xs
xsm
sm
md
lg

สินบนข้ามชาติจากญี่ปุ่น เอาผิดผู้ให้สาวให้ถึงผู้รับ

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของบ้านเรา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เน้นไปที่การเอาผิดลงโทษผู้มีอำนาจหน้าที่ คือ นักการเมือง และข้าราชการ ที่รู้เห็นเป็นใจ สมคบคิดให้ทำการคอร์รัปชัน และเป็นผู้รับสินบนเสียเอง แต่ยังไม่เคยเห็นผู้ให้สินบน ถูกลงโทษด้วย

ทั้งผู้รับผู้ให้สินบน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชัน ถ้าไม่มีผู้ให้ มีแต่ผู้รับ หรือในทางตรงกันข้าม มีผู้พร้อมจะให้ แต่ไม่มีผู้อยากจะรับ การคอร์รัปชันก็ยากจะเกิดขึ้นได้ เหมือนตบมือข้างเดียวทำไม่ได้ ไม่มีเสียง ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีกฎหมายที่เอาผิดผู้ให้สินบน คือ บริษัทธุรกิจด้วย และยังครอบคลุมไปถึงการจ่ายสินบนข้ามชาติ คือ ห้ามธุรกิจในประเทศจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ได้เปรียบในการประมูลงานของรัฐ

สหรัฐอเมริกามีกฎหมายการคอร์รัปชันในต่างประเทศ หรือ Foreign Corruption Practice Act (FCPA) อังกฤษมีกฎหมายการติดสินบน หรือ Bribery Act ที่เอาผิดกับธุรกิจในประเทศของตน ที่จ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างชาติ เป็นความผิดอาญา มีโทษทั้งจำคุก และปรับ กฎหมายเหล่านี้ให้โอกาส จำเลยต่อรอง ขอลดโทษ หรือยกเว้นโทษ แลกกับการรับสารภาพ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขยายผลเอาตัวผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มาดำเนินคดีด้วย ที่เรียกกันว่า การต่อรองโดยการรับสารภาพ หรือ Plea Bargain

หลังจากลงโทษผู้ให้สินบนแล้ว ข้อมูลที่จำเลยรับสารภาพ หรือให้การในศาล จะถูกส่งต่อไปยังประเทศของผู้รับสินบน ให้เอาตัวคนรับสินบนมาลงโทษ เป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามการคอร์รัปชันข้ามชาติ ประเทศไทยซึ่งมีบริษัททั้งจากสหรัฐอเมิรกา และอังกฤษเข้ามาลงทุนในโครงการของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ที่ผ่านมาเคยได้รับข้อมูลสินบนข้ามชาติจำนวนมากตั้งแต่เรื่องการจัดซื้อระบบเอกซเรย์ซีทีเอ็กซ์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ มาจนถึงสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ของอังกฤษ ให้การต่อศาลว่า เคยจ่ายสินบนรวมเป็นเงิน 1,000 กว่าล้านบาทโดยประมาณ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการขายเครื่องยนต์ยี่ห้อเทรนด์ให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด

แต่หลายๆ คดีที่สหรัฐฯ กับอังกฤษส่งข้อมูลสินบนข้ามชาติมาให้ กลับไม่มีการดำเนินคดีต่อ รวมทั้งคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ซึ่ง ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนมาปีกว่าแล้ว ข่าวคราวเงียบหายไปเลย

ยกเว้นคดีเดียวคือ คดีอดีตผู้ว่าททท.รับสินบน บริษัทอเมริกันแลกกับการมอบหมายให้เป็นผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าของบริษัทอเมริกันรายนี้ และภรรยาถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย FCPA โดยยอมรับสารภาพว่า จ่ายเงินใต้โต๊ะให้อดีตผู้ว่าททท.จริง และเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดว่า จ่ายเงินให้กี่ครั้ง จำนวนเงินเท่าไร เงินไปเข้าบัญชีของใครบ้าง ข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานแน่นหนาที่ทำให้อดีตผู้ว่าททท.รายนั้น กับลูกสาวซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีที่รับโอนเงินสินบนดิ้นไม่หลุด ถูกศาลคดีอาญาพิพากษาจำคุกถึง 50 ปี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว

คดีสินบนข้ามชาติล่าสุดที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสินบนข้ามชาติจากเกาะญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซึ่งชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่อำเภอขนอม ของบริษัทเอ็กโก้จ่ายเงินใต้โต๊ะ 20 ล้านบาท ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานท่าเรือแห่งหนึ่งทางภาคใต้ เป็นค่าน้ำร้อน น้ำชาในการขนย้ายเครื่องจักรอุปกรณ์การก่อสร้างมาขึ้นที่ท่าเรือแห่งนั้น

ญี่ปุ่นมีกฎหมายห้ามการจ่ายสินบนข้ามชาติเช่นกัน เรียกว่า กฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือ Unfair Competition LAW ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 แต่ว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไร มีบริษัทที่ถูกดำเนินคดีข้อหาจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ เพียง 4 ราย แต่ว่ายังเอาผิดไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมรับสารภาพ เนื่องจากกฎหมายนี้มีโทษหนัก ทั้งจำ ทั้งปรับ และบริษัทที่ถูกพิพากษาว่าทำผิด จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ไม่สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินได้

เพื่อให้กฎหมายนี้มีประสิทธิภาพขึ้น ญี่ปุ่นจึงนำระบบ Plea Bargain มาใช้ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดต่อรองขอลดหย่อนโทษ แลกกับการรับสารภาพ โดยเพิ่งจะมีผลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง

เรื่องสินบนข้ามชาติ 20 ล้านบาทนี้ เป็นเรื่องมาสองสามปีก่อนหน้านี้แล้ว ที่มาเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในญี่ปุ่น และข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศไทย ก็เพราะว่าเป็นคดีแรกที่ใช้การต่อรองโดยการรับสารภาพ โดยเจ้าหน้าที่ของมิตซูบิชิฯ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งอุปกรณ์ ยอมรับกับพนักงานสอบสวนของสำนักงานคดีพิเศษว่า ได้จ่ายสินบน 60 ล้านเยน ให้กับเจ้าหน้าที่ของท่าเรือแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทย เมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 จริง

ประเทศไทยยังไม่มีการใช้วิธี Plea Bargain หน่วยงานที่รับผิดชอบในการปราบปรามคอร์รัปชันในวงราชการ น่าจะลองพิจารณาว่า สมควรนำมาใช้กับคดีทุจริตหรือไม่ เพื่อให้การปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันครบวงจร นอกจากเอาผิดคนรับสินบนแล้ว ต้องสาวให้ถึงตัวผู้ให้สินบนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น