xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนลาว...กับทิศทางการพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


แม้ว่า “แนวรบตะวันออกกลาง” ช่วงนี้...จะเริ่มเอะอะตึงตังโครมครามขึ้นมาอีกซะแล้ว หลังการประชุมสุดยอดผู้นำอเมริกา-รัสเซียผ่านไปได้ไม่นาน อิสราเอล-ซีเรีย ก็ได้จังหวะงัดจรวด เครื่องบินออกมาถล่มใส่กันและกัน แถวๆ ที่ราบสูงโกลันดังที่พอทราบๆ กันไปบ้างแล้ว แต่วันนี้...คงต้องขออนุญาตถอนสมอร่อนกลับมาแถวๆ ใกล้ๆ บ้านเรา อันเนื่องมาจากข่าวคราวเรื่อง “เขื่อน” ในประเทศบ้านใกล้-เรือนเคียง อย่างคุณน้องลาว ดันแตกดังโพละ สร้างความทุกข์ระทมให้กับชาวลาว ที่อาจถือเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตกับบรรดาทวยไทยอย่างเราๆ ทั้งหลาย เป็นจำนวนไม่น้อย...

คืออันดับแรก...คงแทบไม่ต้องสนใจอะไรอื่น นอกเสียจากการหาทางช่วยเหลือ เยียวยา ซับน้ำตา ส่งใจ ส่งข้าวของ เงินทองไปบริจาคกันให้เป็นน้ำ เป็นเนื้อ โดยด่วน โดยเร็ว นั่นแหละทั่น ให้เหมือนอย่างที่พี่-น้องชาวลาว อุตส่าห์ส่งใจ ส่งทีมงานมาช่วยเหลือเกื้อกูลพวก “หมูป่าอะคาเดมี” ของบ้านเราไปหมาดๆ ร่วมกันแสดงออกถึงความเป็นพี่ๆ-น้องๆ สายเลือดเดียวกัน ที่ตัดยังไงก็ตัดไม่ขาด เหมือนตัดแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดสองฝั่งฟาก ที่ยังไงๆ ย่อมไม่มีวันตัดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นข้าว-ปลา-อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปถึงเงินๆ-ทองๆ ที่ศูนย์รับบริจาคแต่ละจังหวัดในฝั่งไทย เริ่มเปิดรับบริจาคกันบ้างแล้ว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องชาวลาวไม่น้อยกว่า 6,600 ครอบครัวเป็นอย่างน้อย ที่ต้องตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนคนเจ็บ คนตาย จะปาเข้าไปอีกเท่าไหร่ ก็ยังไม่อาจสรุปได้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ปรากฏให้เห็นต่อหน้าต่อตา อันมิอาจเพิกเฉยได้โดยเด็ดขาด!!!

หลังจากนั้น...ถึงค่อยมาลงรายละเอียด มองถึง “เหตุปัจจัย” ซึ่งอาจหยิบมาใช้เป็นข้อคิด อุทาหรณ์ กันอีกที ว่าเหตุใด? “เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย” ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในแถบแขวงจำปาศักดิ์ อัตตะปือ มูลค่านับหมื่นๆ ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนถึง 410 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัทเกาหลี บริษัทไทยอย่าง “ราชบุรีโฮลดิ้ง” เข้าไปถือหุ้นดำเนินการอยู่เกินครึ่ง บริษัทลาวอย่าง “Lao Holding State Enterprise” ถือหุ้นแค่ 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง มันถึงได้แตกดังโพละเอาง่ายๆ??? ซึ่งอันนี้...จะไปโทษพายุ “เซินติญ” หรือโทษ “ปัญหาทางเทคนิค” อะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่อันหนึ่ง...ที่คงต้องหยิบมาใคร่ครวญหวนคิด อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้ ก็คือ “ทิศทางและจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศ” ของพี่น้องลาว ที่ถือเป็นตัวการสำคัญอันทำให้สิ่งที่เรียกว่า “เขื่อน” โดยเฉพาะ “เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า” มันถึงได้โผล่ๆ ผลุบๆ ขึ้นมา แทบเต็มประเทศลาวไปแล้ว ในทุกวันนี้...

คือพูดง่ายๆ ว่า...ถ้าฟังจากถ้อยแถลงของฝ่ายนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวเอง ที่เคยเปิดเผยต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2557) นอกจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 24 เขื่อน ที่กำลังก่อสร้างอีก 38 เขื่อน รัฐบาลลาวเขากำลังวางแผนตระเตรียมโครงการที่จะสร้างเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100 เขื่อนรวมอยู่ในเนื้อที่ประเทศ ที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไทย แค่ 200,000 กว่าตารางกิโลเมตรเท่านั้นเอง แต่ก็ด้วยความต้องการที่จะ “พัฒนา” ประเทศ ให้พอเทียมหน้า เทียมตากับใครเขามั่ง ไม่ต่างไปจากบรรดา “ประเทศกำลังพัฒนา” ทั้งหลาย รวมถึงประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาอีกด้วย ที่มักชอบ “ฝัน” ถึงการเป็นโน่น เป็นนี่ เป็นศูนย์กลางการเงิน การบิน การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ เป็นอีอีซง อีอีซี ชนิดเปียกปอนกับความฝันกันมาโดยตลอด ลาวเขาก็เลยมีสิทธิ์คิดฝันถึงการก้าวขึ้นสู่สถานะแห่งความเป็น “แบตเตอรี่แห่งภูมิภาค” ด้วยการนำเอาพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ มาแปรสภาพให้เป็นเขื่อนโน่น เขื่อนนี่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายบรรดาประเทศบ้านใกล้ เรือนเคียง โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรอื่นๆ ค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด การแปลงสภาพต้นน้ำลำธาร ป่าเขา ห้วยละหานต่างๆ ไปจนแม้แต่ “แม่น้ำโขง” ที่ไหลผ่านพื้นที่ประเทศ ให้กลายเป็น “เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า” จึงกลายเป็นตัวสร้าง “รายได้” ให้กับลาว ชนิดนำหน้ารายได้อื่นๆ มาโดยตลอด แม้ว่าหลังๆ รายได้จากการทำเหมืองแร่ทองแดง ทองคำ จะเริ่มแซงๆ ขึ้นมาบ้างก็ตาม...

