xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง วังวนความขัดแย้งจะกลับมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

คุณสมบัติของนักการเมืองที่ได้จากการเลือกตั้ง ส่งผลต่อคำถามของระบอบประชาธิปไตยที่เราเชื่อว่า เป็นการปกครองที่ดีที่สุด แม้หลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยจะคือสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันซึ่งเราต้องรักษาส่วนนี้เขาไว้ แต่วิธีคัดสรรนักการเมืองเข้าสู่อำนาจก็มีคำถามเช่นเดียวกันว่า มันมีวิธีการที่ดีกว่านี้หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรม และโครงสร้างสังคมที่เราไปเอารูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาสวมทับ ในขณะที่สังคมมีความแตกต่างทางชนชั้นทั้งในเรื่องฐานะ ชาติตระกูล ยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ ยึดความอาวุโส มันก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในตัวอยู่แล้ว

การเลือกตั้งซึ่งเป็นวิธีการคัดคนเข้าสู่อำนาจจึงโยงอยู่กับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเหล่านั้น และผลลัพธ์ของการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถวัดความเป็นคนดีมีความสามารถของผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ เพียงแต่วัดว่าใครมีพวกหรือผู้สนับสนุนมากกว่าเท่านั้นเอง ถ้าจะได้คนดีมีความสามารถจากการเลือกตั้งจึงแทบจะเป็นเรื่องของโชคชะตาพามาให้บรรจบกันเท่านั้นเอง

เราจึงเห็นการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่เป็นเรื่องของคนไม่กี่คนและไม่กี่ตระกูล

แถมรัฐธรรมนูญใหม่ยังกำหนดให้ทำไพรมารี่โหวตซึ่งเมื่อมองโครงสร้างของพรรคการเมืองแล้วจะพบว่ามีคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคน้อยมาก เท่าที่ทราบพรรคประชาธิปัตย์เคยมีสมาชิกประมาณ2.8ล้านคน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้เริ่มต้นกันใหม่หมดกลับมีสมาชิกมายืนยันเพียงแสนคนเท่านั้นเอง ไม่ต้องพูดถึงพรรคเกิดใหม่ที่มีสมาชิกไม่กี่คน ดังนั้นแม้จะทำไพรมารี่โหวตเพื่อบอกว่าผู้สมัครผ่านการคัดกรองของสมาชิกพรรคไม่ใช่นายทุนพรรค แต่เห็นได้ว่า มันง่ายมากเลยที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจะได้เป็นผู้สมัครของพรรคมากกว่าคนดีคนเก่ง

ระบบไพรมารี่โหวตจึงเป็นระบบที่มีคำถามว่ามันจะใช้ได้กับสังคมไทยจริงหรือ กระทั่งถามว่ามันจะได้ใช้ไหม แล้วถ้าระบบไพรมารี่โหวตมันใช้ได้จริงพรรคที่เชื่อกันว่าจะเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ตอนนี้จึงออกไป “ดูด” อดีต ส.ส.มาเข้าคอก เพราะเขาเชื่อว่า คนเหล่านั้นเป็นคนมีคุณภาพ หรือเพราะเขาเชื่อว่าระบบโครงสร้างของสังคมไทยนั้นยังไงก็ยังยึดโยงกับคนเหล่านี้อยู่

การเข้ามาเป็นตัวแทนของพรรคในแต่ละพื้นที่จึงเป็นเรื่องของพวกมาก อิทธิพล และบารมีของคนๆนั้นมากกว่าเรื่องคุณสมบัติ ดังนั้นคุณภาพที่ย่ำแย่ของนักการเมืองที่เราเห็นมาตลอดหลายปีนี้นั่นแหละที่มันได้ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาจนนำมาสู่ความเบื่อหน่ายระบอบประชาธิปไตยที่วัดกันด้วยหีบเลือกตั้ง เพราะมันไม่สามารถคัดกรองตัวแทนที่ดีของประชาชนได้ กระทั่งวันนี้หลายคนบอกว่ายังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง

กลายเป็นว่า ความหวาดกลัวต่อนักการเมืองนั้นมันมีอิทธิพลมากกว่าสิทธิเสรีภาพหลายด้านที่สูญเสียไปเมื่อมีรัฐบาลจากการรัฐประหาร โอเคล่ะครับว่า แม้จะมีการรัฐประหารระบบเศรษฐกิจของเราก็ยังเป็นระบบเสรีที่ทำให้คนที่ทำธุรกิจอาจไม่ใส่ใจกับเสรีภาพที่สูญเสียไป กระทั่งบางคนคิดว่า การเมืองที่นิ่งไม่มีการชุมนุมอย่างที่เผชิญมานับ10ปีนั้น เป็นบรรยากาศที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา

