ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
จากบทความในตอนที่แล้วเรื่อง เปิดบันทึก มรดกภูมิปัญญาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๓ “รักษาโรคมะเร็งตับ”[1] อันเป็นการสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับของประเทศไทยในปัจจุบัน กับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่พระราชทานในการรักษาโรคที่น่าจะเป็นโรคมะเร็งตับที่ถูกบันทึกเอาไว้ในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)นั้นทำให้สรุปความได้ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ปัจจุบันประชาชนชาวไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยในบรรดาสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนั้นมาจากโรคมะเร็งตับมากที่สุด [2]
ประการที่สอง แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับของแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก และผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยมีอัตรารอดชีวิตในระยะเวลา ๕ ปี ต่ำที่สุดในโลก คือมีอัตราการรอดชีวิตไม่ถึงร้อยละ ๙ [3],[4] โดยส่วนใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยเสียชีวิตภายในปีแรกเมื่อตรวจพบมะเร็งตับ ดังนั้นโรคมะเร็งตับจึงรักษาได้ยากยิ่งแม้ว่าจะใช้วิทยาการสมัยใหม่ของแพทย์แผนปัจจุบันก็ตาม
ประการที่สาม สาเหตุการเสียชีวิตโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทยนั้น มาจากพยาธิใบไม้ Opisthorchis viverrinมากที่สุด และการเกิดโรคดังกล่าวมีความชุกชุมในประเทศไทยมากที่สุดในโลก [5]
ดังนั้น ลักษณะการบริโภคของคนไทยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีจากพยาธิใบไม้จึงเกิดขึ้นมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่กินอาหารดิบๆสุกๆและแหล่งน้ำที่มีพยาธิใบไม้ชุกชุมของประเทศไทยในภาคอีสานและภาคเหนือที่มีมานานแล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยน่าจะรู้จักโรคมะเร็งตับมานานแล้ว และอาจจะมีวิธีการรักษาแบบภูมิปัญญามาตั้งแต่ในอดีตก็ได้
ประการที่สี่ จากการตรวจสอบในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พบภูมิปัญญาพระราชทานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในวิชาการสาขาต่างๆ ค้นคว้า รวบรวมตรวจสอบและคัดสรรตำราวิชาการต่างๆให้ถูกต้อง แล้วให้จารึกลงบนแผ่นศิลาประดิษฐานไว้ตามเสนาสนะภายในวัดโพธิ์ ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงโรคที่อาจจะมีความคล้ายคลึงหรืออาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับและตำรับยาที่ใช้รักษาอยู่หลายชนิด ได้แก่ กษัยลิ้นกระบือ, ฝีรวงผึ้ง, สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน, มานน้ำ [6],[7]
แม้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ได้มีการใช้ตำรับยากับหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลองเหมือนในยุคปัจจุบัน แต่ตำรับยาในอดีตนั้นได้ใช้ “ชีวิตมนุษย์เป็นเดิมพัน”จากรุ่นสู่รุ่นโดยมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตทำการตรวจสอบ อีกทั้งยังให้ผู้ที่เป็นหมอยาที่เคยใช้ยาเหล่านั้นสาบานว่าข้อความที่จะบันทึกนั้นเป็นความจริง หลังจากนั้นจึงแกะสลักบันทึกเอาไว้ในแผ่นศิลาให้เป็นประโยชน์ต่อราษฎรทั้งหลาย การบันทึกในแผ่นศิลาเพื่อความ “คงทน”จนสามารถตกทอดมาได้แม้จะผ่านมาเป็นเวลากว่า ๑๗๐ ปีแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนในยุคนั้นมีความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพียงใด
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่าหนังสือตำราสมุนไพรพื้นบ้านเดิมมีการกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เนื่องจากเป็นสมุดคู่มือสำหรับผู้สนใจและรักต่อการศึกษาวิชาแพทย์ จึงเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตนบ้าง บันทึกเพิ่มเติมไปตามความเข้าใจบ้าง ทำให้มีฉบับที่ไม่ครบหรือคลาดเคลื่อนกันมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่า คัมภีร์แพทย์ไทยที่ได้บันทึกความรู้อันมีคุณประโยชน์แก่แผ่นดินและใช้ศึกษาสืบต่อกันมา ได้เริ่มสูญหายและคลาดเคลื่อนมากแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์เป็นแม่กองจัดหารวบรวม ชำระสอบสวนตำรับคำภีร์แพทย์ที่ใช้กันอยู่ขณะนั้นให้ถูกต้องดี แล้วส่งมอบให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมอาลักษณ์ กรมอักษรีพิมพการจัดสร้างขึ้นใหม่เป็น “คัมภีร์แพทย์ฉบับหลวง” ต้นฉบับเป็นสมุดไทย ซึ่งจัดทำขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๑๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างจากการจัดทำศิลาจารึก ปฏิสังขรณ์และขยายขอบเขตวัดโพธิ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ประมาณ ๒๓ ปี
แน่นอนว่าในช่วง ๒๓ ปีนั้น น่าจะมีทดลองการใช้ตำรับยาต่างๆตามศิลาจารึกไปพอสมควร ทำให้สามารถจะมีความชัดเจนว่าศิลาจารึกแผ่นใดได้ผลจริงมากน้อยเพียงใด และถ้าตำรับยาใดได้มีการใช้จนรู้ผลแล้วเราอาจทราบได้จากการเปลี่ยนแปลงของตำรับยาและวิธีการรักษา รวมถึงการคัดเลือกใช้หรือเลิกใช้คัมภีร์หรือตำรับยาต่างๆ แต่ก็มิได้แปลว่าคัมภีร์หรือตำรับยาที่ถูกตัดออกไปจะใช้ไม่ได้เสมอไป แต่อาจจะเป็นเพราะ ในเวลานั้นต้องคัดคัมภีร์มาเท่าที่จำเป็นและทำได้ในสภาพที่มีแพทย์แผนฝรั่งมาสอนวิชาแพทย์กดดันควบคู่กันอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นด้วย
โดยเฉพาะในส่วนของโรคที่มีความเกี่ยวพันกับโรคมะเร็งตับนั้นอาจจะตีความโดยภาพรวมว่าคล้ายกันในศิลาจารึกบางแผ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ส่งผลทำให้การใช้ตำรับยาแตกต่างกันไปด้วย (เช่นกรณี กษัยลิ้นกระบือ มานน้ำ ฝีรวงผึ้ง และ สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน)
ภายหลังจากการชำระตรวจสอบจนได้มาเป็น ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ (ตามภาพประกอบที่ ๑ รูปซ้ายบน) แล้ว ปรากฏว่าในส่วนที่อาจจะมีการเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับเมื่อเปรียบเทียบกับศิลาจารึกของวัดโพธิ์มีความแตกต่างและเหมือนกันดังนี้

๑. จากเดิมที่ “ฝีรวงผึ้ง”แยกออกมาต่างหากในศิลาจารึก โดยกล่าวถึงอาการแน่นชายตับเบื้องขวา ให้ยอกตลอดสันหลัง ให้ตัวเหลืองหน้าเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง สะบัดร้อนสะท้านหนาว ทำให้มึนตึง เมื่อยทุกข้อกระดูก อิ่มไปด้วยลม บริโภคอาหารมิได้[6] แต่เมื่อชำระตรวจสอบเปรียบเทียบกับตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ [8],[9],[10] ไม่พบว่ามีการใช้คัมภีร์ทิพมาลา ซึ่งบันทึกเรื่องราวของฝีรวงผึ้งเอาไว้แต่ประการใด
แม้ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง ๒ เล่ม ซึ่งมีรากฐานมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ รวบรวมพิมพ์โดยท่านเจ้าคุณพระยาพิศณุประสาทเวช (หมอคง) ก็ไม่พบคัมภีร์ทิพมาลาที่บรรจุเรื่องราวของฝีรวงผึ้งเช่นกัน [11] [12]
