xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อลูกหมูป่ากลับมาบ้านต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA


ทั่วโลก ไม่ว่าไทยหรือต่างชาติ และคนไทยแทบทุกคนต่างรวมตัวเป็นใจเดียวกันเพื่อช่วยลูกหมูป่าให้ออกจากถ้ำหลวงที่ดอยขุนน้ำนางนอนที่จังหวัดเชียงรายให้ได้ จริ งๆ ในโลกเราแม้แต่ประเทศไทยเราเวลานี้มีข่าวหนัก ๆ และข่าวร้ายมากมาย น้ำท่วมหนักที่ญี่ปุ่น คนตายกันมากมายเป็นร้อย เรือล่มที่ภูเก็ตนักท่องเที่ยวจีนตายไปเกือบห้าสิบคน เครื่องบินทหารตกที่แม่ฮ่องสอนนักบินทหารเสียชีวิตไปสามศพ ที่ถ้ำหลวงเองนั้น จ่าเอก สมาน กุนัน อดีตนายทหารนอกราชการของหน่วยซีล กองทัพเรือ ก็พลีชีพเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่

แต่เหตุที่ข่าวเรื่องเด็ก ๆ ทีมหมูป่านั้นได้รับความสนใจมากจนกระทั่งสื่อมวลชนไทยทำตัวได้น่าเกลียดและน่ารังเกียจมาก เกะกะขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากเหลือเกิน มีหลายสาเหตุ

ประการแรก ทุกคนลุ้นและเชียร์ ส่งแรงใจ เพราะยังมีความหวัง (Hope) ว่าจะรอด ในขณะที่ภัยพิบัติอื่นจบเร็ว ไปเร็ว รอดก็คือรอด ไม่รอดก็คือไม่รอด ไม่มีอะไรต้องลุ้นมาก ตายก็คือตาย รอดก็คือรอด ภาวะที่ตอบไม่ได้ว่าจะรอดหรือจะตายมันลุ้นกับความรู้สึกของมนุษย์ยิ่งกว่าการเล่นพนันใด ๆ ทำให้เครียด กดดัน แต่ก็อดใจไม่ได้ที่จะติดตาม เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์เราหรือแม้แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหลายที่ใส่เข้าไปจะชนะธรรมชาติได้หรือไม่

ประการที่สอง พื้นที่ถ้ำขุนน้ำนางนอนเอง มีความท้าทายสูงมาก ที่นี่คือยอดเขาเอเวอเรสต์ของการดำน้ำในถ้ำที่โหดมากระดับโลก และไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อนบนโลก ที่ท้าทายความสามารถและส่วนดีของมวลมนุษยชาติได้มากขนาดนี้

ประการที่สาม ผู้ประสบภัยเป็นเด็กนักฟุตบอล การเป็นเด็กทำให้ได้รับความสนใจ ความรัก ความสงสาร ความห่วงใยจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คนไทย และคนทั่วโลก กระแสบอลโลกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมเช่นกัน

ประการที่สี่ ในขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ทางตัน เพราะ oxygen ในถ้ำหลวงเจือจางมากตรงที่หมูป่าอยู่ พายุฝนจะเข้า ทางเลือกอื่นไม่มี ไม่ออกตอนนี้ก็ยากจะรอดอยู่ดี ตัดสินใจดีที่สุดแล้ว เด็ก ๆ ยังแข็งแรงพอ น้ำลดลงต่ำมากสุดแล้ว ทำให้ทุกคนช่วยกันภาวนาให้ทุกอย่างราบรื่นปลอดภัย เป็นทางรอดที่ดีที่สุดก่อนความเสี่ยงสูงสุดจะมาถึง และทำดีที่สุดในสถานการณ์อันเต็มไปด้วยข้อจำกัดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับได้ หวังในสิ่งที่ดีที่สุด และเตรียมตัวเตรียมใจรับให้ได้กับสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน. อธิษฐานภาวนาให้ทุกคนปลอดภัย

วันนี้ลูกหมูป่าออกมาจากถ้ำได้สี่คน และหวังว่าจะออกมาจากถ้ำได้ครบ 13 คน ในวันพรุ่งนี้ ก่อนฝนจะตกหนักและน้ำจะท่วมอีกรอบ