หรือกระทั่งบางคนบอกว่า ดูประเทศจีนสิ เขาไม่มีการเลือกตั้ง แต่เขานำพาประเทศก้าวหน้ามาได้ มีระบบเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ประชาชนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้นำที่มีความสามารถอย่างสีจิ้นผิงก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เราลืมไปว่า กว่าสีจิ้นผิงจะขึ้นมาวันนี้นั้นเขาต้องผ่านการบ่มเพาะและทดสอบมาอย่างไรบ้าง ลองคิดสิว่าต่างกันอย่างไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผมคิดว่า แค่ให้คนไทยเลิกเล่นเฟซบุ๊กก็โอดครวญกันทั้งประเทศแล้ว

แม้ผมจะเห็นด้วยว่า การเข้ามาของ พล.อ.ประยุทธ์จะมีความจำเป็นในสถานการณ์ขณะนั้น เพราะประเทศไทยกำลังดำดิ่งสู่วิกฤตที่ไม่มีทางออก แต่ผมคิดว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพนั้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ผมเชื่อว่า คสช.และพล.อ.ประยุทธ์เองก็คิดเช่นนั้น จึงเตรียมการเพื่อให้กลับไปสู่การเลือกตั้ง แม้จะอ้างเหตุให้มีการเลื่อนมาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องไปสู่การเลือกตั้งอยู่ดี

แต่อย่างที่ผมว่า วิธีการเลือกตั้งและสู้กันด้วยใครชนะในหีบเลือกตั้งนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ดี วันข้างหน้าเมื่อเราได้การเลือกตั้งกลับคืนมา เชื่อแน่ว่าวังวนของเราก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม และความขัดแย้งจะกลับมาอีก

เพราะผลลัพธ์ของการเลือกตั้งก็จะเป็นแบบเดิมคนกลุ่มหนึ่งจะเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองหน้าเดิมเข้ามา และคนอีกกลุ่มที่รับไม่ได้กับพฤติกรรมของนักการเมืองเหล่านั้นก็จะออกมาขับไล่อีก

ผมไม่ได้หมายความว่า จะออกมาขับไล่กันตั้งแต่ทราบผลการเลือกตั้งนะครับ เพียงแต่เชื่อได้เลยว่า เมื่อคนหน้าเดิมเหล่านั้นกลับมามีอำนาจก็จะนำการเมืองไปสู่การใช้อำนาจที่ฉ้อฉลอย่างเดิม ดูอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่มีใครออกมาต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถ้าไม่ฉ้อแลต่ออำนาจ เพราะปล่อยให้ยิ่งลักษณ์บริหารประเทศอยู่กว่า3ปี แต่เมื่อเขาใช้ความชอบธรรมในการเข้าไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม พวกบูชาการเลือกตั้งก็ยังบอกว่า พวกออกมาขับไล่เป็นพวกทำลายประชาธิปไตย

ผมก็ถามหลายคนเหมือนกันว่า ถ้าเรายังอยากได้ประชาธิปไตยยังอยากมีสิทธิเสรีภาพ แต่เราเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่การคัดกรองที่ดีแล้วเราจะมีวิธีการคัดกรองคนเข้ามาสู่อำนาจอย่างไร ก็ยังไม่มีใครพบทางออก ขณะที่พวกประชาธิปไตยแบบตะวันตกจ๋าจะบอกว่า การเลือกตั้งนั้นสะท้อนถึงความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคนซึ่งเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย

แต่ผมเคยอธิบายไปแล้วว่า การเลือกตั้งนั่นแหละคือความไม่เท่าเทียมของระบอบประชาธิปไตย เพราะเราถูกบังคับให้ตัดสินใจในเรื่องเดียวกันบนพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน พูดได้เลยว่า มีคนน้อยมากในประเทศนี้ที่เลือกคนเป็นผู้แทนโดยพิจารณาถึงความรู้ความสามารถที่แท้จริง ด้านหนึ่งเพราะเขาไม่เห็นว่า เลือกคนดีคนเก่งจะตอบสนองผลประโยชน์กว่าคนที่เกื้อกูลเขาในระบบอุปถัมภ์อย่างไร เขาเคยเลือกตระกูลนี้มาเพราะเขาพึ่งพาได้มาโดยตลอด เราเลือกส.ส.เพื่อไปทำงานระดับชาติแต่การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวที่ได้รับ