ถึงแม้ว่า “ฝีรวงผึ้ง”ภายใต้คัมภีร์ทิพมาลาจะไม่ได้กล่าวถึงในเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ [8] และมิได้กล่าวถึงในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ [13] ที่ใช้กันอยู่ถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแพทย์แผนโบราณซึ่งจัดตั้งขึ้นที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวรวิหาร (วัดโพธิ์) ยังคงให้เรียนคัมภีร์ทิพมาลา และอีก “หลายคัมภีร์ที่ไม่ได้อยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ ๒” และกล่าวถึงเรื่องฝีรวงผึ้งตามในคัมภีร์ทิพมาลา ซึ่งปรากฏในหลักศิลาจารึกในสมัยรัชกาลที่ ๓โดยให้เหตุผลว่าเป็นคัมภีร์ที่ยังขาดอยู่และเป็นตำรับของท่านเจ้าคุณพระยาประเสริฐธำรง (หมอหนู)ที่เคยรวบรวมเอาไว้ไม่ให้สูญหาย เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแพทยลัย จากเหตุผลดังกล่าวโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่วัดโพธิ์จึงเรียกตำรารวบรวมคัมภีร์ที่นอกเหนือ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ และ ๒ ว่า “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๓” [14]
ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ ๒ ที่ไม่ได้กล่าวถึงคัมภีร์ทิพมาลา แต่กลับปรากฏคำว่า “ฝีรวงผึ้ง” เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องกษัยลมในพระคัมภีร์กษัย และกล่าวเพียงสั้นๆว่า : “กษัยเกิดเพราะลมอุทรวาตนั้น มันเกิดขึ้นแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศีรษะ เมื่อจะเป็นเหตุแก่บุคคลนั้น แลลมนั้นมีพัดอยู่แต่เพียงยอดอก มันก็แล่นเข้าในลำไส้ มันก็ให้เป็นฝีรวงผึ้ง เจ็บปวดพ้นประมาณ ถ้าจะแก้ให้เอากระดูกวัว ๑ หอย ตาวัว ๑ หอยกาบ ๑ บดละลายน้ำปูนใสกินหายแล” [8]
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรับรักษา “ฝีรวงผึ้ง” ในศิลาจารึกบนผนัง ศาลาวิมังสา ของวัดโพธิ์ จากเดิมที่มีตำรับยา ๔ ขนาน กลับเหลือเพียงตำรับเดียวในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงคัมภีร์ทิพมาลา และเป็นตำรับยาที่ไม่มีอยู่ใน ๔ ขนานเดิม อีกทั้งยังมีความคล้ายคลึงกับกษัยลิ้นกระบือในเรื่องการใช้กระดูกสัตว์และเปลือกหอยละลายในน้ำปูนใส ซึ่งออกฤทธิ์เป็นด่างอีกด้วย
และเนื่องจากฝีรวงผึ้งในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ใช้ตำรับการรักษาไม่เหมือนกับที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดโพธิ์ทั้งๆที่เป็นโรคเดียวกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่าด้วยความซ้ำซ้อนดังกล่าว ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ และแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงเล่ม ๑ และ ๒ จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงฝีรวงผึ้งตามคัมภีร์ทิพมาลา แต่เป็นการพัฒนาตำรับยาใหม่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ๒๓ ปี ได้เกิดความเห็นแตกต่างทางความคิดว่าฝีรวงผึ้งมาจากโรคกษัยลมอุทรวาต จึงต้องใช้ยาตำรับสำหรับแก้โรคกษัยลมอุทรวาตขึ้นมาแทน
๒. จากเดิม “สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน” ที่ปรากฏในศิลาจารึกบนผนัง ศาลาวิมังสา ที่กล่าวถึงโรคที่มีชายตับทำให้ตับใหญ่ออกมาคับโครง บางทีตับหย่อนลงถึงตะคาก ให้จับเป็นเพลาดังเป็นไข้และให้เย็นไปทั้งตัว แล้วให้ท้องขึ้น ท้องพอง ให้พะอืดพะอม [6] ผลปรากฏว่าในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ปรากฏสันนิบาตกะตัดศีรษะด้วนแต่ประการใด และในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ และคัมภีร์อื่นๆ ภายหลังจากสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏในเรื่อง “สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน”อีกเลย
๓. “มานน้ำ ๗ คำรบ” ซึ่งเป็นอาการที่เกิดภาวะท้องบวมใหญ่จากผลข้างเคียงของโรคร้ายจนลุกนั่งไม่ได้ที่ปรากฏในศิลาจารึก บนผนังและเสาศาลาวิมังสาของวัดโพธิ์ ซึ่งได้มีการจารึกการรักษาเอาไว้ค่อนข้างยาวถึง ๗ ขั้นตอน แต่เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ พบว่ามานน้ำทั้ง ๗ คำรบ ก็ยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์อุทรโรค ของตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เหมือนเดิมทุกประการ [9]
แต่เมื่อครั้นมาจัดทำเป็นตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ และ ๒ โดยท่านเจ้าคุณพระยาพิศณุประสาทเวช (หมอคง) กลับไม่รวมเอาคัมภีร์อุทรโรคเข้ามาในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เช่นกัน จึงป็นผลทำให้โรคมานน้ำที่มีกระบวนการถึง ๗ ขั้นตอน ไม่มีอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ ๒ แต่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์กลับกล่าวถึงยาตำรับหนึ่งที่เกี่ยวกับ “มานน้ำ” เอาไว้สั้นๆ ในพระคัมภีร์มหาโชตรัต ชื่อว่า “ยาปลูกไฟ” ความตอนหนึ่งว่า
“ถ้าขัดระดูไปปีหนึ่งสองปีก็ดี ถ้าโลหิตค้างอยู่นั้น มันจะกลายเป็นมานโลหิต มานหิน มานน้ำ เป็นริดสีดวงก็ดี ถ้าจะแก้ ท่านให้เอาหัวดองดึง ๘ บาท รากเจตมูลเพลิง ๒ บาท ดีปลี ๑ บาท เทียนขาว ๑ บาท ทำผงละลายสุรากินหายแล” [13]
แม้ว่าอาการ “มานน้ำ” ตามที่ปรากฏในแผ่นศิลาจารึกของวัดโพธิ์ และเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ อาจจะตีความได้หลายโรค (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลกระทบข้างเคียงจากโรคมะเร็งตับเสมอไป) แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะตีความว่าเป็นอาการท้องบวมโต หรือท้องมานที่อาจจะเป็นผลกระทบจากโรคมะเร็งตับ ก็จะซ้ำซ้อนกับอาการของกษัยลิ้นกระบือขั้นปลายได้ด้วย ซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไป
๔. “กษัยลิ้นกระบือ” ที่บันทึกอยู่ในแผ่นศิลาจารึก ในศาลานวด ๑ ของวัดโพธิ์นั้น ก็ปรากฏชื่อโรคอยู่ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ด้วย เพียงแต่มีการ “พัฒนาปรับตำรับยาและขั้นตอนการรักษา” รวมถึงมีการเปลี่ยนวัตถุที่ทำมาเป็นน้ำด่างที่เป็นกระสายไปจากเดิมอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าเป็นยาตำรับเดียวที่มีอาการคล้ายกับโรคมะเร็งตับแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความของโรค แต่เมื่อมีการชำระตรวจสอบใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แล้ว ก็มิได้คัดลอกต่อๆกันมาจากศิลาจารึกวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ได้มีการพัฒนาขั้นตอนและตำรับยาจากเดิมอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาที่ผ่านไป ๒๓ ปีนับตั้งแต่ช่วงการทำศิลาจารึกวัดโพธิ์ ผู้รอบรู้ที่ทำการชำระตรวจสอบยานั้นได้ปรับปรุงเพื่อมุ่งหวังจะทำให้ตำรับยากษัยลิ้นกระบือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าของเดิม ซึ่งภายหลังจากการพัฒนาตำรับยาแล้วกษัยลิ้นกระบือนี้ ก็ยังปรากฏตำรับยากษัยลิ้นกระบือต่อมาในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์อันเป็นตำราแพทย์แผนไทยที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
นั่นหมายความว่าส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับนั้น ตำรับยา “กษัยลิ้นกระบือ” ยังคงสามารถยืนหยัดมาและมีการพัฒนาตำรับในแพทย์แผนไทย ถึง ๘ แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ มาจนถึงรัชกาลที่ ๑๐ ทั้งในศิลาจารึกวัดโพธิ์, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕, ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ และตำราแพทย์แผนโบราณ
