xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักสูตรการทำอาหารสุขภาพและชะลอวัยระดับยีน ที่เดียวในประเทศไทย ที่ “ม.รังสิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ปัจจุบันด้วยองค์ความรู้และงานวิจัยทั่วโลก ได้ทำให้มนุษย์สามารถที่จะพัฒนาหาความถูกต้องและมีรายละเอียดได้มากขึ้นในเรื่องของการพัฒนาในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “อาหารด้านสุขภาพ”

“อาหารด้านสุขภาพ” นั้นในความเป็นจริงแล้วมีหลายสำนัก เช่น กลุ่มคนที่เป็นมังสิวิรัติ,กลุ่มคนกินปลา, กลุ่มแมคโครไบโอติก, อาหารกลุ่มเมดิเตอร์ริเนียน, กลุ่มอาหารที่เน้นไขมันสูง คีโตเจนิก ฯลฯ

ท่ามกลางความหลากหลายของอาหาร ก็ได้สร้างความสับสนให้กับคนรักสุขภาพอย่างมาก เพราะในบางเรื่องนั้นอยู่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่สนับสนุนให้กินไขมันสูงๆ เน้นให้กินเนื้อสัตว์มากๆที่เรียกว่ากลุ่มอาหารคีโตเจนิก (Ketogenic Diet) ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับกลุ่มอาหารมังสวิรัติที่กินอาหารที่เป็นพืชเป็นหลักโดยไม่กินเนื้อสัตว์เลย (Vegetarian) หรือ อาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ (Vegan) ซึ่งถึงขนาดว่าไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วย คือไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม และไม่กินไข่ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาหารแต่ละกลุ่มมีจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง เพียงแต่ว่างานวิจัยยุคใหม่จะทำให้เรารู้ว่าอาหารแต่ละกลุ่มนั้นเหมาะกับใครและในสถานการณ์ไหน

กรณีตัวอย่างข้างต้น ได้แก่ อาหารคีโตเจนิกที่เน้นไขมันสูงเอาไว้ เพื่อทำสงครามกับคาร์โบไฮเดรต เมื่อได้รับคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งรวมถึงแป้งและน้ำตาลทุกชนิด และใช้พลังงานจากสารคีโตนมาแทนกลูโคส การกินอาหารประเภทนี้ย่อมมีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคอ้วน ลดพุง [1] และโรคเบาหวาน [2] รวมถึงลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ [3] อย่างไรก็ตามอาหารที่เน้นไขมันสูงโดยรวมกลับมีผลเสียอีกด้านหนึ่งคือทำให้นอนไม่หลับและคุณภาพการนอนลดลง [1],[2] และถ้าเลือกไขมันไม่ถูกต้องก็จะทำให้ความสามารถในกระบวนการคิดของสมองลดลงด้วย [4]-[7]

ในเรื่องประโยชน์ของไขมันสูง ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเน้นไขมันสูงแล้วจะกินอะไรก็ได้ที่มีไขมันสูง เพราะในความเป็นจริงแล้วจะต้องขึ้นอยู่กับชนิดของไขมันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อแปรรูปมาก หรือเนื้อแดงมาก ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ได้ด้วย ทั้งนี้ได้มีปรากฏข้อมูลดังกล่าวในรายงานของสำนักงานวิจัยระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agent for Research on Cancer) ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า อาหารที่มาจากเนื้อแปรรูป (ไม่ว่าจะเป็นเนื้อทำจากอะไรก็ตาม เช่น ลูกชิ้น, เบคอน, ไส้กรอก, แฮม ฯลฯ) เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ และเนื้อแดงทุกชนิด (หมู วัว แพะ แกะ) อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งลำไส้ [8]

แม้การกินไขมันสูงจะมีประโยชน์และความโดดเด่นในเรื่องลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับชนิดอาหารและชนิดของไขมันส่วนอื่นๆด้วยว่ามาร่วมกับโปรตีนในรูปอะไร

การบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากขึ้น และการบริโภคโปรตีนจากพืชจะมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามคือทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมลดลง และรวมถึงความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรรวมไปถึงที่กำลังจะอ้วน ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ กำลังจะอ้วน และออกกำลังกายน้อย การทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเนื้อแดง จะทำให้อัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลง แสดงให้เห็นว่าต้องขึ้นอยู่กับชนิดของโปรตีนที่มาควบคู่กับไขมันด้วย [9]

