xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ปฏิรูปวงการสงฆ์ครั้งใหญ่ สกัดศรัทธาเชื่อมการเมือง !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้องถือว่า นี่คือก้าวสำคัญที่หลายฝ่ายคาดหมายแบบมั่นใจว่าการปฏิรูปวงการสงฆ์จะได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และเห็นผลเป็นรูปธรรมเสียที หลังจากที่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ โดยเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด
สำหรับสาระสำคัญ คือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์คงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุใน คณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
ขณะที่ องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้
สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก
โดยหลักการก็เหมือนกับการ "ถวายคืน" พระราชอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหมด ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้เปิดเผยแนวทางในร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า มาจาก พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ในยุครัชกาลที่ 5 ที่ใช้ต่อเนื่องกันมาถึงรัชกาลที่ 8
ขณะเดียวกัน เป้าหมายก็คือการ "ปฏิรูปวงการสงฆ์" โดยคณะสงฆ์เอง ผ่านทางกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
ที่ผ่านมาแม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันแล้วว่า ถึงเวลาที่จะต้องมีการปฏิรูปวงการสงฆ์เหมือนกับการที่ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ เป็นต้น สำหรับวงการสงฆ์นั้นยังถือว่า "มีความอ่อนไหว" สูง เพราะเสี่ยงที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายสงฆ์ที่เสียประโยชน์นำไปบิดเบือน จนอาจส่งผลสะเทือนไปทั่ว โดยเฉพาะในทางการเมือง จนดำเนินการอย่างรอบคอบ เงียบเชียบ รวดรัดรวดเร็วอย่างที่เห็น
แน่นอนว่าสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" แม้ว่าการแต่งตั้งจะเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่ขณะเดียวกัน จะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราช ก่อนก็ได้
**ที่ผ่านมา หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว "ความเสื่อมศรัทธา" ของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระสงฆ์บางรูป พระราชาคณะบางรูป มีอยู่จริงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป หรือว่าองค์กรปกครองสงฆ์อ่อนแอ ไม่ทันการณ์ หรืออาจจะเป็นทั้งสองอย่าง เหมือนกับที่ นายวิษณุ เครืองาม ยอมรับว่า ตามโครงสร้างเดิมของคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่เป็นชั้นสมเด็จพระราชาคณะ มีอายุมาก และส่วนใหญ่จะอาพาธทำให้ไม่สามารถมีการขับเคลื่อน มส.ได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งยังเป็นที่รับรู้กันว่า ในปัจจุบันมีพระราชาคณะหลายรูปต้องคดีอาญา มีหมายจับ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมันก็เป็นความจริงที่ว่าย่อมนำไปสู่ "ความเสื่อม" ซึ่งความเสื่อมดังกล่าวย่อมหมายถึงวงการสงฆ์ แม้ว่าจะคนละเรื่องกับพระพุทธศาสนา ที่ถึงอย่างไรก็ไม่เสื่อม แต่เมื่อพระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธองค์กำลังเสื่อมศรัทธาลงไปเรื่อยๆ ก็ย่อมส่งผลสะเทือนไปถึงพระพุทธศาสนาตามไปด้วย
ที่สำคัญ โครงสร้างเดิมได้เปิดช่องให้ "การเมือง" เข้าไปแทรกแซงหรือแอบอิงตั้งแต่ระดับมหาเถรสมาคมลงมาดังได้เห็นจากกรณีของ"วัดพระธรรมกาย"ที่เชื่อมโยงกันในทางการเมือง หรือแม้แต่เรื่องกรณี"เงินทอนวัด" เป็นต้นจนสร้างความแตกแยกวุ่นวายตามมา และเมื่อโครงสร้างของ มส.ชุดใหม่กำลังจะครบวาระในอีก 2 เดือนข้างหน้านั่นเท่ากับว่าจะต้องมีการ"รีเซ็ต"ยกชุดทำให้การขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีพลัง มีการสร้างกฎเกณฑ์ที่ออกมาก็เป็นเรื่องของสงฆ์ที่จะกำหนดกันขึ้นมาเอง ทำให้ข้อครหาในเรื่องของฆราวาสไปแทรกแซงสงฆ์ลดลงไป
ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงวัดพระธรรมกาย ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเชื่อมโยงไปในทางการเมืองในเครือข่ายของ "ระบอบทักษิณ" ที่หากไม่ปฏิเสธความจริงก็ต้องรับรู้ว่า เข้ามามีอิทธิพลชี้นำในระดับมหาเถรสมาคมได้เลยทีเดียว แต่เมื่อทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับว่า"ได้ทุกอย่าง" พร้อมๆ กันเลยทีเดียว และแน่นอนเช่นเดียวกันว่าย่อมส่งผลในทางบวกกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคราวเดียวกันด้วย
** ดังนั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับใหม่นี้บังคับใช้ก็น่าจะทำให้มั่นใจว่า "การปฏิรูปวงการสงฆ์" อย่างจริงจัง ก็จะสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลัง เพราะน่าจะเกิดเอกภาพในกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ที่มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลังเสียที !!


กำลังโหลดความคิดเห็น