โดยปรากฏเป็นข้อความ “กษัยลิ้นกระบือ” ในสมุดไทย “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕”ในส่วนของคัมภีร์กษัยเล่ม ๑ เลขที่ ๑๐๐๐ หน้าปลายที่ ๒๘-๔๓ (ตามภาพประกอบที่ ๑. รูปด้านขวา และ ภาพประกอบที่ ๒.) ความว่า :

“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะกษัยโรค อันบังเกิดขันเป็นอุปปาติกะ คือกษัยลิ้นกระบือนั้นเป็นเคารบ ๑๐ บังเกิดเพื่อโลหิตลิ่มติดอยู่ชายตับเป็นตัวแข็งยาวออกมาจากชายโครงขวา มีสัณฐานดั่งลิ้นกระบือ กระทำให้ครั่นตัวให้ร้อนให้จับเป็นเวลา ให้จุกให้แน่นอกให้บริโภคอาหารมิได้ ให้นอนมิหลับอยู่เป็นนิจ ให้กายนั้นซูบผอมแห้งไป ครั้นตัวแก่เข้ากษัยแตกออกเป็นโลหิตแลน้ำเหลืองไหลซึมไปในไส้ใหญ่น้อย ทำให้ไส้พองท้องใหญ่ดังกล่าวมานี้ เป็นอะสาทิยโรคแพทย์จะเยียวยายากนัก ถ้าแก่แล้วตัวกษัยแตกออกแก้มิได้เลย
ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอ่อนๆอยู่นั้นบางทีได้บ้างเสียบ้าง ให้แก้ด้วยยาเนาวหอย อันมีอยู่ในลักษณะว่าด้วยกษัยจุกในเคารบ ๕ โน้นแล้วให้เอาน้ำกระสายด่าง ๖ ประการนี้ให้กิน ด่างสำโรง ด่างงวงตาล ด่างไม้ขี้หนอน ด่างไม้ขี้เหล็กทั้ง ๕ ด่างหญ้าพันงูแดง ด่างไม้ตาตุ่ม ด่างทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นกระสายยาเนาวหอยกิน ๗ วัน แล้ว จึงแต่งยารุให้กินต่อไป
ยารุกษัยลิ้นกระบือ เอาตรีกฏุก เทียนดำ มหาหิงคุ์ ว่านน้ำ กานพลู การบูร สิ่งละส่วน ผลสลอดประสะแล้ว ๙ ส่วน ทำเป็นจุณเอาน้ำตาลหม้อ น้ำมะขามเปียก เป็นกระสายบดทำแท่งไว้ ถ้าธาตุหนักกิน ๒ ไพ ธาตุเบากิน ๑ ไพ ลงสิ้นเชิง แล้วจึงกินยาเนาวหอย ๕ วัน รุทีหนึ่ง กินยาเนาวหอยไปอีก ๗ วัน รุทีหนึ่ง กินให้ได้ ๓ ครั้ง ถ้าโรคหนักล่วงไปให้ท้องบวม จึงแต่ยาแก้ต่อไปนี้
ยาแก้กษัยลิ้นกระบือมักทำให้บวมนั้น เอาพญามือเหล็ก แก่นขี้เหล็ก ยาข้าวเย็นสิ่งละ ๑๐ ตำลึง สารส้ม ดินประสิวขาวสิ่งละ ๑ ตำลึง รงทอง ๑ ตำลึง ต้มตามวิธีให้กิน ๖ วัน ๗ วัน แล้วรุวันหนึ่ง แล้วจึงแต่งยาดองให้กิน ดังต่อไปนี้
ยาดองแก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลาย เอาเปลือกมะรุม แก่นแสมดัง ๒ แก่นขี้เหล็ก รากมะกรูด รากเสนียด สิ่งละเสมอภาค ดองด้วยสุรา ๓ ทะนาน ฝังข้าวเปลือกไว้ ๓ วัน กินจอกชา ๑ กิน ๗ วัน จึงกินยารุวันหนึ่ง แล้วกินยาดองนี้ประจำไป แก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลายดีนัก” [8]
“กษัยลิ้นกระบือ”ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ มีความแตกต่างจากศิลาจารึกของวัดโพธิ์ในรัชกาลที่ ๓ ที่มีช่วงเวลาต่างกันประมาณ ๒๓ ปี ดังต่อไปนี้
ประการแรก ขั้นตอนการรักษากษัยลิ้นกระบือในศิลาจารึกวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สรุปใจความได้ว่าแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ๑. การกินยาเนาวหอยพร้อมน้ำด่างที่ใช้เป็นกระสาย, ๒. ขั้นตอนการรุ(ขับถ่ายของเสีย) ซึ่งใน ๒ ขั้นตอนแรกนี้จะทำสลับกันจนรุได้ครบ ๓ ครั้ง และหากโรคนั้นหนักจนบวมท้องจึงไปขั้นตอนที่ ๓ ให้แต่งตำรับยาสำหรับแก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลายกระทำให้บวม [7]
แต่กษัยลิ้นกระบือในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน โดย ๓ ขั้นตอนแรกเหมือนกันกับศิลาจารึกวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ได้มีการ “แยกกษัยลิ้นกระบือบั้นปลาย” ออกมาจาก “การบวม”ในขั้นตอนที่ ๓ ให้กลายเป็นขั้นตอนที่ ๔ เรียกตำรับยานี้ว่า “ยาดองแก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลาย” แสดงให้เห็นว่านอกจากจะมีการยืนยันที่จะใช้ตำรับยากษัยลิ้นกระบือตามแนวทางของศิลาจารึกในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว ยังมีการพัฒนา “ขั้นตอนการรักษา” ที่ “มีความละเอียดขึ้นกว่าเดิม” อีกด้วย
ประการที่สอง วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นน้ำด่างกระสายยาเนาวหอยสำหรับกษัยลิ้นกระบือนั้น ปรากฏว่ามีการลดจากวัตถุที่นำมาใช้เป็นน้ำด่างจาก ๗ ชนิด ตามศิลาจารึกของวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เหลือเพียง ๖ ชนิด โดยมีการตัด “ผักโหมหนาม”ออกไป ซึ่งแม้คนในยุคนี้จะไม่ทราบถึงเหตุผลการตัดสมุนไพรดังกล่าวออกไป แต่ย่อมแสดงให้เห็นว่าการชำระตรวจสอบกษัยลิ้นกระบือมีความละเอียดถี่ถ้วนแม้กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนสมุนไพรตัวเดียวที่นำมาเป็นน้ำด่างกระสายที่ใช้กับยาเนาวหอย
ซึ่งในปัจจุบันหากใครได้ทำตามน้ำด่างที่นำมาใช้เป็นกระสายยาตามตำรับข้างต้นนี้ จะได้ค่าด่าง pH ประมาณ ๑๒ ซึ่งแม้จะเป็นด่างที่เข้มข้นมาก แต่เมื่อมาผสมกับตำรับยาเนาวหอยกลับไม่ปรากฏการกัดหรือแสบเนื้อเยื่อผิวจากความเป็นด่างเข้มข้นนั้นแต่ประการใด
การพัฒนาขั้นตอนและตำรับกษัยลิ้นกระบือได้ละเอียดดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของกษัยลิ้นกระบือ มีความเป็นไปได้อาจจะว่าจะมีการทดลองใช้แล้ว เมื่อทราบผลจึงนำมาซึ่งการพัฒนาตำรับกษัยลิ้นกระบือได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้
แม้นว่ากษัยลิ้นกระบือที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับจะสามารถถูกบันทึกและพัฒนามาเป็นตำราแพทย์แผนไทยต่อกันมาถึง ๘ แผ่นดิน แต่ก็โรคดังกล่าวก็ยังเป็นโรคที่รักษาไม่ง่าย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า
“ถ้าแก่แล้วตัวกษัยแตกออกแก้มิได้เลย ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอ่อนๆอยู่นั้นบางทีได้บ้างเสียบ้าง” [8]
ตามปกติในแพทย์แผนไทยตำรับใดที่มีความมั่นใจว่าได้ผลดีก็มักจะจบลงท้ายด้วยว่า”หาย” หรือ “หายดีนัก” หรือ “หายวิเศษนัก” แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากษัยลิ้นกระบือนั้นกลับไม่ปรากฏคำเหล่านี้เลย แสดงให้เห็นว่าโรคนี้ต้องมีความยากในการรักษาจริงๆ
และแม้แต่จะแก้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เรียกว่า “ให้แก้แต่ยังอ่อน” ก็ยังไม่แน่ว่าจะหายได้เสมอไป โดยมีคำว่า “บางทีได้บ้าง เสียบ้าง” แต่ถ้าถึงขั้นกษัยแตกคือ โลหิตและน้ำเหลืองไหลซึมไปที่ลำไส้ใหญ่น้อย ทำให้ไส้พองท้องใหญ่แล้ว “แก้มิได้เลย”
ความยากในการรักษาโรคดังกล่าวก็สอดคล้องกับวงการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีผลการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยมีโอกาสรอดชีวิตได้ถึง ๕ ปี น้อยมาก (ประมาณไม่ถึง ๙ %) ทั้งๆที่ระยะเวลาห่างจากระยะเวลาของภูมิปัญญาในศิลาจารึกของวัดโพธิ์ไม่ต่ำกว่า ๑๗๐ ปี แต่คำว่าผลการรักษา “บางทีได้บ้างเสียบ้าง” ก็อาจจะมีโอกาสชีวิตรอดได้มากกว่า ๙ % ก็ได้โดยเฉพาะถ้ามีการบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้จากวิวัฒนาการและงานวิจัยยุคปัจจุบัน ที่มีความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งรวมถึง สาเหตุแห่งโรค, การโภชนาการ, ผลการวิจัยสมุนไพรยุคใหม่, วิถีชีวิต ฯลฯ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะหมดหวังเมื่อเป็นโรคนี้ และด้วยเพราะเป็นโรคที่จัดการได้ยาก “กษัยลิ้นกระบือ” จึงได้จัดแบ่งเป็นขั้นเป็นตอนคือช่วงเวลากินน้ำที่ออกฤทธิ์ด่างจากเนาวหอยและด่างจากไม้หลายชนิด หลังจากนั้นจึงรุหรือขับถ่ายของเสียออกสลับกันไปตามเวลาที่กำหนด แม้จะมีอาการบวมที่เป็นกษัยลิ้นกระบือขั้นปลาย (ตราบใดที่ยังไม่แตกออก) ก็ยังแก้ไขได้จนใช้คำว่า “แก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลายดีนัก”
