หลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ไม่นาน ประเทศไทยถูกกล่าวหาจากองค์กรระหว่างประเทศ และชาติที่เป็นคู่ค้าธุรกิจ ในเรื่องการดำเนินงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ขัดกับหลักปฏิบัติสากล 3 เรื่องใหญ่ติดต่อกันในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน
เรื่องแรก คือ องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO บอกว่า กรมการบินพลเรือน ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานสายการบินพาณิชย์ของไทย “สอบตก” ในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยของสายการบิน จึงชัก “ธงแดง” เตือนให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รู้ว่า สายการบินพาณิชย์ไทยมีความเสี่ยงในเรื่อง มาตรฐานความปลอดภัย
ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ สายการบินของไทยไม่สามารถเปิดจุดบินใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ จนกว่ากรมการบินพลเรือนจะปรับปรุงแก้ไขการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน ให้เป็นที่พอใจของ ICAO ยอมลดธงแดงออกจากประเทศไทย
เรื่องที่สอง คือ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ลดอันดับประเทศไทย ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons หรือ TIP Report) ประจำปี 2557 จากอันดับ Tier 2 Watch List ลงมาอยู่ในระดับต่ำสุด คือ Tier 3 คือ มีการดำเนินการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และรัฐบาลไทยไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
การถูกลดอันดับไปอยู่ใน Tier 3 อาจถูกรัฐบาลสหรัฐฯ “ทำโทษ” ด้วยการตัดความช่วยเหลือด้านต่างๆ หรือปิดกั้นกีดกันการนำเข้าสินค้าจากไทย โชคดีที่สหรัฐฯ ยังไม่ได้ลงโทษประเทศไทย แต่การถูกตราหน้าว่า เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ ทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย และถูกนำไปใช้เป็นเหตุผลหนึ่งของประชาคมยุโรป หรืออียูในการให้ “ใบเหลือง” กับอุตสาหกรรมประมงของไทย
เรื่องที่สาม คณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศให้ “ใบเหลือง” คือ การแจ้งเตือนประเทศไทย ถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือกฎ IUU (illegal, unreported and un regulated fishing)
อียูให้เวลาประเทศไทยในการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามประเมินการแก้ไข หากทำไม่ได้ จะโดนใบแดงขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ และจะถูกลงโทษจากอียู ด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย
การชักธงแดง ICAO ถูกลดอันดับไปอยู่ Tier 3 และใบเหลือง IUU ประมง เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน หลัง คสช.ยึดอำนาจไม่นาน จึงถูกมองว่า เป็นมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ และอียูต่อรัฐบาล คสช.ที่เป็นเผด็จการทหาร
ความจริงแล้ว เรื่องเหล่านี้ไทยถูกเตือนมานานแล้ว ปัญหามาตรฐานการกำกับดูแลสายการบิน การค้ามนุษย์ การทำประมงที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้น และสั่งสมมาในรัฐบาลชุดก่อนๆ โดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่มาเป็นเรื่องในรัฐบาล คสช. เพราะว่าเงื่อนเวลาเส้นตายที่ต้องแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ บังเอิญมาตกในช่วงที่ ประเทศไทยเว้นวรรคประชาธิปไตยพร้อมๆ กัน
ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญ เพราะถ้าแก้ไม่ได้ จะสร้างความเสียหายในเรื่องธุรกิจการบิน และธุรกิจประมง และจะส่งผลกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ICAO ประกาศปลดธงแดงออกจากประเทศไทย หลังจากตรวจสอบมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยของสายการบินแล้ว พบว่า ประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานของ ICAO แล้ว
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2559 ปรับสถานะของไทยจากอันดับ Tier 3 ขึ้นมาเป็นTier 2 watch list
สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2561 ไทยได้รับการปรับสถานะอีกครั้งหนึ่งขึ้นมาอยู่ใน Tier 2 ซึ่งเป็นอันดับเดิมของไทยในปี 2552 ก่อนที่ในปีต่อมาจะถูกลดอันดับลงมาอยู่ใน Tier 2 watchlist และ Tier 3 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุด
รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2561 ระบุว่า ไทยมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในการจัดทำรายงานฉบับที่แล้ว จึงมีการปรับอันดับขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Tier 2
รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้น ในการฟ้องร้อง และตัดสินคดีนักค้ามนุษย์มากขึ้น ทั้งยังลดขั้นตอนในการฟ้องร้องคดีค้ามนุษย์ ผ่านการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ยังมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่า จะสมรู้ร่วมคิดกับการก่ออาชญากรรมในด้านนี้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 มีการตัดสินคดีค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่ 12 คนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ผู้อพยพชาวโรฮิงญา
ตอนนี้ก็เหลือใบเหลืองอียู IUU ประมงที่ยังปลดไม่ออก อียูส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ผลยังไม่เป็นที่พอใจ จึงให้เวลาอีก 4 เดือนจะกลับมาตรวจการบ้านอีก เพื่อตัดสินว่า จะให้ใบเหลืองต่อหรือจะปลดใบเหลืองให้