ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด"สั่งเร่งทำแผนปฏิรูปเกษตรใหม่ เลิกทำนาปรับรอบ 2 , 3 กว่า 2 ล้านไร่ เพิ่มสิ่งจูงใจชาวนาหันปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน รับประกันมีตลาดรองรับ ราคาสูงกว่าต้นทุน พร้อมให้เดินหน้าขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อรับเงินช่วยเหลือ ดันตั้งกรรมการเฉพาะกิจดูแลการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ ป้องกันความเสี่ยงสมาชิก "กฤษฏา"ลุยยกระดับราคาข้าวขาวตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท เผยยังตั้งเป้าโค่นยางกว่า 3 ล้านไร่ใน 5 ปี ขยับราคาเป้าหมายเป็นกิโลละ 60 บาท "พาณิชย์"ชง ครม. ห้ามนำเข้ามะพร้าว 3 เดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ แก้ปัญหาราคาในประเทศตกต่ำ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วานนี้ (16 ก.ค.) ว่า ได้สั่งการให้นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เร่งทำแผนปฏิรูปการเกษตรใหม่โดยใช้การตลาดนำการผลิตให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในเดือนส.ค.นี้ เพื่อที่จะได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยตามแผนขอให้เน้นการลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2-3 ลง ตั้งเป้าหมายพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งจะมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรทำตามแผนการผลิตใหม่ โดยผลักดันให้เกษตรกรไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทดแทน และจะมีการหาตลาดรองรับให้เกษตรกรว่าจะมีผู้รับซื้อผลผลิตแน่นอนและราคาสูงกว่าต้นทุน รวมทั้งต้องดีกว่าการทำนา
ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งลงทะเบียนเกษตรกรทั่วประเทศให้เร็วขึ้น เพราะปีนี้ เป็นโอกาสดีที่จะขายข้าวได้ราคาดีขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาว ไม่อยากให้เกษตรกรต้องเสียโอกาส เพราะหากลงทะเบียนเร็ว ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเร็ว โดยเฉพาะการเข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าวและเก็บไว้ในยุ้งฉาง หากไม่มียุ้งฉาง ก็ให้สหกรณ์การเกษตรไปช่วยรับรอง
ส่วนปัญหาผลไม้ที่จะล้นตลาด ขอให้เร่งหาตลาดล่วงหน้า เช่น ลำไย ลองกอง โดยสหกรณ์ต่างๆ ต้องทำหน้าที่เป็นล้งรวบรวมผลไม้ส่งให้เอกชน และกระจายผลผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคผ่านไปรษณีย์ โดยในวันที่ 15 ส.ค. ตนจะมาติดตามความก้าวหน้าอีกครั้ง
นอกจากนี้ ได้สั่งดูแลเรื่องสหกรณ์ ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์การเกษตร โดยขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนดมาตรการดูแลเกษตรกรอย่างจริงจัง เพื่อรองรับผลผลิตจะออกมา เช่น ข้าวและผลไม้ ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีประมาณ 800 แห่ง และมีการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นหลายแสนล้านล้านบาท เช่น ตลาดหุ้น ตลาดทุน ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงในการลงทุน โดยล่าสุด ครม. ได้สั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแลและให้คำแนะนำการบริหารจัดการ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมเฉพาะกิจเข้ามาควบคุมเกณฑ์ในการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีฐานเงินฝากจากสมาชิกสหกรณ์ทั้งประเทศ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อวางเกณฑ์ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดกับสมาชิก
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเมินการทำงานของรัฐมนตรีเกษตรฯ ในช่วง 6 เดือน นายสมคิด หันมายิ้ม และกล่าวว่า จะไปประชุมพืชน้ำมันต่อ รมว.พาณิชย์ มารออยู่ ซึ่งจะยกเลิกนำเข้ามะพร้าวเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
ด้านนายกฤษฏากล่าวว่า ได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายสมคิดในเรื่องของการช่วยเหลือชาวนา เพื่อยกระดับราคาข้าวขาวในราคาเป้าหมายตันละ 12,000-13,000 บาท ชะลอไว้ในยุ้งฉาง 90 วัน และยังได้เพิ่มเงินอุดหนุนผลผลิตจากไร่ละ 1,000 บาท เป็น 1,500 บาท ไม่เกิน12 ไร่ต่อคน ซึ่งเป็นเงินให้เปล่าแก่ชาวนาที่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิได้ในการเพาะปลูกรอบแรก
ส่วนแผนปฏิรูปเกษตรใหม่ มั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. ก่อนที่จะเริ่มเพาะปลูกนาปรังรอบที่ 2-3 ในช่วงเดือนส.ค.และก.ย. โดยจะปรับเปลี่ยนให้ชาวนาหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน และจะมีมาตรการประกันราคา ขายไม่ต่ำว่าทุน และมีการประกันความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมถึงภาครัฐจะสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ส่วนในเรื่องของโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี จะต้องรอให้เรื่องดังกล่าวผ่านที่ประชุม ครม. ก่อน จึงจะให้รายละเอียดได้
นอกจากนี้ นายสมคิดยังสั่งให้เร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยจะมีการโค่นยางอายุ 7 ขึ้นไป จาก 4 แสนไร่ต่อปี เป็น 6 แสนไร่ เป้าหมาย5ปีกว่า3 ล้านไร่ เพื่อลดปัญหายางพาราล้นตลาด ราคาตกต่ำ โดยตั้งเป้าหมายราคาไว้ไม่ต่ำกว่า 60บาท ต่อกิโลกรัม และยางที่โค่นจะเป็นยางที่ไร้คุณภาพและปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ (17 ก.ค.) 2561 กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุม ครม. เรื่องการออกมาตรการห้ามนำเข้ามะพร้าวชั่วคราวจากต่างประเทศเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือนส.ค.-ต.ค.2561 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวภายในประเทศตกต่ำ หลังจากที่กระทรวงฯ ได้มีการหารือกับทุกฝ่ายอย่างรอบคอบในการออกมาตรการดังกล่าวแล้ว โดยสาเหตุที่มะพร้าวในประเทศปีนี้ราคาตกต่ำ เพราะมีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในปริมาณเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวไทยเกิดโรคระบาด แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในมะพร้าวได้แล้ว จึงต้องออกมาตรการเพื่อรักษาสมดุลมะพร้าวภายในประเทศ