อย่างไรก็ตามยาที่ชื่อว่า ”เนาวหอย”นั้นเป็นยาสำคัญอีกตำรับหนึ่งที่ใช้ในกษัยลิ้นกระบือ โดยให้ทำตามที่ระบุเอาไว้ในกษัยจุก ซึ่งตำรับยาเนาวหอยนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลา ๑๗๐ ปีที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข้อความในสมุดไทย “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” ในส่วนของคัมภีร์กษัยเล่ม ๑ เลขที่ ๑๐๐๐ ในส่วนของกษัยจุก [8] หน้าต้นที่ ๔๘ -๔๙ (ตามภาพประกอบที่ ๑ ด้านขวาล่าง) ความว่า :
“ยาชื่อเนาวหอย เอากระดูกเสือเผา กระดูกโคเผา กระดูกแพะเผา กระดูกงูเหลือมเผา สิ่งละส่วน หอยขมเผา หอยแครงเผา หอยตาวัวเผา หอยพิมพการังเผา หอยอิรมเผา หอยกาบเผา หอยจุบแจงเผา หอยมุขเผา หอยสังข์เผา สิ่งละ ๒ ส่วน รากทนดี ๓ ส่วน เจตมูลเพลิง ๑ สหัสคุณเทศ ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน พริกไท ๓๒ ส่วน ทำเป็นผงบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำผึ้งกินหนัก ๑ สลึง แก้กษัยจุกหายวิเศษนัก ถ้ามิฟังละลายน้ำปูนใสให้กินดูก่อน ถ้ามิฟังจึงหุงน้ำมันแก้ต่อไป”
อย่างไรก็ตามหากจะวิเคราะห์ในแนวทางและทฤษฎีการแพทย์แผนไทยถึงสาเหตุแห่งโรคตลอดจนถึงแนวการรักษาโรคมะเร็งตับดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถอธิบายดัดแปลงภาษาแพทย์แผนไทยให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้าใจ ได้ดังนี้
โรคมะเร็งตับที่เรียกชื่อนี้กันในยุคปัจจุบัน คือสภาวะของการสูญเสียความสมดุล ทำให้ธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)ไม่ปกติ ส่งผลทำให้ “ระบบ”การทำงานของร่างกายผ่านธาตุสมุฏฐาน ปิตตะ(ระบบความร้อน) วาตะ (ระบบธาตุลมและการเคลื่อนไหว) และเสมหะ(ระบบของเหลว) ผิดปกติไปด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อ “ยกนัง” (ตับ) ซึ่งตั้งอยู่บน “ปวีธาตุ (ธาตุดิน)” สูญเสียสมดุลและสูญเสียหน้าที่ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดการคั่งค้างของพิษหรือของเสียในร่างกายและขับออกไม่หมด หรืออาจเกิดจากสิ่งเรียกว่า “กิมิชาติ” (ความหมายในปัจจุบันหมายถึงจุลชีพต่างๆ เช่น พยาธิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา) ทำให้ เป็นฝี เป็นก้อนเนื้อ หรือทำให้เกิดเป็นแผลเน่าเปื่อยลุกลามได้ด้วย การลุกลามของก้อนเนื้อและแผลเน่าเปื่อยที่มากขึ้นถูกเทียบเคียงเรียกว่า “โรคมะเร็ง” ในปัจจุบัน
“ยกนัง” คือตับและตับอ่อน ตั้งอยู่ชายโครงด้านขวา ตั้งอยู่บนปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ซึ่งมีเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)เป็นธาตุประจำโดยไม่ระคนกับธาตุอื่น เมื่อใดก็ตามที่ธาตุใดธาตุหนึ่ง ใน ๓ ธาตุ คือ อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) หรือเตโชธาตุ (ธาตุน้ำ) เกิดกำเริบ หย่อน พิการ ก็จะส่งผลกระทบต่อธาตุที่เหลือและสุดท้ายจะแสดงผลออกมาที่ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น
ตัวอย่างเช่น การเกิดโรคมะเร็งตับ(ที่เรียกกันในปัจจุบัน) เกิดจากเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)กำเริบอยู่ภายในปิตตะ (ระบบความร้อน) ส่งผลกระทบต่อธาตุที่เหลือและสุดท้ายต่อธาตุปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ของ“ยกนัง” (ตับ)พิการไป โดยพิจารณาจาก ๒ กรณีคือ พัทธะปิตตะ และอพันทธะปิตตะ
พัทธปิตตะ คือระบบความร้อนที่เกิดขึ้น “ภายในร่างกาย” เช่น “ยกนัง” (ตับ) ก่อให้เกิดการผลิตสิ่งต่างๆที่จำเป็นในการย่อยอาหาร กำจัดสารพิษ รวมทั้งการทำงานของต่อมต่างๆ ภายในร่างกาย และส่งผลต่ออามรณ์ด้วย เป็นต้น
อพัทธปิตตะ คือ ระบบความร้อนที่เข้ามาจาก “ภายนอกร่างกาย” เช่น อาหาร (ผ่านทางรสของอาหาร) อากาศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิ่งที่มากระทบต่ออายตนะ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นต้น
พิษของปิตตะที่เกิดขึ้นทั้ง ๒ กรณีข้างต้นกับ “ยกนัง” ให้พิษร้อน หากร้อนมากจะทำให้อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)แห้งลง จึงส่งผลกระทบต่อเสมหะ(ระบบของเหลว)แห้งลงไปด้วย การเกิดพิษของปิตตะดังกล่าวกระทำโทษ คือ เกิดความร้อนเผาผลาญของเหลวภายในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือด น้ำเหลือง ไขมัน ทำให้อวัยวะต่างๆ มีการบำรุงซ่อมแซมได้น้อย หากเกิดภาวะเช่นนี้ต่อไป มีผลทำให้อวัยวะภายในถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง และพิษของปิตตะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของธาตุ (รวมถึงเซลล์)ตามอวัยวะต่างๆด้วย ทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคที่เรียกในปัจจุบันว่า “โรคมะเร็ง”
เมื่อ “ยกนัง” (ตับ) ซึ่งตั้งอยู่บนปถวีธาตุ (ธาตุดิน)พิการไป จะทำให้เกิดโรคตับได้หลายชนิดที่เรียกชื่อกันในยุคปัจจุบัน เช่น เป็นฝีในตับ ไขมันแทรกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมถึงโรคมะเร็งตับด้วย เรียกโดยรวมว่า “ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ของยกนัง (ตับ)พิการไป” ตามหลักการในคัมภีร์ธาตุวิภังค์ และคัมภีร์โรคนิทาน [15]
แนวทางการรักษา คือ ลดเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ของปิตตะ(ระบบความร้อน)ลงใน “ยกนัง” (ตับ) โดยการเร่งระบายความร้อนออกไป รวมถึงเร่งระยายการขับถ่ายของเสียอันเป็นเหตุแห่งโรคที่คั่งค้างอยู่ภายในให้ออกไป และ ต้องวินิฉัยโรคและให้ตำรับยาตามระบุในคัมภีร์ต่างๆให้ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการบำรุงฟื้นฟู “ยกนัง” (ตับ)ให้แข็งแรง ควบคู่ไปกับการบูรณาการเรื่องอาหารให้ถูกต้องและดูและระบบทางเดินอาหารและการขับถ่ายโดยมิให้มีเหตุแห่งโรคเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารแสลงที่จะกระทบทำให้โรคเลวร้ายลงด้วย”
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับจึงเป็นภูมิปัญญาของชาติที่พระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์ที่น่าสนใจและน่าวิจัยที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าภูมิปัญญาเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนมาก
ด้วยความปรารถนาดี
อ. ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,คณบดี
แพทย์แผนไทยประยุกต์ แวสะมิง แวหมะ, รองคณบดี
สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง:
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,เปิดบันทึก มรดกภูมิปัญญาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๓ “รักษาโรคมะเร็งตับ”, MGR Online, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, คอลัมน์ ณ บ้านพระอาทิตย์, 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 16.12 น.