คำถามถัดไปคือ หลังจากที่เด็กออกมาจากถ้ำต้องเจออะไรบ้าง

กลุ่มอาการความเครียดหลังเหตุการณ์เลวร้าย (Post-traumatic stress disorder: PTSD) อาจจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ลูกหมูป่า ผมนึกถึงการได้สัมผัสพูดคุยกับเด็ก ๆ ที่เจอกับเหตุการณ์สึนามิที่พังงา จำได้ว่าแค่ได้ยินเสียงคลื่น เห็นน้ำมาก ๆ ก็เกิด recurrent เกิดอาการหวาดผวาและหวาดกลัวอีกครั้ง ในทำนองเดียวกัน ลูกหมูป่าแค่อยู่ในที่มืดก็อาจจะเกิด recurrent เกิดการร้องไห้หรือหวาดกลัวว่าติดอยู่ในถ้ำอีกก็ได้ อาจจะมีความซึมเศร้า เครียด และอาจจะไปถึงความรู้สึกผิด ไม่แน่ใจว่าเด็ก ๆ ลูกหมูป่าทราบข่าว จ่าเอกสมาน กุนัน ผู้เสียสละชีวิตเพื่อช่วยน้อง ๆ หรือยัง อาจจะมีความจำเป็นต้องไม่ให้ทราบข่าวเสียก่อน

การมีผู้สูญเสียชีวิตในการช่วยเหลือน้อง ๆ หมูป่าออกจากถ้ำ ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ของ Steven Spielberg เรื่อง Saving Private Ryan ที่ทหารมากมายหลายคนยอมสละชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือให้ Ryan ออกมาอยู่รอดจากสมรภูมิรบได้ ความรู้สึกเศร้าเสียใจหรือรู้สึกผิดอาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง

ภาวะ disassociation หรือปลีกวิเวกตัดขาด อาจจะไม่เกิดขึ้นมากนักเพราะเกิดร่วมกันถึง 13 คน จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องจริงก็คงจะยากมาก ถ้าการช่วยเหลือดำเนินไปอย่างราบรื่นทั้งหมด 13 คน ไม่มีการสูญเสียใด ๆ อาการ PTSD อาจจะไม่มากนัก ปฏิกิริยาเด็ก ๆ เมื่อมีผู้ไปพบในถ้ำที่เนินนมสาวนั้นยังดีอยู่ มีสติเต็มที่ ควบคุมได้ดี และสงบเยือกเย็นดีพอที่จะโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษได้ ต้องถือว่าเก่งมากสำหรับเด็กอายุเพียงเท่านั้นในสถานการณ์อันกดดันเช่นนั้น

การติดตามข่าวสารในโลกโซเชียล อาจจะส่งผลร้ายกับความรู้สึกนึกคิดของน้อง ๆ ทีมหมูป่าที่ออกมาจากถ้ำได้ เพราะในโลกโซเชียลมีเกรียนคีย์บอร์ดมากมายที่พูดในทำนองที่ไม่สร้างสรรค์

เช่นเดียวกับกองทัพนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวไทย ที่จะถามอะไรที่ไม่สร้างสรรค์เช่นกัน และอาจจะเป็นการโยนบาปและป้ายความรู้สึกผิดใส่น้อง ๆ ลูกหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตได้ ทำให้นึกถึงเวลาอันหนักหน่วงรุนแรงในถ้ำได้อีก เพราะไปถามซ้ำไปซ้ำมาจนความรู้สึกเก่า ๆ ในเวลาที่ติดอยู่ในถ้ำนั้นกลับมาได้อีก ดังนั้นการไม่ให้น้อง ๆ ทีมหมูป่าต้องไปเจอการล่าจากนักข่าวอีกรอบซึ่งจะหนักหน่วงมากเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่อย่างใด นักข่าวพร้อมจะตามไปที่บ้าน ตามไปที่โรงเรียน และทุกสถานที่ที่น้อง ๆ ทีมหมูป่าต้องใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่จะถูกล่าหาข่าวจนทุกอย่างไม่เป็นปกติและหมดความเป็นส่วนตัว

