xs
xsm
sm
md
lg

“ประชาธิปไตยพลังงาน” คือคำตอบ : แก้โลกร้อน ลดความเหลื่อมล้ำและคืนอำนาจให้ท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


คำว่า “ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy)” เป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2554 นี่เองครับ โดยเกิดจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศเยอรมนี รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วยซึ่งความหมายของคำที่ได้รับการสรุปและยอมรับร่วมกันในอีกหนึ่งปีต่อมาว่าคือ

“ประชาธิปไตยพลังงานหมายถึง (1) การมีหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเพียงพอ (2) การผลิตทุกขั้นตอนต้องไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีพิษภัยต่อประชาชน กล่าวให้ชัดกว่านี้ก็หมายความว่า (3) แหล่งพลังงานฟอสซิลต้องถูกเก็บไว้ใต้ดิน (4) วิธีการผลิตจำเป็นต้องถูกกำกับและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมและ (5) ต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติในการบริโภคพลังงาน (หรือการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ)” (http://www.rosalux.eu/publications/strategies-of-energy-democracy-a-report/)

นั่นคือ ประชาธิปไตยพลังงานเป็นการเชื่อมโยงเชิงนโยบายระหว่างความเป็นธรรมในสังคม และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยน้ำมือของมนุษย์เอง

เป้าหมายสำคัญของประชาธิปไตยพลังงานคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% โดยใช้ “3Rs, resist-reclaim-restructure” ในการจัดองค์กรเพื่อไปสู่เป้าหมาย คือ การต่อต้าน (Resist) พลังงานฟอสซิลเพราะเป็นต้นเหตุของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการทวงคืน (Reclaim) สิทธิให้สังคมและสาธารณะเข้าควบคุมกิจการพลังงานเพราะพลังงานเป็นทั้งสินค้าและเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและการปรับโครงสร้างใหม่ (Restructure) ของระบบพลังงานโลกเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างงานและความยั่งยืน

“พลังงานเป็นสินค้าที่มีคุณค่า แต่การเข้าถึงพลังงานก็เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้น ถ้าเราปล่อยให้กิจการพลังงานถูกขับเคลื่อนด้วยการหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน และถ้าเราเอาความจริงที่ว่าบรรษัทพลังงานต่างๆ กำลังปล่อยของเสียให้กับโลกและทำลายสิ่งแวดล้อมของเราเข้ามาพิจารณาด้วย จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องเปลี่ยนระบบพลังงานของโลกอย่างขนานใหญ่ เพื่อไม่ให้กิจการพลังงานอยู่ในมือของผู้ที่มุ่งหวังจะได้เงินมากขึ้นๆ เท่านั้น” (คำพูดของ Nick Dearden จากองค์กร Global Justice Nowจาก Energy DemocracyDiscussions and outcomes froman international workshop, Amsterdam 2016)

เพื่อให้องค์ประกอบของความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตยพลังงาน” มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผมขอยกเอา “เสา 5 หลักของประชาธิปไตยพลังงาน” ซึ่งนำเสนอโดย Dr.John Farrell แห่งสถาบันเพื่อการพึ่งตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance-ก่อตั้งปี 1974) ดังภาพประกอบครับ

เสา 5 หลักดังกล่าวคือ (1) มีความยืดหยุ่น (Flexible) (2) มีประสิทธิภาพ (Efficient) (3) คาร์บอนต่ำ (Low-Carbon) (4) ควบคุมโดยท้องถิ่น (Local) และ (5) มีความเป็นธรรม (Equitable)

เคยมีคำถามในเชิงไม่เห็นด้วยกับการส่งเสริมให้ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วจะกำจัดขยะดังกล่าวอย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็เคยถามในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”

คำถามดังกล่าวถ้าไม่มาจากคนที่ไร้เดียงสาก็น่าจะมาจากพ่อค้าพลังงานฟอสซิล เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาใดอันตรายมากกว่ากันระหว่างปัญหาโลกร้อนกับขยะจากโซลาร์เซลล์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากวัสดุธรรมชาติ

จากการสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วโลกโดย World Economic Forum ประจำปี 2017 (ซึ่งสำรวจทุกปี) พบว่าประเด็นที่พวกเขาห่วงใยมากที่สุดติดต่อกันมา 3 ปีแล้วคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองลงมาอันดับสองคือปัญหาความขัดแย้งและสงคราม และอันดับสามคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ (http://www.businessinsider.com/world-economic-forum-world-biggest-problems-concerning-millennials-2016-8)

ร้อยละ 78 ของผู้ที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาโลกร้อนได้แสดงความเห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม (คนที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงคือบรรดาผู้นำประเทศ)

ประโยคที่อยู่ในเครื่องหมายวงเล็บคือความเห็นของผมเองครับ

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วโลกทั้ง 3 ปัญหาดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตยพลังงานทั้ง 3 ข้อราวกับได้วางแผนล่วงหน้ากันมาก่อน

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “ประชาธิปไตยพลังงานคือคำตอบที่แท้จริง”

ขออีกนิดครับ บางคนอาจจะคาดหวังกับข้อตกลงปารีสที่แต่ละประเทศได้ช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แต่จากการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ถ้าต้องการจะให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสในปี 2100 คนทั้งโลกจะต้องหยุดการปล่อยก๊าซทั้งหมดภายในประมาณปี 2070 และต้องหยุดตลอดไป

นี่คือความจำเป็นและภาคบังคับที่ชาวโลกจะต้องปฏิบัติให้ได้ หรือที่เรียกว่า “Do or Die.”

นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ

ประชาธิปไตยพลังงานเป็นทั้งแนวคิดและการกระทำอย่างเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ “ประชาธิปไตย (เฉยๆ)” มักจะเป็นแค่แนวคิดที่จะนำไปปฏิบัติจริงก็ต่อเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งจะทำจริงตามสัญญาหรือไม่ก็ยากที่จะควบคุม

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมภาคประชาสังคมไทยจึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานน้อยไปหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาธิปไตยพลังงานทั้งๆ ที่เวลานี้เป็นเวลาเหมาะสมที่จะต่อรองกับพรรคการเมือง

ช่วยผมคิดหน่อยครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น