[2] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข , สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2559 หน้า 79-80, 87 ISSN 0857-3093
[3] Zhang W, Sun B. Impact of age on the survival of patients with liver cancer: an analysis of 27,255 patients in the SEER database. Oncotarget. 2015;6(2):633-641.
[4] Allemani C, Weir HK, Carreira H, et al. Global surveillance of cancer survival 1995-2009: analysis of individual data for 25,676,887 patients from 279 population-based registries in 67 countries (CONCORD-2). Lancet (London, England). 2015;385(9972):977-1010. doi:10.1016/S0140-6736(14)62038-9.
[5] Sripa B, Pairojkul C. Cholangiocarcinoma: Lessons from Thailand. Current opinion in gastroenterology. 2008;24(3):349-356. doi:10.1097/MOG.0b013e3282fbf9b3.
[6] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำราการแพทย์แผนไทย ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เล่ม 2 , ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, มิถุนายน 2557, ISBN : 978-616-11-2013-9
[7] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำราการแพทย์แผนไทย ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เล่ม 3 , ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, มิถุนายน 2557, ISBN : 978-616-11-2014-6
[8] กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ (๒๕๔๒) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่ ๕ เล่ม ๑, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
[9] กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ (๒๕๔๒) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่ ๕ เล่ม ๒, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
[10] กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ (๒๕๕๕) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่ ๕ เล่ม ๓, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
[11] แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ ของ พระยาพิศณุประสาทเวช โรงพิมพ์ไทย ร.ศ. ๑๒๘
[12] แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ ของ พระยาพิศณุประสาทเวช โรงพิมพ์ศุภการจำรูญ ร.ศ. ๑๒๖
[13] มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมสุขภาพไทยเดิม อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์) ฉบับอนุรักษ์, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พฤษภาคม 2535 ISBN : 974-88780-2-3
[14] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พระนคร, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๓ ของ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ
[15] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๗
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
จากบทความในตอนที่แล้วเรื่อง เปิดบันทึก มรดกภูมิปัญญาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๓ “รักษาโรคมะเร็งตับ”[1] อันเป็นการสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับของประเทศไทยในปัจจุบัน กับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่พระราชทานในการรักษาโรคที่น่าจะเป็นโรคมะเร็งตับที่ถูกบันทึกเอาไว้ในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)นั้นทำให้สรุปความได้ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ปัจจุบันประชาชนชาวไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยในบรรดาสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนั้นมาจากโรคมะเร็งตับมากที่สุด [2]
ประการที่สอง แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับของแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก และผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยมีอัตรารอดชีวิตในระยะเวลา ๕ ปี ต่ำที่สุดในโลก คือมีอัตราการรอดชีวิตไม่ถึงร้อยละ ๙ [3],[4] โดยส่วนใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยเสียชีวิตภายในปีแรกเมื่อตรวจพบมะเร็งตับ ดังนั้นโรคมะเร็งตับจึงรักษาได้ยากยิ่งแม้ว่าจะใช้วิทยาการสมัยใหม่ของแพทย์แผนปัจจุบันก็ตาม
ประการที่สาม สาเหตุการเสียชีวิตโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทยนั้น มาจากพยาธิใบไม้ Opisthorchis viverrinมากที่สุด และการเกิดโรคดังกล่าวมีความชุกชุมในประเทศไทยมากที่สุดในโลก [5]
ดังนั้น ลักษณะการบริโภคของคนไทยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีจากพยาธิใบไม้จึงเกิดขึ้นมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่กินอาหารดิบๆสุกๆและแหล่งน้ำที่มีพยาธิใบไม้ชุกชุมของประเทศไทยในภาคอีสานและภาคเหนือที่มีมานานแล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยน่าจะรู้จักโรคมะเร็งตับมานานแล้ว และอาจจะมีวิธีการรักษาแบบภูมิปัญญามาตั้งแต่ในอดีตก็ได้
ประการที่สี่ จากการตรวจสอบในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พบภูมิปัญญาพระราชทานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในวิชาการสาขาต่างๆ ค้นคว้า รวบรวมตรวจสอบและคัดสรรตำราวิชาการต่างๆให้ถูกต้อง แล้วให้จารึกลงบนแผ่นศิลาประดิษฐานไว้ตามเสนาสนะภายในวัดโพธิ์ ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงโรคที่อาจจะมีความคล้ายคลึงหรืออาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับและตำรับยาที่ใช้รักษาอยู่หลายชนิด ได้แก่ กษัยลิ้นกระบือ, ฝีรวงผึ้ง, สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน, มานน้ำ [6],[7]
แม้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ได้มีการใช้ตำรับยากับหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลองเหมือนในยุคปัจจุบัน แต่ตำรับยาในอดีตนั้นได้ใช้ “ชีวิตมนุษย์เป็นเดิมพัน”จากรุ่นสู่รุ่นโดยมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตทำการตรวจสอบ อีกทั้งยังให้ผู้ที่เป็นหมอยาที่เคยใช้ยาเหล่านั้นสาบานว่าข้อความที่จะบันทึกนั้นเป็นความจริง หลังจากนั้นจึงแกะสลักบันทึกเอาไว้ในแผ่นศิลาให้เป็นประโยชน์ต่อราษฎรทั้งหลาย การบันทึกในแผ่นศิลาเพื่อความ “คงทน”จนสามารถตกทอดมาได้แม้จะผ่านมาเป็นเวลากว่า ๑๗๐ ปีแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนในยุคนั้นมีความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพียงใด
