อาจารย์วิชาฟิสิกส์ของผมท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังในชั้นเรียนเมื่อ 40 กว่าปีก่อนว่า เมื่อนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญชาวสหภาพโซเวียตรัสเซียคนหนึ่ง (ชื่อ เลฟ ดาวิโดวิช ลันเดา, Lev Davidovich Landau, 1908-1968) ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนกะโหลกศีรษะแตก ผู้นำประเทศได้กล่าวว่า “แม้ประเทศจะต้องสูญเสียเกาะสักเกาะเพื่อแลกกับชีวิตของลันเดาไว้เราก็ยินดี”
ลันเดาเป็นเด็กอัจฉริยะ (child prodigy) สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปีเท่านั้น เขาได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับฟิสิกส์ยุคใหม่ (ซึ่งเป็นฐานให้นำมาสู่โซลาร์เซลล์) มากมายจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 1962 แต่ได้ประสบอุบัติเหตุในปีเดียวกันและได้รับการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง (แต่ไม่หาย) จนเสียชีวิตในอีก 6 ปีต่อมา
“เพราะลันเดาเป็นคนสำคัญของประเทศและของโลกนะซิ รัฐบาลจึงได้ยอมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นคนธรรมดาๆ ก็คงจะไม่เท่านั้นหรอก” นั่นคือความรู้สึกและได้กลายเป็นความเชื่อที่ฝังหัวผมมานานหลายปี
ผมจำไม่ได้ชัดเจนว่า ความเชื่อดังกล่าวของผมได้หายไปตอนไหน แต่กรณี “13 ชีวิตติดถ้ำ” ซึ่งเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเลย แต่ทางรัฐบาลไทยและสังคมไทยทุกภาคส่วน ตลอดจนสังคมโลกได้ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่มีความยากลำบากต้องเสี่ยงด้วยชีวิต (เช่น จ่าเอกสมาน กุนัน) แม้แต่เด็ก 9 ขวบชาวเนเธอร์แลนด์ยังได้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของตนให้หาทางช่วยเหลือเพราะเชื่อว่าประเทศของตนมีความเชี่ยวชาญมากในเรื่องการจัดการน้ำ
เหตุการณ์ “13 ชีวิตติดถ้ำ” ที่ผ่านมา 16 วันแล้ว ได้ทำให้ความหมายของคำว่า “ครอบครัวมนุษยชาติ” ที่ได้เขียนไว้ใน “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นเจตจำนงขององค์การสหประชาชาติ เมื่อ 10 ธันวาคม 2491 เป็นความจริงไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ แต่สามารถสัมผัสรับรู้ได้จริงจากเหตุการณ์นี้
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะมีความรู้สึกคล้ายกับผมคือ เห็นคุณค่าของคำว่า “เพื่อนร่วมชาติ” และ “มนุษยชาติ” มากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือทำให้เรารักชาติ รักและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์มากขึ้น
ผมขอคัดลอกบางส่วนในอารัมภบทตอนหนึ่งว่า “โดยที่การยอมรับศักดิ์ศรีแต่กำเนิดและสิทธิที่เท่าเทียมกัน และที่ไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งมวลแห่งครอบครัวมนุษยชาติ เป็นพื้นฐานแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก”
ปฏิญญาฯ ดังกล่าวมี 30 ข้อ โดยข้อแรกซึ่งน่าจะถือว่าเป็นข้อที่มีความสำคัญมากกล่าวว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ”
ขอย้ำนะครับว่า มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามี (1) ความเป็นอิสระ และ (2) เท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ
ผมเองได้ยึดหลักคุณค่านี้มาตลอดในการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นพลังงาน และแหล่งพลังงานที่จะสามารถตอบสนองหลักคุณค่าดังกล่าวได้ก็มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งที่สำคัญได้แก่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ไม่ใช่พลังงานฟอสซิลอย่างแน่นอน เพราะพลังงานฟอสซิลทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งฟอสซิลที่อยู่ลึกใต้ผิวโลกได้
ผมลงมือเขียนบทความนี้ในตอนเช้าของวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ทีมงานวิศวกรในบริษัทของ Elon Musk มหาเศรษฐีของโลกที่จบการศึกษาด้านฟิสิกส์และทำธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนจะเดินทางมาถึงจังหวัดเชียงราย เพื่อมาศึกษาความเป็นไปได้ของการนำ “13 ชีวิต” ออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย
ผมได้อ่านข่าวนี้มา 2-3 วันก่อนหน้านี้ แม้ผมได้อ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาจะมีวิธีการอย่างไร แต่ด้วยความเชื่อในความคิดที่ก้าวหน้าของเขา ผมจึงศรัทธาและส่งต่อข่าวสารให้กับสื่อมวลชนบางราย ด้วยความหวังว่าจะมีคนเข้าใจและส่งต่อถึงผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์
เท่าที่ผมติดตามแนวคิดของ Elon Musk เขามีโครงการจะขุดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อขนส่งรถยนต์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น จากนิวยอร์กถึงกรุงวอชิงตันภายในเวลา 22 นาที จริงหรือไม่จริงผมไม่ทราบครับ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ใครเสนออะไรมาก็รับไว้ก่อนแล้วพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล
อีกอย่างหนึ่งบริษัทของ Elon Musk ได้ทำแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สามารถยกไปวางไว้ในถ้ำตอนลึกๆ แล้วสามารถสูบน้ำได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็ว
นอกจากนี้เขายังมีแนวคิดที่จะทำอุโมงค์ลมด้วยวัสดุพิเศษที่มีความทนทานและยืดหยุ่น (ซึ่งเขาน่าจะมีอยู่แล้ว) สามารถสอดเข้าไปถึงที่ “น้องๆ” ติดอยู่ จากนั้นก็อัดอากาศให้เต็มอุโมงค์แล้วนำน้องๆ ออกมาได้
นี่คือส่วนหนึ่งของ “สมาชิกแห่งครอบครัวมนุษยชาติ” ที่ได้พยายามนำเสนอ
เหตุการณ์ที่ทีมหมูป่าติดถ้ำในครั้งนี้ นอกจากจะให้บทเรียนที่สำคัญต่อชาวโลกแล้ว ยังทำให้คนในโลกเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าโลกเรานี้น่าอยู่และน่ารักมากครับ
อย่างไรก็ตาม ผมเองมีข้อสงสัยบางประการซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะทำออกมาให้เป็นความรู้แก่สาธารณะ
คืออยากให้มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในถ้ำของพวกน้องๆ เช่น เข้าถ้ำเวลาไหน น้ำมาเวลาไหน ทำไมจึงหนีไปที่เนินนมสาว ระดับน้ำสูงสุดเท่าใด เวลาไหน เมื่อเรานำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ร่วมกับปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมง เราก็จะได้ความสัมพันธ์ระหว่างการไหลของน้ำในถ้ำกับปริมาณน้ำฝน ข้อมูลนี้จะทำให้เราเข้าใจสภาพของถ้ำได้ดีขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจหรือวางแผนครั้งต่อไป
ขณะเขียนบทความนี้ ข่าวเที่ยงทางทีวีบอกว่าทางเจ้าหน้าที่จะนำน้องๆ ออกมาในเวลาสามทุ่มคืนนี้
ถึงตอนนี้ก็ต้องเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ และขอภาวนาให้ทุกคนปลอดภัยขอให้พระคุ้มครองครับ
รักเธอประเทศไทย
รักเธอสมาชิกแห่งครอบครัวมนุษยชาติ