xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน31รายมากันครบ ฟังชี้แจงรถไฟเชื่อม3สนามบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-รฟท.เปิดเวทีชี้แจงรายละเอียดลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน 2.24 แสนล้าน นักลงทุน 31 รายมากันครบ ยันหลังลงนาม สามารถส่งมอบพื้นที่มักกะสันและศรีราชาได้ทันที ส่วนเกณฑ์คัดเลือกกำหนดให้ยื่น 4 ซอง เน้นคุณสมบัติ เทคนิค ด้านการเงิน ส่วนข้อเสนอพิเศษจะเปิดหรือไม่อยู่ที่การต่อรอง เอกชนสอบถามเกณฑ์การให้คะแนน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ”ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า224,544.36 ล้านบาท ครั้งที่ 1 ว่า มีเอกชนเข้าร่วมครบทั้ง 31 ราย โดยวันที่ 24 และ 26 ก.ค.2561 จะนำลงสถานีก่อสร้างอีกครั้ง และกำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 12 พ.ย.2561 เวลา 09.00-15.00 น โดยคาดว่าจะผู้ยื่นประมาณ 3-4 กลุ่ม และจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอไม่เกิน 4 เดือน สรุปในเดือนก.พ.2562 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และลงนามสัญญากลางปี 2562 เปิดให้บริการกลางปี 2567

ทั้งนี้ หลังลงนามสัญญา รฟท. จะส่งมอบพื้นที่แนวเขตทางรถไฟได้ทันที รวมถึงพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ และพื้นที่มักกะสัน 100 ไร่ (ตรงข้ามสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์) ส่วนมักกะสันที่เหลืออีก 50 ไร่ จะส่งมอบภายใน 5 ปี และพื้นที่เวนคืนที่ จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 300 ไร่ (โรงซ่อมบำรุงและสถานี) อยู่ระหว่างการออกพรฎ.เวนคืน งบประมาณ 3,570.29 ล้านบาท ซึ่งจะเวนคืนเรียบร้อยในปี 2562 ขณะที่เอกชนจะต้องจ่ายค่าระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท และค่าที่ดินบางส่วนให้รฟท. ตามเงื่อนไข

โดยกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ถือเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งการพัฒนาที่ดิน , บริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง , ออกแบบ , ก่อสร้าง และการตลาด

สำหรับการคัดเลือกจะมีข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ 1.คุณสมบัติ 2.เทคนิค ซึ่งมี 6 หมวดแต่ละหมวดต้องมีคะแนน ไม่ต่ำกว่า 75% และรวมคะแนนทั้งหมดต้องมีไม่น้อยกว่า 80% 3.ด้านการเงิน คัดเลือกผู้ที่ขอรัฐอุดหนุนต่ำที่สุด 4.ข้อเสนอพิเศษ จะเปิดพิจารณาหรือไม่อยู่ที่การเจรจาต่อรอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสอบถาม โดยเอกชนส่วนใหญ่สอบถามความพร้อมในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ การเปิดพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อเชื่อมเข้าสู่โครงการ รวมถึงเกณฑ์การให้คะแนน โดยนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร และกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ยืนยันว่า กำลังเจรจากับพันธมิตรหลายราย เพื่อเข้าร่วมประมูล มีทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่น และยังมีการพูดคุยกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ด้วย

ส่วนนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL กล่าวว่า กำลังเจรจากับพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส จีนและไทย โดยจะเป็นแกนนำถือหุ้นอย่างต่ำ 25% โดยจะรับผิดชอบด้านงานก่อสร้างและโยธา ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าอาจเป็นพาร์ทเนอร์ต่างชาติ แต่ในงานบริหารเดินรถ ทำเองได้ คาดว่าการเจรจาร่วมทุนจะแล้วเสร็จหลัง ส.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น