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่าหนังสือตำราสมุนไพรพื้นบ้านเดิมมีการกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เนื่องจากเป็นสมุดคู่มือสำหรับผู้สนใจและรักต่อการศึกษาวิชาแพทย์ จึงเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตนบ้าง บันทึกเพิ่มเติมไปตามความเข้าใจบ้าง ทำให้มีฉบับที่ไม่ครบหรือคลาดเคลื่อนกันมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่า คัมภีร์แพทย์ไทยที่ได้บันทึกความรู้อันมีคุณประโยชน์แก่แผ่นดินและใช้ศึกษาสืบต่อกันมา ได้เริ่มสูญหายและคลาดเคลื่อนมากแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์เป็นแม่กองจัดหารวบรวม ชำระสอบสวนตำรับคำภีร์แพทย์ที่ใช้กันอยู่ขณะนั้นให้ถูกต้องดี แล้วส่งมอบให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมอาลักษณ์ กรมอักษรีพิมพการจัดสร้างขึ้นใหม่เป็น “คัมภีร์แพทย์ฉบับหลวง” ต้นฉบับเป็นสมุดไทย ซึ่งจัดทำขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๑๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างจากการจัดทำศิลาจารึก ปฏิสังขรณ์และขยายขอบเขตวัดโพธิ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ประมาณ ๒๓ ปี
แน่นอนว่าในช่วง ๒๓ ปีนั้น น่าจะมีทดลองการใช้ตำรับยาต่างๆตามศิลาจารึกไปพอสมควร ทำให้สามารถจะมีความชัดเจนว่าศิลาจารึกแผ่นใดได้ผลจริงมากน้อยเพียงใด และถ้าตำรับยาใดได้มีการใช้จนรู้ผลแล้วเราอาจทราบได้จากการเปลี่ยนแปลงของตำรับยาและวิธีการรักษา รวมถึงการคัดเลือกใช้หรือเลิกใช้คัมภีร์หรือตำรับยาต่างๆ แต่ก็มิได้แปลว่าคัมภีร์หรือตำรับยาที่ถูกตัดออกไปจะใช้ไม่ได้เสมอไป แต่อาจจะเป็นเพราะ ในเวลานั้นต้องคัดคัมภีร์มาเท่าที่จำเป็นและทำได้ในสภาพที่มีแพทย์แผนฝรั่งมาสอนวิชาแพทย์กดดันควบคู่กันอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นด้วย
โดยเฉพาะในส่วนของโรคที่มีความเกี่ยวพันกับโรคมะเร็งตับนั้นอาจจะตีความโดยภาพรวมว่าคล้ายกันในศิลาจารึกบางแผ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ส่งผลทำให้การใช้ตำรับยาแตกต่างกันไปด้วย (เช่นกรณี กษัยลิ้นกระบือ มานน้ำ ฝีรวงผึ้ง และ สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน)
ภายหลังจากการชำระตรวจสอบจนได้มาเป็น ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ (ตามภาพประกอบที่ ๑ รูปซ้ายบน) แล้ว ปรากฏว่าในส่วนที่อาจจะมีการเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับเมื่อเปรียบเทียบกับศิลาจารึกของวัดโพธิ์มีความแตกต่างและเหมือนกันดังนี้
๑. จากเดิมที่ “ฝีรวงผึ้ง”แยกออกมาต่างหากในศิลาจารึก โดยกล่าวถึงอาการแน่นชายตับเบื้องขวา ให้ยอกตลอดสันหลัง ให้ตัวเหลืองหน้าเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง สะบัดร้อนสะท้านหนาว ทำให้มึนตึง เมื่อยทุกข้อกระดูก อิ่มไปด้วยลม บริโภคอาหารมิได้[6] แต่เมื่อชำระตรวจสอบเปรียบเทียบกับตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ [8],[9],[10] ไม่พบว่ามีการใช้คัมภีร์ทิพมาลา ซึ่งบันทึกเรื่องราวของฝีรวงผึ้งเอาไว้แต่ประการใด
แม้ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง ๒ เล่ม ซึ่งมีรากฐานมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ รวบรวมพิมพ์โดยท่านเจ้าคุณพระยาพิศณุประสาทเวช (หมอคง) ก็ไม่พบคัมภีร์ทิพมาลาที่บรรจุเรื่องราวของฝีรวงผึ้งเช่นกัน [11] [12]
ถึงแม้ว่า “ฝีรวงผึ้ง”ภายใต้คัมภีร์ทิพมาลาจะไม่ได้กล่าวถึงในเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ [8] และมิได้กล่าวถึงในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ [13] ที่ใช้กันอยู่ถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแพทย์แผนโบราณซึ่งจัดตั้งขึ้นที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวรวิหาร (วัดโพธิ์) ยังคงให้เรียนคัมภีร์ทิพมาลา และอีก “หลายคัมภีร์ที่ไม่ได้อยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ ๒” และกล่าวถึงเรื่องฝีรวงผึ้งตามในคัมภีร์ทิพมาลา ซึ่งปรากฏในหลักศิลาจารึกในสมัยรัชกาลที่ ๓โดยให้เหตุผลว่าเป็นคัมภีร์ที่ยังขาดอยู่และเป็นตำรับของท่านเจ้าคุณพระยาประเสริฐธำรง (หมอหนู)ที่เคยรวบรวมเอาไว้ไม่ให้สูญหาย เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแพทยลัย จากเหตุผลดังกล่าวโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่วัดโพธิ์จึงเรียกตำรารวบรวมคัมภีร์ที่นอกเหนือ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ และ ๒ ว่า “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๓” [14]
ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ ๒ ที่ไม่ได้กล่าวถึงคัมภีร์ทิพมาลา แต่กลับปรากฏคำว่า “ฝีรวงผึ้ง” เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องกษัยลมในพระคัมภีร์กษัย และกล่าวเพียงสั้นๆว่า : “กษัยเกิดเพราะลมอุทรวาตนั้น มันเกิดขึ้นแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศีรษะ เมื่อจะเป็นเหตุแก่บุคคลนั้น แลลมนั้นมีพัดอยู่แต่เพียงยอดอก มันก็แล่นเข้าในลำไส้ มันก็ให้เป็นฝีรวงผึ้ง เจ็บปวดพ้นประมาณ ถ้าจะแก้ให้เอากระดูกวัว ๑ หอย ตาวัว ๑ หอยกาบ ๑ บดละลายน้ำปูนใสกินหายแล” [8]
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรับรักษา “ฝีรวงผึ้ง” ในศิลาจารึกบนผนัง ศาลาวิมังสา ของวัดโพธิ์ จากเดิมที่มีตำรับยา ๔ ขนาน กลับเหลือเพียงตำรับเดียวในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงคัมภีร์ทิพมาลา และเป็นตำรับยาที่ไม่มีอยู่ใน ๔ ขนานเดิม อีกทั้งยังมีความคล้ายคลึงกับกษัยลิ้นกระบือในเรื่องการใช้กระดูกสัตว์และเปลือกหอยละลายในน้ำปูนใส ซึ่งออกฤทธิ์เป็นด่างอีกด้วย
และเนื่องจากฝีรวงผึ้งในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ใช้ตำรับการรักษาไม่เหมือนกับที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดโพธิ์ทั้งๆที่เป็นโรคเดียวกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่าด้วยความซ้ำซ้อนดังกล่าว ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ และแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงเล่ม ๑ และ ๒ จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงฝีรวงผึ้งตามคัมภีร์ทิพมาลา แต่เป็นการพัฒนาตำรับยาใหม่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ๒๓ ปี ได้เกิดความเห็นแตกต่างทางความคิดว่าฝีรวงผึ้งมาจากโรคกษัยลมอุทรวาต จึงต้องใช้ยาตำรับสำหรับแก้โรคกษัยลมอุทรวาตขึ้นมาแทน