และชนิดของไขมันก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแม้ว่างานวิจัยในยุคหลังจะพบโดยรวมแล้วไขมันอิ่มตัวจะไม่ใช่สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่เมื่อแยกแยะชนิดของไขมันอิ่มตัว ก็กลับพบว่าไขมันจากเนื้อสัตว์โดยตรงเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ผลกับตรงกันข้ามกับไขมันอิ่มตัวที่ได้จาก นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ [10]

อย่างไรก็ตามแม้เราจะมีข้อมูลและองค์ความรู้จากงานวิจัยที่จะเลือกไขมันอิ่มตัวจากสัตว์จากงานวิจัยได้ดีขึ้นแล้ว แต่เนื้อสัตว์ นม เนย ชีส ก็กลับมีผลเสียโดยรวมอีกด้านหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลายชนิดมากขึ้นอยู่ดี [11]

ดังนั้นเมื่อคิดจะลดความเสี่ยงโรคมะเร็งโดยรวมก็ต้องหันไปหาแหล่งอาหารที่เป็นพืชมากขึ้น จริงไหม?

อาหารที่มีฐานเป็นพืชที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว คือนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) กลุ่มที่นอกจากจะไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด ยังไม่กินผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ด้วย แม้จะมีความโดดเด่นในเรื่องการลดปัญหาความเสี่ยงจากอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งโดยรวม แต่ทว่านักมังสวิรัติมีโอกาสที่จะเสี่ยงเสียชีวิตในเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกินแป้งและน้ำตาลมาก กินเนยเทียม ไขมันทรานส์มาก กินไขมันผัดทอดด้วยไขมันไม่อิ่มตัวมาก ขาดความสมดุลในเรื่องไขมันโอเมก้า 6 กับ ไขมันโอเมก้า 3 ขาดวิตามินบี 12 ซึ่งรายละเอียดเป็นไปตามงานวิจัยที่ผู้เขียนเคยเขียนมาแล้วถึงสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของนักมังสวิรัติ [12]

ตัวอย่างตามที่ปรากฏเนื้อหาข้างต้น แสดงให้เห็นได้ว่าความเข้าใจในด้านอาหารจำเป็นต้องมีรายละเอียดที่มากขึ้น เพื่อลดจุดอ่อนของอาหารแต่ละประเภท และคัดเลือกจุดแข็งในรายละเอียดยิ่งกว่าเดิมของอาหารแต่ละประเภท ซึ่งสำหรับประชาชนทั่วไปการทำอาหารในกลุ่มนี้ถือได้ว่ามีความยากพอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่จะนึกไม่ออกว่าจะทำและกินอาหารแบบไหนดี ที่จะเหมาะสมกับตัวเอง

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ในหลักสูตร วิถีชีวาเวชศาสตร์ (Lifestyle Medicine) รุ่นที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จัดโดยสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดสอนประชาชนทั่วไปที่รักสุขภาพได้เรียนรู้วิชาหนึ่งที่เรียกว่า “โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาถึงงานวิจัย” ซึ่งให้ผู้เรียนเข้าใจในเรื่องอาหารผ่านภูมิปัญญาด้านรสอาหารของแพทย์แผนอายุรเวทอินเดีย และแพทย์แผนไทย ตลอดจนความสมดุลหยินหยางของแพทย์แผนจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สอนลึกลงไปถึงข้อมูลงานวิจัยแยกแยะในรายละเอียดของ “ชนิดโปรตีน ชนิดของคาร์โบไฮเดรต และชนิดของไขมัน” ที่ให้ผลต่อสุขภาพไม่เหมือนกัน ทำให้องค์ความรู้ด้าน “รสอาหาร” ของแพทย์อายุรเวทและแพทย์แผนไทยซึ่งมีภูมิปัญญาในการคัดเลือกรสอาหารที่เหมาะสมกับเวลาที่เกิด วัย ฤดูกาล และประเทศที่อยู่อาศัย ตลอดจนอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ ได้ถูกเจียรไนประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องในรายละเอียดมากขึ้นผ่านงานวิจัยยุคใหม่ อีกทั้งยังสอนให้ผู้เรียนได้ค้นข้อมูลงานวิจัยอย่างถูกต้องด้วยตัวเองเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และแสวงหาข้อเท็จจริงโดยไม่ให้เชื่อไลน์หรือเฟสบุ๊คที่ส่งต่อๆกันมาอย่างเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในเรื่องอาหารที่มีต่ออายุขัยนั้น ได้มีการสอนหลักการสำคัญของอาหารที่มีผลทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์และการแบ่งเซลล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อหางของโครโมโซมที่เรียกว่า “เทโลเมียร์ (Telomere)”สั้นลงอย่างไร รวมไปถึงการสอนเรื่องผลกระทบของอาหารแบบไหนที่ยีนถูกเปิดเพื่อทำให้โปรตีนฟอกโซ (Forkhead box 'Other' (FoxO) proteins) ทำหน้าที่ซ่อมยีนได้ทำหน้าที่ของตัวเอง รวมถึงการคัดเลือกอาหารและส่วนผสมของอาหารตลอดจนวิธีปรุงอาหารที่จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระให้น้อยที่สุด หรือทำให้มีสารต้านอนุมูลอิสระให้มากที่สุด ซึ่งภายในหลักสูตรนี้เองนอกจากจะมีผู้ทดลอง “เปลี่ยนอาหาร” จนสามารถลดน้ำหนักและลดรอบเอวภายใน 2 สัปดาห์แล้ว ยังปรากฏว่าบางคนที่ทดลองในหลักสูตร “กระบนใบหน้าหายไป”โดยไม่ต้องใช้ครีมทาหรือใช้ยาหรือสมุนไพรอะไรเลย

