xs
xsm
sm
md
lg

อีกหนึ่งความจริงสำคัญที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ กรณี 13 หมูป่าติดถ้ำ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

กรุณาอย่าหาว่าผมโหนกระแสนะครับ แต่ในความเห็นของผมซึ่งพอจะมีความรู้บางส่วนอยู่บ้าง ผมเชื่อว่าเรื่องที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้มีความสำคัญทั้งต่อการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนนี้และต่อที่อื่นๆ ด้วย

ผมได้เขียนบทความที่พูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 61 ซึ่งตอนนั้นน้องๆ ทั้ง 13 คนยังไม่ได้ออกจากถ้ำและสังคมก็ยังไม่ทราบว่าทาง “ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย” จะมีแผนการอย่างไรในขณะนั้น

คำถามเชิงข้อเสนอแนะที่ผมได้เขียนไว้ในบทความชิ้นนั้นก็คือ ให้สอบถามน้องๆ ว่า เริ่มเห็นน้ำไหลเข้ามาในถ้ำในเวลาเท่าไหร่ ลักษณะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำเป็นอย่างไรซึ่งน่าจะมีอัตราการไหลมากบ้าง น้อยบ้างไม่เท่ากัน จากนั้นก็นำข้อมูลนี้ไปหาความสัมพันธ์กับข้อมูลปริมาณน้ำฝนเป็นรายชั่วโมงจากสถานีตรวจวัดที่ใกล้กับถ้ำนี้มากที่สุด

การจัดการข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่ความรู้ที่ว่า “เวลาที่ฝนตกสูงสุดของวัน” กับ “อัตราการไหลสูงสุดของน้ำที่เข้าถ้ำ” จะเกิดขึ้นไม่พร้อมกันเพราะมันมักจะมี “ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์ (Time Lag)” เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งความมากน้อยของช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์นี้จะบอกถึงลักษณะทางกายภาพ (ความสูงชันรวมทั้งลักษณะการซับน้ำของดินและหิน) และความอุดมสมบูรณ์เชิงนิเวศน์ของระบบพืชปกคลุมบริเวณที่เกิดเหตุ

ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์นี้จะทำให้เราสามารถคาดการณ์อนาคต (ช่วงสั้นๆ) ของปริมาณน้ำในถ้ำได้

ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนในช่วง 3-4 วันก่อนวันที่ 8 กรกฎาคม ก็คือฝนได้หยุดตกค่อนข้างต่อเนื่องมาตลอด ดังนั้น ถ้ามีฝนตกหนักลงมาอีก(เท่านั้นเท่านี้) เราก็จะทราบว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในถ้ำในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ทางศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายจะได้นำความรู้นี้ไปวางแผนปฏิบัติการได้อย่างเหมาะสมดีขึ้น

ผมมีภาพสเกตของความสัมพันธ์ดังกล่าวมาให้ดูด้วยครับ จากภาพเราจะเห็นว่าปริมาณฝนสูงสุดได้เกิดขึ้นก่อนอัตราการไหลสูงสุดของน้ำลงคลองห่างกันประมาณ 10 ชั่วโมง นั่นคือ ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์ของเรื่องนี้เท่ากับ 10 ชั่วโมง

คราวนี้มาถึงเรื่องข้อมูลที่ผมได้ติดตามจากสื่อโทรทัศน์นะครับ แต่ผมจำไม่ได้ว่ามาจากช่องไหนบ้าง ถ้าผมอ้างผิดพลาดไปบ้างก็ต้องขออภัยด้วย

จากการเปิดเผยของนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดร.ธเนศ วีระศิริ) ได้ให้ข้อมูลว่า “มีฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่วันที่ 21 และ 22 มิถุนายน” แต่ไม่ได้บอกว่าในวันที่ 23 ซึ่งเป็นวันที่ “น้องๆ 13 หมูป่า” เข้าไปในถ้ำนั้นได้มีฝนตกหรือไม่ แต่ผมสันนิษฐานว่าคงไม่ตกหรอก เพราะถ้าฝนตกพวกเขาก็คงไม่ไปซ้อมฟุตบอลหรอก

จากการสัมภาษณ์ในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” (โดย คุณสุทธิชัย หยุ่น) พวกเขาก็ได้เปิดเผยว่า “ได้เห็นน้ำมานิดๆ” หลังจากที่ได้เข้าไปในถ้ำพอประมาณแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เห็นน้ำมามากพร้อมกับเล่าถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของน้องๆ แต่ก็ไม่ได้ระบุเวลาให้ชัดเจน