๒. จากเดิม “สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน” ที่ปรากฏในศิลาจารึกบนผนัง ศาลาวิมังสา ที่กล่าวถึงโรคที่มีชายตับทำให้ตับใหญ่ออกมาคับโครง บางทีตับหย่อนลงถึงตะคาก ให้จับเป็นเพลาดังเป็นไข้และให้เย็นไปทั้งตัว แล้วให้ท้องขึ้น ท้องพอง ให้พะอืดพะอม [6] ผลปรากฏว่าในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ปรากฏสันนิบาตกะตัดศีรษะด้วนแต่ประการใด และในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ และคัมภีร์อื่นๆ ภายหลังจากสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏในเรื่อง “สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน”อีกเลย
๓. “มานน้ำ ๗ คำรบ” ซึ่งเป็นอาการที่เกิดภาวะท้องบวมใหญ่จากผลข้างเคียงของโรคร้ายจนลุกนั่งไม่ได้ที่ปรากฏในศิลาจารึก บนผนังและเสาศาลาวิมังสาของวัดโพธิ์ ซึ่งได้มีการจารึกการรักษาเอาไว้ค่อนข้างยาวถึง ๗ ขั้นตอน แต่เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ พบว่ามานน้ำทั้ง ๗ คำรบ ก็ยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์อุทรโรค ของตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เหมือนเดิมทุกประการ [9]
แต่เมื่อครั้นมาจัดทำเป็นตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ และ ๒ โดยท่านเจ้าคุณพระยาพิศณุประสาทเวช (หมอคง) กลับไม่รวมเอาคัมภีร์อุทรโรคเข้ามาในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เช่นกัน จึงป็นผลทำให้โรคมานน้ำที่มีกระบวนการถึง ๗ ขั้นตอน ไม่มีอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม ๑ และ ๒ แต่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์กลับกล่าวถึงยาตำรับหนึ่งที่เกี่ยวกับ “มานน้ำ” เอาไว้สั้นๆ ในพระคัมภีร์มหาโชตรัต ชื่อว่า “ยาปลูกไฟ” ความตอนหนึ่งว่า
“ถ้าขัดระดูไปปีหนึ่งสองปีก็ดี ถ้าโลหิตค้างอยู่นั้น มันจะกลายเป็นมานโลหิต มานหิน มานน้ำ เป็นริดสีดวงก็ดี ถ้าจะแก้ ท่านให้เอาหัวดองดึง ๘ บาท รากเจตมูลเพลิง ๒ บาท ดีปลี ๑ บาท เทียนขาว ๑ บาท ทำผงละลายสุรากินหายแล” [13]
แม้ว่าอาการ “มานน้ำ” ตามที่ปรากฏในแผ่นศิลาจารึกของวัดโพธิ์ และเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ อาจจะตีความได้หลายโรค (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลกระทบข้างเคียงจากโรคมะเร็งตับเสมอไป) แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะตีความว่าเป็นอาการท้องบวมโต หรือท้องมานที่อาจจะเป็นผลกระทบจากโรคมะเร็งตับ ก็จะซ้ำซ้อนกับอาการของกษัยลิ้นกระบือขั้นปลายได้ด้วย ซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไป
๔. “กษัยลิ้นกระบือ” ที่บันทึกอยู่ในแผ่นศิลาจารึก ในศาลานวด ๑ ของวัดโพธิ์นั้น ก็ปรากฏชื่อโรคอยู่ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ด้วย เพียงแต่มีการ “พัฒนาปรับตำรับยาและขั้นตอนการรักษา” รวมถึงมีการเปลี่ยนวัตถุที่ทำมาเป็นน้ำด่างที่เป็นกระสายไปจากเดิมอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าเป็นยาตำรับเดียวที่มีอาการคล้ายกับโรคมะเร็งตับแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความของโรค แต่เมื่อมีการชำระตรวจสอบใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แล้ว ก็มิได้คัดลอกต่อๆกันมาจากศิลาจารึกวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ได้มีการพัฒนาขั้นตอนและตำรับยาจากเดิมอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาที่ผ่านไป ๒๓ ปีนับตั้งแต่ช่วงการทำศิลาจารึกวัดโพธิ์ ผู้รอบรู้ที่ทำการชำระตรวจสอบยานั้นได้ปรับปรุงเพื่อมุ่งหวังจะทำให้ตำรับยากษัยลิ้นกระบือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าของเดิม ซึ่งภายหลังจากการพัฒนาตำรับยาแล้วกษัยลิ้นกระบือนี้ ก็ยังปรากฏตำรับยากษัยลิ้นกระบือต่อมาในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์อันเป็นตำราแพทย์แผนไทยที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
นั่นหมายความว่าส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับนั้น ตำรับยา “กษัยลิ้นกระบือ” ยังคงสามารถยืนหยัดมาและมีการพัฒนาตำรับในแพทย์แผนไทย ถึง ๘ แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ มาจนถึงรัชกาลที่ ๑๐ ทั้งในศิลาจารึกวัดโพธิ์, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕, ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ และตำราแพทย์แผนโบราณ
โดยปรากฏเป็นข้อความ “กษัยลิ้นกระบือ” ในสมุดไทย “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕”ในส่วนของคัมภีร์กษัยเล่ม ๑ เลขที่ ๑๐๐๐ หน้าปลายที่ ๒๘-๔๓ (ตามภาพประกอบที่ ๑. รูปด้านขวา และ ภาพประกอบที่ ๒.) ความว่า :
“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะกษัยโรค อันบังเกิดขันเป็นอุปปาติกะ คือกษัยลิ้นกระบือนั้นเป็นเคารบ ๑๐ บังเกิดเพื่อโลหิตลิ่มติดอยู่ชายตับเป็นตัวแข็งยาวออกมาจากชายโครงขวา มีสัณฐานดั่งลิ้นกระบือ กระทำให้ครั่นตัวให้ร้อนให้จับเป็นเวลา ให้จุกให้แน่นอกให้บริโภคอาหารมิได้ ให้นอนมิหลับอยู่เป็นนิจ ให้กายนั้นซูบผอมแห้งไป ครั้นตัวแก่เข้ากษัยแตกออกเป็นโลหิตแลน้ำเหลืองไหลซึมไปในไส้ใหญ่น้อย ทำให้ไส้พองท้องใหญ่ดังกล่าวมานี้ เป็นอะสาทิยโรคแพทย์จะเยียวยายากนัก ถ้าแก่แล้วตัวกษัยแตกออกแก้มิได้เลย
ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอ่อนๆอยู่นั้นบางทีได้บ้างเสียบ้าง ให้แก้ด้วยยาเนาวหอย อันมีอยู่ในลักษณะว่าด้วยกษัยจุกในเคารบ ๕ โน้นแล้วให้เอาน้ำกระสายด่าง ๖ ประการนี้ให้กิน ด่างสำโรง ด่างงวงตาล ด่างไม้ขี้หนอน ด่างไม้ขี้เหล็กทั้ง ๕ ด่างหญ้าพันงูแดง ด่างไม้ตาตุ่ม ด่างทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นกระสายยาเนาวหอยกิน ๗ วัน แล้ว จึงแต่งยารุให้กินต่อไป
ยารุกษัยลิ้นกระบือ เอาตรีกฏุก เทียนดำ มหาหิงคุ์ ว่านน้ำ กานพลู การบูร สิ่งละส่วน ผลสลอดประสะแล้ว ๙ ส่วน ทำเป็นจุณเอาน้ำตาลหม้อ น้ำมะขามเปียก เป็นกระสายบดทำแท่งไว้ ถ้าธาตุหนักกิน ๒ ไพ ธาตุเบากิน ๑ ไพ ลงสิ้นเชิง แล้วจึงกินยาเนาวหอย ๕ วัน รุทีหนึ่ง กินยาเนาวหอยไปอีก ๗ วัน รุทีหนึ่ง กินให้ได้ ๓ ครั้ง ถ้าโรคหนักล่วงไปให้ท้องบวม จึงแต่ยาแก้ต่อไปนี้
ยาแก้กษัยลิ้นกระบือมักทำให้บวมนั้น เอาพญามือเหล็ก แก่นขี้เหล็ก ยาข้าวเย็นสิ่งละ ๑๐ ตำลึง สารส้ม ดินประสิวขาวสิ่งละ ๑ ตำลึง รงทอง ๑ ตำลึง ต้มตามวิธีให้กิน ๖ วัน ๗ วัน แล้วรุวันหนึ่ง แล้วจึงแต่งยาดองให้กิน ดังต่อไปนี้
ยาดองแก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลาย เอาเปลือกมะรุม แก่นแสมดัง ๒ แก่นขี้เหล็ก รากมะกรูด รากเสนียด สิ่งละเสมอภาค ดองด้วยสุรา ๓ ทะนาน ฝังข้าวเปลือกไว้ ๓ วัน กินจอกชา ๑ กิน ๗ วัน จึงกินยารุวันหนึ่ง แล้วกินยาดองนี้ประจำไป แก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลายดีนัก” [8]