ส.ส.ที่ได้รับเลือกมาก็รู้ว่า ทำอย่างไรให้เขาได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก เขาจึงไม่สนใจภารกิจในฐานะส.ส. แต่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาฐานคะแนนของตัวเองเอาไว้เท่านั้น การเมืองของเราจึงไม่มีวันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนการเลือกตั้งจากแบ่งเขต รวมเขต ระบบบัญชีรายชื่อแบบไหน หรือใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวก็ตาม

ผมจึงเสียดายว่า ความจำเป็นที่ต้องมีการรัฐประหารเมื่อปี2557 เพื่อจะวางรากฐานของประเทศกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่านั้น เมื่อมองแล้วไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะไม่มีมาตราไหนของรัฐธรรมนูญที่จะบ่งบอกเช่นนั้นเลย เพราะเมื่อผมมองไม่เห็นว่าระบบการคัดกรองคนเข้าสู่การเมืองที่ดีกว่าการเลือกตั้งผมก็คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองที่ดี แต่ผมกลับไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเลย

พรรคการเมืองจึงมุ่งไปที่ชนะการเลือกตั้ง และเมื่อเขาเข้าใจโครงสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบไทย หนทางที่จะชนะการเลือกตั้งนั่นก็คือต้องกวาดต้อนอดีตส.ส.เข้ามาอยู่ในพรรคให้ได้มากที่สุด เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ต้องการกลับเข้าสู่อำนาจจึงต้องทำแบบเดียวกับที่ตอนที่ทักษิณเข้ามาสู่การเมืองนั่นคือ กวาดต้อนส.ส.ให้ได้มากที่สุด ทุกอย่างจึงยังใช้วิธีการแบบเดิมเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมือง

เราจึงอาจเห็นส.ส.ในพรรคของรัฐบาลชุดหน้าเคยเป็น ส.ส.ที่สนับสนุนทักษิณแต่วันนี้หันมาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าพรรคที่เขาระบุว่ากำลังเดินสายดูด ส.ส.อยู่นั้นเป็นพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์จริง

เมื่อระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองที่เข้มแข็งไม่มี องค์กรอิสระที่กำลังคัดสรรกันอยู่นี้มีที่มาจากรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น หากรัฐบาลนี้กลับมาอีกแล้วเกิดใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมก็ไม่สามารถคาดหวังการทำงานขององค์กรอิสระได้เลย สุดท้ายแล้วการเมืองบนท้องถนนก็จะกลับมาอีก

ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อาจจะบอกว่ายังไงเสีย พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ใช่ทักษิณ แม้ส.ส.ที่หันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จะมาจาก ส.ส.ที่สนับสนุนทักษิณก็ตาม แต่ถามว่า เราควรฝากอนาคตไว้กับตัวบุคคลหรือเราควรสร้างระบบป้องกันการใช้อำนาจที่เข้มแข็งกันแน่ แล้วมีหลักประกันอะไรว่า พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์จะชนะการเลือกตั้ง แล้วถ้าพ้นสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ไปล่ะจะเป็นอย่างไร

แน่นอนล่ะกติกาและรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลที่เขียนไว้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า เพราะยังไงเสีย พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นคนตั้ง ส.ว.ทั้ง250คนด้วยมือตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องการเสียง ส.ส.แค่251คนขึ้น ในกรณีที่ ส.ว.ไม่แตกแถวเลย แต่พรรคที่จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งรัฐบาลได้โดยไม่พึ่งเสียง ส.ว.ต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้ 376เสียงขึ้นไปซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางทฤษฎี

อย่าลืมว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร สุดท้ายแล้วนักการเมืองจะจับมือกันเพื่อเอาตัวเองออกจากใต้ท็อปบูทของทหาร เพราะไม่เช่นนั้นอาจอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลทหารที่อาศัยการเลือกตั้งไปอีก8ปี

เมื่อการเมืองของเรายังเป็นการเมืองที่ฝากความหวังไว้กับตัวบุคคล ไม่ใช่การใช้ระบบควบคุมนักการเมือง เชื่อเถอะว่าเรายังคงอยู่ในปลักโคลนของระบอบประชาธิปไตยต่อไป และวัฏจักรเดิมๆก็จะหมุนวนกลับมาอีก ความขัดแย้งและความรุนแรงก็จะยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น