สิ่งที่ผมได้พยายามเล่ามานี้ก็คือการหา “ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์” หรือ Time Lag

ประเด็นของผมก็คือ เราจะไปโทษน้องๆ ว่าเป็น “ผู้ประมาท” คงไม่ได้เต็มปากนักหรอกครับ เพราะตอนที่พวกเขาเดินเข้าไปก็ไม่มีฝนตก น้ำที่ไหลเข้าไปในถ้ำก็มาจากน้ำฝนที่ตกลงบนภูเขาเมื่อ 2 วันก่อน ซึ่งน้องๆ เขาจะไปรับรู้ได้อย่างไร

หลังจากเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ผมเห็นจากข่าวว่ามีตัวอักษรหรือป้ายประกาศติดไว้ว่า “ห้ามเข้าถ้ำ ก่อนได้รับอนุญาต” และทราบจากข่าวในเวลาต่อมาว่า “ปกติจะมีการปิดถ้ำ เพราะเป็นฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี แต่สำหรับปีนี้ฝนมาเร็ว” การเห็นข้อความเพียงเท่านี้คงเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ที่ไหนๆ ก็มักจะเขียนอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริงก็ได้รับการยกเว้นเสมอ

ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงนี้แหละครับ คือ ถ้าทางเจ้าหน้าที่อุทยานเขาเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝนกับอัตราการไหลของน้ำเข้าถ้ำ หรือที่เรียกว่า “ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์” เจ้าหน้าที่ก็คงจะปรับแผนการบริหารการท่องเที่ยวถ้ำให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้

กล่าวคือ หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน (โดยมีข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้) ก็ให้เจ้าหน้าที่สั่งปิดถ้ำได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง และไม่จำเป็นต้องรอวันที่ 1 กรกฎาคม

เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้วในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช (บ้านเกิดของผม) ได้มีพายุและฝนตกหนักในเดือนเมษายน (ซึ่งเป็นฤดูร้อน) ส่งผลให้เกิดดินโคลนถล่มในหลายหมู่บ้าน สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคเป็นจำนวนมาก

ในช่วง 4-5 วันมานี้ ผมได้ยินข่าวว่า “อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ออกมายอมรับว่า ทางเจ้าหน้าที่กรมฯ ได้หย่อนยานในการดูแลอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และพร้อมจะถูกย้ายหากมีคนที่มีความสามารถมากกว่า” (ผมจำมาจากข่าวทีวีครับ)

ขอเรียนว่า ผมหยิบยกเรื่องนี้มาเขียน โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะค้นหาคนผิดแต่ประการใด เพราะเรื่องรุนแรงระดับนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

แต่ความไม่เจ้าใจเรื่อง “ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์” ได้เกิดขึ้นมานานแล้วในวงการวิชาการ

ผมเองได้เคยอ่านรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในโครงการพัฒนาของรัฐในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็พบว่ามีไม่น้อยกว่า 2 โครงการที่ไม่ได้นำปัจจัย “ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์” มาพิจารณา ซึ่งในบางกรณีที่เป็นระบบใหญ่ๆ “ช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์” นานนับเป็นเดือน ไม่ใช่นับเป็นชั่วโมง

ส่งผลให้การพยากรณ์ปริมาณน้ำที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการผิดพลาดหมดไอ้ที่ว่าน้ำจะไม่ท่วมก็กลับท่วม ไอ้ที่ว่าน้ำจะพอใช้ก็ไม่พอใช้ เรียกว่าจะนำไปสู่ความล้มเหลวทั้งโครงการ รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลและสถิติปริมาณน้ำฝนที่มักจะรายงานเป็นค่าเฉลี่ยรายเดือนนั้น ในบางกรณีก็ไม่มีความละเอียดพอที่จะตอบคำถามที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชนได้

ขอเรียนอีกครั้งนะครับว่า ในกรณี 13 หมูป่าติดถ้ำ คนไทยทั้งประเทศได้ซาบซึ้งในความเสียสละและกล้าหาญของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่เกี่ยวข้องทุกท่านครับ แต่แนวคิดที่ผมได้นำมาเสนอในบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออีกหลายๆ กรณีที่ภาครัฐควรจะนำไปพิจารณาทั้งต่อการท่องเที่ยวทั่วประเทศ และต่อโครงการอื่นๆ ด้วยครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น