การกักตัวเพื่อตรวจโรคและเชื้อโรค เป็นสิ่งที่จำเป็นตามมาตรฐานสากลในการช่วยเหลือทางการแพทย์ เพราะในถ้ำอาจจะมีเชื้อโรคแปลก ๆ ในสภาพแวดล้อมที่คนทั่วไปอาศัยอยู่ได้ยากลำบากยิ่งและมีคนที่เคยเข้าไปถึงน้อยมาก การกักตัวนี้น่าจะไม่เกินเจ็ดวัน ส่วนการรักษาการบาดเจ็บหรือพักฟื้นร่างกายนั้นเป็นอีกเรื่องและตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ขาดน้ำนาน ๆ ไตก็อาจจะมีปัญหา ขาดอาหารมานานทำให้ตับดึง Glycogen ออกมาใช้เป็นพลังงานหมด อาจจะเกิดภาวะคีโตนสูงที่เรียกว่า Ketosis เห็นในรูปภายในถ้ำเริ่มมีกล้ามเนื้อลีบ ดังนั้นการพักฟื้นร่างกายหรือแม้แต่การกายภาพบำบัดก็อาจจะจำเป็นเช่นกัน

ที่น่าห่วงมากที่สุดคือท่าทีของสังคม สังคมไม่ควรมองเด็กเป็นฮีโร่ เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ใช่ฮีโร่ จิตอาสา และเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ หรือหน่วยซีล ตลอดจนนักดำน้ำจากต่างประเทศ ตลอดจนลุงเจาะน้ำบาดาลหรือแม้แต่คนซักผ้าให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เด็กทีมหมูป่าคือผู้ประสบภัย ไม่ใช่ Hero การไปโทษว่าเด็ก ๆ ทำให้สังคมเดือดร้อนหรือเสียเงินทองไปมากมาย จนถึงการสูญเสียชีวิต นั้นจะกลายเป็นตราบาปในใจเด็ก ๆ ไปตลอดชีวิตเช่นกัน ปฏิบัติกับเด็ก ๆ ที่รอดออกมาได้อย่างปกติที่สุด ไม่ต้องสนใจมาก ไม่ต้องยื้อกัน ตะครุบตัวกันไปออกโทรทัศน์ ให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตไปตามปกติอย่างที่เขาได้เคยเติบโตมาแบบละอ่อนแถวนั้น ทำทุกอย่างให้เป็นปกติที่สุดน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้และอีกหลายเดือนต่อจากนี้ไป

ท่าทีของสังคมควรเมตตา แต่ไม่ยกย่องเทิดทูนเป็นฮีโร่ ไม่ซ้ำเติมว่าเด็กทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายหรือเกิดความเสียหาย การให้อภัยจากสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็น หากกล่าวโทษเด็กจะเป็นเรื่องยากมากกว่าเด็กจะพ้นจากความรู้สึกผิดและให้อภัยตัวเองได้ ในอีกทางกลับกันเพื่อป้องกันความเจ็บปวดที่อาจจะเกิดจากการถูกกล่าวโทษเด็กก็อาจจะมีกลไกป้องกันตัวเอง (Self-defensive mechanism) ทางจิตใจ ด้วยการปฏิเสธและแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปเพื่อให้ตนเองไม่รู้สึกผิด

ข้อสรุปง่าย ๆ คือ สังคมควรมีท่าทีเมตตาต่อเด็กทีมหมูป่า และปล่อยให้เด็ก ๆ เหล่านี้ได้เติบโตตามปกติที่พวกเขาได้เติบโตมา น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ทำอย่างไรจึงจะกันสื่อมวลชนออกไปได้ ให้เด็กได้ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้เต็มที่เสียก่อน

ขอให้เด็กลูกหมูป่า ได้เห็นคุณค่าของตนเองจากเหตุการณ์นี้ที่คนทั่วโลกต่างลงแรงใจกาย มาช่วยพวกเขาให้อยู่รอดปลอดภัยออกมาได้ ขอให้เขาได้เติบโตมาเป็นคนดี ช่วยเหลือตอบแทนสังคมกลับคืนสมกับที่พวกเขาได้รับความเมตตาจากสังคมมากมายเหลือล้น


กำลังโหลดความคิดเห็น