แต่ด้วยความต้องการกระแสไฟฟ้าจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน...ที่ต่างก็มุ่งจะ “พัฒนา” ไปสู่ความรุ่งโรจน์หรือความฉิบหายก็แล้วแต่ ไปด้วยกันทั้งสิ้น จึงทำให้บรรดา “เขื่อน” ต่างๆ จึงอุบัติขึ้นมาในประเทศลาวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว อย่างชนิดแทบไม่มีที่สิ้นสุด ถึงกับตั้งเป้าที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 เมกะวัตต์ในแต่ละปี ทั้งที่จำนวนประชากรมีอยู่แค่ประมาณ 6 ล้านเศษ หรือประมาณ 7 ล้านคนเท่านั้นเอง ความต้องการบริโภคไฟฟ้าสูงสุดมีอยู่ไม่เท่าไหร่ แต่นอกนั้น...เอาไว้ส่งขายเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะคุณพี่ไทยของหมู่เฮานี่เอง ไปจนถึงเวียดนามที่อยู่ประชิดติดกันในอีกด้าน บรรดาเขื่อนที่เคยได้ชื่อว่า “ใหญ่ที่สุด” อย่างเช่น “เขื่อนน้ำเทิน 2” ที่ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,100 เมกะวัตต์ จึงถูกลบสถิติลงไป คราวแล้ว คราวเล่า ด้วย “เขื่อนไซยะบุรี” ที่กั้นขวางแม่น้ำโขง บริเวณฝั่งตรงข้ามจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,285 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่าแสนล้านบาท โดยมีบริษัทก่อสร้างของไทย อย่าง “ช.การช่าง” เป็นผู้ดำเนินการ ใกล้เสร็จในปีนี้ ปีหน้า อีกไม่นาน แต่สุดท้าย...ก็อาจถูกทำลายสิถิติด้วย “เขื่อนหลวงพระบาง” ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,400 เมกะวัตต์ โดยความร่วมมือระหว่างลาวกับเวียดนาม ที่กำลังตั้งท่า ตั้งที เตรียมเริ่มดำเนินการอีกไม่นาน-ไม่ช้า...

ในเมื่อ “ทิศทางและจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศ” ต้องเป็นไปในแนวนี้...บรรดาเขื่อนต่างๆ มันจึงแออัดยัดเยียดกองอยู่เต็มประเทศลาวจนตราบเท่าทุกวันนี้ ส่งผลให้สภาพแวดล้อม พื้นที่ป่าไม้ พืชพันธุ์และสัตว์ป่าต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์หายากที่ใกล้ๆ จะสูญพันธุ์อย่าง “เสาหล้า” เป็นต้น ไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คนจึงต้องถูกปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือหน้าเท้าเป็นหลังเท้าก็แล้วแต่จะเรียก อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีหนุ่มใหญ่ นักวิชาการระดับ “ด็อกเตอร์” จากรัสเซีย อย่างท่าน “ทองลุน สีสุลิด” ท่านชักเริ่มๆ สะกิดใจ กังวลใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่อ “ทิศทางการพัฒนา” ของลาว ถึงขั้นประกาศปิดป่า ลดภาวะการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นงาน เป็นการ แต่ก็นั่นแหละ... “ผลพวงแห่งการพัฒนา” ที่มันได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว มันจึงหนีไม่พ้นต้องนำไปสู่ “โศกนาฏกรรม” อย่างที่กำลังปรากฏให้เห็น ในกรณี “เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย” ดันต้องแตกดังโพละขึ้นมาดื้อๆ!!! ด้วยเหตุนี้...จึงอาจถือเป็นข้อคิด อุทาหรณ์ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวลาว ประเทศลาวแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้เป็น “บทเรียน” สำหรับบรรดา “ประเทศกำลังพัฒนา” ทั้งหลาย แม้แต่ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาก็เถอะ ที่ฝันแล้ว ฝันอีก หวังเป็นศูนย์กลางเชื่อมโลก เชื่อมเส้นทางคมนาคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม ด้วยโครงการอีอีซง อีอีซีใดๆ ก็แล้วแต่ ก็อย่าลืมนึกๆ ถึง “โศกนาฏกรรม” ล่วงหน้าเอาไว้มั่งก็แล้วกัน...


กำลังโหลดความคิดเห็น