แต่ผู้กู้จาก กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจะทำเช่นนั้นเพื่อทำลายเครดิตตัวเองหรือไม่ และหากมีประวัติเช่นนี้จะมีผลต่อการว่าจ้างงานและการเปลี่ยนงานหรือไม่ ก็ขอให้คิดให้ดี ไม่เพียงแต่ชาติเท่านั้นที่จะเสียหาย ประเทศก็จะเสียหายด้วย สำหรับครูในปฏิญญามหาสารคามก็ขอให้คิดให้ดีว่าท่านได้ทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีเพียงพอสำหรับลูกศิษย์หรือไม่ และสิ่งที่ท่านออกมาเรียกร้องนั้นทำให้ประเทศชาติเสียหายมากแค่ไหน
ประเทศไทยอยู่ในมือทุกคน เงินก็อยู่ในมือท่านทั้งครูและนักเรียน หาเงินได้ไม่สำคัญเท่ากับใช้เงินเป็น มีหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้ไม่เช่นนั้นหนี้ก็จะพอกพูนเป็นดินพอกหางหมูและเป็นปัญหาให้กับสังคมและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมแต่อย่างใด
หมายเหตุ :
[1] บทความนี้เรียบเรียงและปรับปรุงมาจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ “การประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา” ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ของนายวสุรัตน์ กลิ่นหอมรื่น โดยมีผู้เขียนคนที่สองเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์