โดย นพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา
ประเทศไทยมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและมีภูมิอากาศร้อนชื้น เราจึงพบเห็นปลากัดอยู่ทั่วไปในแอ่งน้ำตามเรือกสวนไร่นา
ปลากัดจึงอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างช้านาน มีหลักฐานชั้นต้นระบุไว้ชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น หนังสือบันทึกของที่ปรึกษาราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งกล่าวไว้ว่า
“คนไทยนิยมเลี้ยงปลากัดเพื่อใช้พนันขันต่อกันอย่างแพร่หลาย มีแหล่งจำหน่ายใหญ่ที่ย่านสำเพ็ง และบางตัวนั้นแม้ด้วยเงินหลายร้อยบาทก็ยังซื้อไม่ได้”
เราอย่าลืมว่า ด้วยเงินเดือนของข้าราชการระดับเสมียนมีความรู้ในยุคนั้นก็ยังเพียงแค่เดือนละ 20 บาท แต่ราคาปลากัดตัวสำคัญ ๆ เพียงตัวเดียว กลับมีราคาเท่ากับเงินเดือนของข้าราชการที่ต้องใช้เวลาทำงานนานหลายปีกว่าจะซื้อปลาตัวนั้นได้
อีกทั้ง บันทึกของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังกล่าวไว้อีกว่า
“พวกเด็ก ๆ มีการเล่นหลายอย่าง....โดยเฉพาะปลาเล็ก ๆ สองชนิดที่กล้าหาญมาก ซึ่งมันเข้าจู่โจมกันสนุกนัก”
ดังนั้น ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าปลากัดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5
นอกจากนี้ หากเราย้อนขึ้นไปถึงพระราชกำหนดในประมวลกฎหมายตรา 3 ดวงที่เกี่ยวข้องกับปลากัด ก็ปรากฎขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นพระราชกำหนดใหม่ที่เพิ่มเติมมาจากฉบับเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำ
สมัยกรุงธนบุรี ศ.ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ชีวิตของประเทศ โดยเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่อัมพวาในยุคนั้น ซึ่งนิยมเลี้ยงปลากัดอย่างแพร่หลายว่า
“ปลากัดอัมพวามีหลายสี ว่ากันว่ากัดเก่ง คนจึงนิยมหาไปเลี้ยงกันเป็นของเล่น”
หากเรามองในแง่วิถีไทย ก็ยังมีปรากฎในวรรณคดีเรื่องอิเหนา ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่กล่าวไว้ว่า
....บ้างลงท่าโกนจุกสนุกสนาน มีงานการกึกก้องทุกแห่งหน
บ้างตั้งบ่อน “ปลากัด” นัดไก่ชน ทรหดอดทนเป็นเดิมพัน...
ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ปลากัดอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน อย่างน้อยตามเอกสารหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5
ผู้คนทั้งโลกจึงเรียกปลากัดอย่างเป็นทางการว่า Siamese Betta หรือ Siamese Fighting Fish แปลว่า ปลานักสู้แห่งสยาม
เมื่อมีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายมานานหลายร้อยปี ก็ย่อมมีการพัฒนาสายพันธุ์กันมาเป็นลำดับ จนกระทั่งปลากัดไทยมีหลายลักษณะ ที่รู้จักกันแพร่หลาย อาทิ ปลาลูกหม้อ หรือปลาหม้อ
นอกจากนี้ก็ยังมีปลากัดลักษณะหนึ่งที่มีสีสันฉูดฉาดสวยงาม ครีบยาว รุ่มร่าม และมีหางยาวคล้ายพู่กันจีนหรือเครื่องแต่งกายของนักแสดงงิ้ว คนไทยจึงเรียกว่าปลากัดจีน หรือปลาจีน
ปัจจุบันมีผู้เข้าใจผิดกันว่า ปลากัดจีน หรือ ปลาจีน คือ ปลากัดของประเทศจีน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้วนั้น ปลากัดจีน หรือ ปลาจีน ก็คือ ปลากัดไทยนั่นเอง
ทั้งปลากัดหม้อและปลากัดจีน ล้วนมีพื้นเพมาจากปลากัดป่า หรือปลากัดตามธรรมชาติของไทยทั้งคู่
เพียงแต่เมื่อมีการผสมคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาลูกหม้อที่กัดเก่ง มีลักษณะที่ดีและสวยงาม ก็ทำให้ได้ปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่ครีบและหางยาวออกมามากกว่าปกติ ต่อมาก็มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ครีบ และหางที่แผ่กว้างขึ้นไปอีก มีลักษณะสวยงามมากขึ้น มีสีสันใหม่ ๆ ที่สวยงามหลากหลาย ทำให้คนทั่วไปนิยมเลี้ยงปลากัดลักษณะนี้เป็นปลาสวยงามอีกด้วย
แต่ทั้งหมดนี้ก็คือปลากัดของไทย ไม่ใช่ปลากัดของจีน
ประเทศจีนมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง ที่ราบสูง และทะเลทราย มีที่ราบลุ่มแม่น้ำน้อยมาก อีกทั้งยังมีภูมิอากาศหนาวจัดแทบทั้งปี เราจึงไม่ค่อยพบปลากัดในประเทศจีน และไม่ปรากฎเรื่องของปลากัดในวัฒนธรรมจีนกันอย่างแพร่หลายเหมือนในประเทศไทยอีกด้วย
แม้กระทั่งปลากัดบางลักษณะที่เรียกกันว่าปลากัดเผือก ปลาเผือก ปลากัดสีอ่อน หรือปลากัดเขมร ก็คือปลากัดของไทย
เพราะเมื่อแรกเริ่มพัฒนาพันธุ์ปลากัดเผือกโดยคนไทยตั้งแต่ครั้งโบราณ ก็มักทำกันในพื้นที่เขมรซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของไทย คนไทยจึงเรียกปลากัดเผือกว่าปลากัดเขมรอีกชื่อหนึ่งด้วย
ปลากัดทุกลักษณะล้วนมีที่มาจากปลากัดป่าของไทยสายพันธุ์เดียวกัน เพียงแต่เมื่อมีการผสมคัดพันธุ์ที่ถูกต้องได้จังหวะ ลักษณะที่สวยงามหลากหลายของปลากัดซึ่งเป็นลักษณะพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ในปลากัดตามธรรมชาติของไทยแต่เดิม ก็จะปรากฎออกมาอย่างสวยงาม กลายเป็นความหลากหลายลักษณะของปลากัดในท้ายที่สุด
ปัจจุบันจึงมีปลากัดรูปแบบใหม่และสีสันใหม่ ๆ ปรากฎออกมาอยู่เสมอ แต่ทั้งหมดก็ล้วนคือ “ปลากัดไทย” ทั้งสิ้น
เมื่อรู้ดังนี้แล้วเราก็ควรภูมิใจในปลากัดตัวน้อย เพื่อนร่วมชาติของเรา ซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และผู้คนทั้งโลกต่างก็ยอมรับในเอกลักษณ์ความเป็นไทยของปลากัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพปลากัดจีนสีธงชาติไทย โดยคุณชูชาติ เล็กแดงอยู่ (เอก นครปฐม) ด้วยครับ