ในความเป็นจริงแล้วเหตุของโรคร้ายที่เกิดขึ้นในมนุษย์มีหลายปัจจัยทั้งด้าน อาหาร สิ่งแวดล้อม การขับถ่าย อารมณ์ ฯลฯ ในบางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้รู้ว่าพฤติกรรมหรืออาหารชนิดไหนเป็นปัจจัยที่ทำให้ป่วยหรือหายป่วย ดังนั้นในหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 จึงได้เชิญผู้ป่วยโรคมะเร็งบางคนที่หายป่วยได้โดยไม่ได้ใช้เคมีบำบัดหรือการฉายรังสีเลย มาเล่าประสบการณ์ตรงให้ผู้เข้าเรียนได้เรียนรู้และซักถามว่าผู้ป่วยเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างไรและรับประทานอาหารกันอย่างไรที่ทำให้เอาชีวิตรอดมาได้ 6-7 ปี จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในเรื่องประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยแล้ว ยังได้เปิดงานวิจัยแสดงผลในเรื่องอาหารกระตุ้นมะเร็ง และอาหารที่มีผลในการซ่อมยีน Tp53 ซึ่งเป็นยีนที่มีบทบาทในการซ่อมยีนและกำจัดเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงการเรียนรู้ด้านอาหารแบบไหนที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวที่ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง ที่เรียกว่า เอ็นเค เซลล์ (Natural Killer Cell หรือ NK Cell) ด้วย

นอกจากนั้นหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ที่ผ่านมา ยังได้สอน “ลำดับการกินอาหาร” และ “ประเภทอาหาร” เพื่อเอาชนะโรคยอดฮิตในปัจจุบัน ทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูก โรคไขมันแทรกตับ ฯลฯ

ความจริงแล้วในเรื่องอาหารเปลี่ยนยีน หรืออาหารซ่อมยีน หรืออาหารชะลอวัยไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักโภชนาการ เพียงแต่ว่างานวิชาการด้านโภชนาการส่วนใหญ่มันเน้นหนักไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากกว่าที่จะเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน เพราะนักวิจัยด้านโภชนาการบำบัดที่เน้นงานทางวิทยาศาสตร์อาจให้น้ำหนักในเรื่องสารสำคัญโดยไม่สันทัดด้านศิลปะการปรุงอาหารให้อร่อย ในขณะที่เชฟหรือนักปรุงอาหารส่วนใหญ่มักเน้นในเรื่องงานศิลปะในการปรุงอาหารให้มีรสชาติอร่อยมากกว่าจะเข้าใจในเรื่องงานวิจัยอาหารและสุขภาพในระดับยีน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดหลักสูตรต่อเนื่องจากหลักสูตรวีถีชีวาเวชศาสตร์ มีชื่อว่า หลักสูตรการทำอาหารสุขภาพและชะลอวัยระดับยีน (Cooking Course: Healthy and Anti-Aging Genomic Diet) เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการ “ภาคปฏิบัติ” ในการทำอาหารสุขภาพที่มาจากฐานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาจนถึงงานวิจัย ผนวกเข้ากับศิลปะการปรุงอาหารให้อร่อยและสวยงาม เพื่อประโยชน์สำหรับคนในครอบครัว หรือเพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจที่จะเชื่อมโยงกับศูนย์สุขภาพ คลีนิกด้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ

หลักสูตรดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและการอนุเคราะห์ครัวและอุปกรณ์การเรียนการสอนของวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นห้องครัวสำหรับการเรียนเป็นเชฟที่ทันสมัยและดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยการสอนในหลักสูตรดังกล่าวจะเรียนทุกวันเสาร์เต็มวันตั้งแต่ประมาณต้นเดือน สิงหาคม ถึงประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2561

แต่เนื่องด้วยหลักสูตรดังกล่าวนี้เน้นในเรื่องคุณภาพของการเรียนการสอนภาคปฏิบัติมากกว่าจะสนใจจำนวนผู้เข้าเรียน ดังนั้น “การเปิดสอนจึงรับได้จำนวนจำกัด” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยเข้าเรียนหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์มีสิทธิ์ที่สมัครได้ก่อนจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้มีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องหลักคิดในด้านอาหารและสุขภาพองค์รวมครบถ้วนแล้ว โดยไม่ต้องเสียเวลาปูพื้นทางด้านวิชาการอีก จึงสามารถใช้เวลาสอนเรื่องข้อมูลทางโภชนาการในรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามหากภายหลังวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ยังพอเหลือที่นั่งและชุดเตาให้กับผู้เรียนที่ไม่เคยเรียนหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ ก็จะเปิดรับสมัครสำหรับคนทั่วไป แต่จะต้องมีการเรียนปรับพื้นฐานบางวิชาก่อนการฝึกภาคปฏิบัติ โดยมีกำหนดการดังนี้

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม - วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561รับสมัครสำหรับบุคคลทั่วไป

ภาคการเรียนที่ 1 อาหาร Vegan Ketogenic Diet และอาหาร Low Glycemic Index/High Fiber Vegan Diet เป็นอาหารไขมันชนิดดีสูง ไฟเบอร์สูง ไร้แป้ง ไร้น้ำตาล ไร้เนื้อสัตว์ และไร้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เกิดอนุมูลอิสระให้น้อยที่สุด เพื่อทำให้เทโลเมียร์หรือหางโครโมโซมสั้นช้าที่สุดอันจะนำไปสู่การชะลอวัยให้ได้มากที่สุด กระตุ้นการทำงานของโปรตีน Forkhead box Other (FoxO) proteinsเพื่อซ่อมแซมยีนและต้านอนุมูลอิสระ

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561เวลา 9.00 น. - 16.00 น. เฉพาะผู้สมัครเรียนที่ไม่เคยเข้าหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ ปรับพื้นฐานภาคทฤษฎีรับชมเทปการบรรยาย โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาถึงงานวิจัย ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.- 16.00 น. ภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจำนวน 3 เมนู
วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561 วันหยุด
วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น. - 16.00 น.ภาคปฏิบัติจำนวน 3 เมนู
วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.- 16.00 น.“สอบ” ผู้เข้าเรียนออกแบบและสร้างสรรเองตามโจทย์ที่กำหนดให้ จำนวน 3 เมนู

ภาคการเรียนที่ 2 อาหาร Super Anti Oxidant Ingredients ว่าด้วยการใช้เครื่องปรุงและส่วนประกอบอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก โดยใช้องค์ความรู้ ข้อมูลและงานวิจัยยุคปัจจุบัน ผสมผสานเขากับภูมิปัญญาด้านรสอาหารของแพทย์แผนไทยและอายุรเวท (เฉพาะผู้ที่ผ่านการเรียนหลักสูตรภาคการเรียนที่ 1)

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.-16.00 น.ภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจำนวน 3 เมนู
วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น. -16.00 น. ภาคปฏิบัติจำนวน 3 เมนู
วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.-16.00 น.“สอบ” ผู้เข้าเรียนออกแบบและสร้างสรรเองตามโจทย์ที่กำหนดให้ จำนวน 3 เมนู

ภาคการเรียนที่ 3 Vegan Ketogenic Bakery เป็นอาหารเบเกอรี่ด้านสุขภาพที่ไม่ใส่น้ำตาล ดัชนีน้ำตาลต่ำสุด ปราศจากเนื้อ นม ไข่ และไม่มีไขมันทรานส์โดยยังคงเป้าหมายให้มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ในรูปแบบของเบเกอรี่ จัดเป็นโจทย์เมนูอาหารประเภทหนึ่งที่ทำได้ยากที่สุดในวงการอาหารสุขภาพ (เรียนได้เฉพาะผู้ที่ผ่านการเรียนหลักสูตรภาคการเรียนที่ 1 และ 2 แล้ว)

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.-16.00 น.ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จำนวน 3 เมนู
วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.-16.00 น. ภาคปฏิบัติ จำนวน 3 เมนู
วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9.00 น.-16.00 น.“สอบ” ผู้เข้าเรียนออกแบบและสร้างสรรเองตามโจทย์ที่กำหนดให้ จำนวน 3 เมนู

รวม 3 ภาคการเรียน จะเรียนตัวอย่างและลงมือปฏิบัติปรุงอาหารทั้งสิ้น 18 เมนู และผู้เรียนคิดและสร้างสรรเองในการสอบรวม 9 เมนู โดยผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรที่ 3 ภาคการเรียนแล้ว จะได้รับประกาศนียบัตร จากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับเสื้อเชฟของสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิตอีกด้วย

สนใจสมัครเรียนหลักสูตรดังกล่าวเรียงลำดับคิวตามจำนวนที่เหลือได้ที่ สถาบันรังสิตวิชชาลัย หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-5681, 02-791-5683, 02-791-5684

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] Willi SM, Oexmann MJ, Wright NM, Collop NA, Key LL., Jr The effects of a high-protein, low-fat, ketogenic diet on adolescents with morbid obesity: body composition, blood chemistries, and sleep abnormalities.Pediatrics.1998;101(1 Pt 1):61-7. doi: 10.1542/peds.101.1.61.[PubMed]

[2] Snorgaard O, Poulsen GM, Andersen HK, Astrup A. Systematic review and meta-analysis of dietary carbohydrate restriction in patients with type 2 diabetes.BMJ Open Diabetes Research & Care. 2017;5(1):e000354. doi:10.1136/bmjdrc-2016-000354.

[3] Bueno NB, de Melo IS, de Oliveira SL, et al.,Very-low-carbohydrate ketogenic diet v low-fat diet for long-term weight loss: a meta-analysis of randomised controlled trials, British Journal of Nutrition, Publish online : 07 May 2013,
https://doi.org/10.1017/S0007114513000548

[4] Kalmijn S, Launer LJ, Ott A, Witteman JC, Hofman A, Breteler MM. Dietary fat intake and the risk of incident dementia in the Rotterdam Study.Ann Neurol.1997;42(5):776-82. doi: 10.1002/ana.410420514. [PubMed]

[5] Morris MC, Evans DA, Bienias JL, Tangney CC, Wilson RS. Dietary fat intake and 6-year cognitive change in an older biracial community population. Neurology.2004;62(9):1573-9. doi: 10.1212/01.WNL.0000123250.82849.B6.[PubMed]

[6] Zhang J, McKeown RE, Muldoon MF, Tang S. Cognitive performance is associated with macronutrient intake in healthy young and middle-aged adults.Nutr Neurosci.2006;9(3-4):179-87. doi: 10.1080/10284150600955172. [PubMed]

[7] Ortega RM, Requejo AM, Andres P, Lopez-Sobaler AM, Quintas ME, Redondo MR, Navia B, Rivas T. Dietary intake and cognitive function in a group of elderly people. Am J Clin Nutr.1997;66(4):803-9.[PubMed]

[8] International Agent for Research on Cancer, World Health Organisation, List of Classifications by cancer sites with sufficient or limited evidence in humans, Volumes 1 to 121 a
http://monographs.iarc.fr/ENG/Classification/Table4.pdf

[9] Song M, Fung TT, Hu FB, et al. Animal and plant protein intake and all cause and cause-specific mortality : results from two prospective US cohort studies. JAMA internal medicine. 2016;176 (10) : 1453-1463 doi: 10.1001/jamaternmed.2016.4182

[10] De Oliveira Otto MC, Mozaffarian D, Kromhout D, et al. Dietary intake of saturated fat by food source and incident cardiovascular disease: the Multi-Ethnic Study of Atherosclerosis. The American Journal of Clinical Nutrition. 2012;96(2):397-404. doi:10.3945/ajcn.112.037770.

[11] O’Sullivan TA, Hafekost K, Mitrou F, Lawrence D. Food Sources of Saturated Fat and the Association With Mortality: A Meta-Analysis. American Journal of Public Health. 2013;103(9):e31-e42. doi:10.2105/AJPH.2013.301492.

[12] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดงานวิจัย "คนกินเจ" จะตายด้วยโรคอะไร !?, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, คอลัมน์ ณ บ้านพระอาทิตย์, เผยแพร่โดย: MGR Online: 20 ต.ค. 2560 17:38
https://mgronline.com/daily/detail/9600000106678




กำลังโหลดความคิดเห็น