“กษัยลิ้นกระบือ”ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ มีความแตกต่างจากศิลาจารึกของวัดโพธิ์ในรัชกาลที่ ๓ ที่มีช่วงเวลาต่างกันประมาณ ๒๓ ปี ดังต่อไปนี้
ประการแรก ขั้นตอนการรักษากษัยลิ้นกระบือในศิลาจารึกวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สรุปใจความได้ว่าแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ๑. การกินยาเนาวหอยพร้อมน้ำด่างที่ใช้เป็นกระสาย, ๒. ขั้นตอนการรุ(ขับถ่ายของเสีย) ซึ่งใน ๒ ขั้นตอนแรกนี้จะทำสลับกันจนรุได้ครบ ๓ ครั้ง และหากโรคนั้นหนักจนบวมท้องจึงไปขั้นตอนที่ ๓ ให้แต่งตำรับยาสำหรับแก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลายกระทำให้บวม [7]
แต่กษัยลิ้นกระบือในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน โดย ๓ ขั้นตอนแรกเหมือนกันกับศิลาจารึกวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ได้มีการ “แยกกษัยลิ้นกระบือบั้นปลาย” ออกมาจาก “การบวม”ในขั้นตอนที่ ๓ ให้กลายเป็นขั้นตอนที่ ๔ เรียกตำรับยานี้ว่า “ยาดองแก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลาย” แสดงให้เห็นว่านอกจากจะมีการยืนยันที่จะใช้ตำรับยากษัยลิ้นกระบือตามแนวทางของศิลาจารึกในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว ยังมีการพัฒนา “ขั้นตอนการรักษา” ที่ “มีความละเอียดขึ้นกว่าเดิม” อีกด้วย
ประการที่สอง วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นน้ำด่างกระสายยาเนาวหอยสำหรับกษัยลิ้นกระบือนั้น ปรากฏว่ามีการลดจากวัตถุที่นำมาใช้เป็นน้ำด่างจาก ๗ ชนิด ตามศิลาจารึกของวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เหลือเพียง ๖ ชนิด โดยมีการตัด “ผักโหมหนาม”ออกไป ซึ่งแม้คนในยุคนี้จะไม่ทราบถึงเหตุผลการตัดสมุนไพรดังกล่าวออกไป แต่ย่อมแสดงให้เห็นว่าการชำระตรวจสอบกษัยลิ้นกระบือมีความละเอียดถี่ถ้วนแม้กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนสมุนไพรตัวเดียวที่นำมาเป็นน้ำด่างกระสายที่ใช้กับยาเนาวหอย
ซึ่งในปัจจุบันหากใครได้ทำตามน้ำด่างที่นำมาใช้เป็นกระสายยาตามตำรับข้างต้นนี้ จะได้ค่าด่าง pH ประมาณ ๑๒ ซึ่งแม้จะเป็นด่างที่เข้มข้นมาก แต่เมื่อมาผสมกับตำรับยาเนาวหอยกลับไม่ปรากฏการกัดหรือแสบเนื้อเยื่อผิวจากความเป็นด่างเข้มข้นนั้นแต่ประการใด
การพัฒนาขั้นตอนและตำรับกษัยลิ้นกระบือได้ละเอียดดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของกษัยลิ้นกระบือ มีความเป็นไปได้อาจจะว่าจะมีการทดลองใช้แล้ว เมื่อทราบผลจึงนำมาซึ่งการพัฒนาตำรับกษัยลิ้นกระบือได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้
แม้นว่ากษัยลิ้นกระบือที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับจะสามารถถูกบันทึกและพัฒนามาเป็นตำราแพทย์แผนไทยต่อกันมาถึง ๘ แผ่นดิน แต่ก็โรคดังกล่าวก็ยังเป็นโรคที่รักษาไม่ง่าย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า
“ถ้าแก่แล้วตัวกษัยแตกออกแก้มิได้เลย ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอ่อนๆอยู่นั้นบางทีได้บ้างเสียบ้าง” [8]
ตามปกติในแพทย์แผนไทยตำรับใดที่มีความมั่นใจว่าได้ผลดีก็มักจะจบลงท้ายด้วยว่า”หาย” หรือ “หายดีนัก” หรือ “หายวิเศษนัก” แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากษัยลิ้นกระบือนั้นกลับไม่ปรากฏคำเหล่านี้เลย แสดงให้เห็นว่าโรคนี้ต้องมีความยากในการรักษาจริงๆ
และแม้แต่จะแก้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เรียกว่า “ให้แก้แต่ยังอ่อน” ก็ยังไม่แน่ว่าจะหายได้เสมอไป โดยมีคำว่า “บางทีได้บ้าง เสียบ้าง” แต่ถ้าถึงขั้นกษัยแตกคือ โลหิตและน้ำเหลืองไหลซึมไปที่ลำไส้ใหญ่น้อย ทำให้ไส้พองท้องใหญ่แล้ว “แก้มิได้เลย”
ความยากในการรักษาโรคดังกล่าวก็สอดคล้องกับวงการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีผลการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยมีโอกาสรอดชีวิตได้ถึง ๕ ปี น้อยมาก (ประมาณไม่ถึง ๙ %) ทั้งๆที่ระยะเวลาห่างจากระยะเวลาของภูมิปัญญาในศิลาจารึกของวัดโพธิ์ไม่ต่ำกว่า ๑๗๐ ปี แต่คำว่าผลการรักษา “บางทีได้บ้างเสียบ้าง” ก็อาจจะมีโอกาสชีวิตรอดได้มากกว่า ๙ % ก็ได้โดยเฉพาะถ้ามีการบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้จากวิวัฒนาการและงานวิจัยยุคปัจจุบัน ที่มีความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งรวมถึง สาเหตุแห่งโรค, การโภชนาการ, ผลการวิจัยสมุนไพรยุคใหม่, วิถีชีวิต ฯลฯ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะหมดหวังเมื่อเป็นโรคนี้ และด้วยเพราะเป็นโรคที่จัดการได้ยาก “กษัยลิ้นกระบือ” จึงได้จัดแบ่งเป็นขั้นเป็นตอนคือช่วงเวลากินน้ำที่ออกฤทธิ์ด่างจากเนาวหอยและด่างจากไม้หลายชนิด หลังจากนั้นจึงรุหรือขับถ่ายของเสียออกสลับกันไปตามเวลาที่กำหนด แม้จะมีอาการบวมที่เป็นกษัยลิ้นกระบือขั้นปลาย (ตราบใดที่ยังไม่แตกออก) ก็ยังแก้ไขได้จนใช้คำว่า “แก้กษัยลิ้นกระบือบั้นปลายดีนัก”
อย่างไรก็ตามยาที่ชื่อว่า ”เนาวหอย”นั้นเป็นยาสำคัญอีกตำรับหนึ่งที่ใช้ในกษัยลิ้นกระบือ โดยให้ทำตามที่ระบุเอาไว้ในกษัยจุก ซึ่งตำรับยาเนาวหอยนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลา ๑๗๐ ปีที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข้อความในสมุดไทย “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” ในส่วนของคัมภีร์กษัยเล่ม ๑ เลขที่ ๑๐๐๐ ในส่วนของกษัยจุก [8] หน้าต้นที่ ๔๘ -๔๙ (ตามภาพประกอบที่ ๑ ด้านขวาล่าง) ความว่า :
“ยาชื่อเนาวหอย เอากระดูกเสือเผา กระดูกโคเผา กระดูกแพะเผา กระดูกงูเหลือมเผา สิ่งละส่วน หอยขมเผา หอยแครงเผา หอยตาวัวเผา หอยพิมพการังเผา หอยอิรมเผา หอยกาบเผา หอยจุบแจงเผา หอยมุขเผา หอยสังข์เผา สิ่งละ ๒ ส่วน รากทนดี ๓ ส่วน เจตมูลเพลิง ๑ สหัสคุณเทศ ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน พริกไท ๓๒ ส่วน ทำเป็นผงบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำผึ้งกินหนัก ๑ สลึง แก้กษัยจุกหายวิเศษนัก ถ้ามิฟังละลายน้ำปูนใสให้กินดูก่อน ถ้ามิฟังจึงหุงน้ำมันแก้ต่อไป”
อย่างไรก็ตามหากจะวิเคราะห์ในแนวทางและทฤษฎีการแพทย์แผนไทยถึงสาเหตุแห่งโรคตลอดจนถึงแนวการรักษาโรคมะเร็งตับดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถอธิบายดัดแปลงภาษาแพทย์แผนไทยให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้าใจ ได้ดังนี้
โรคมะเร็งตับที่เรียกชื่อนี้กันในยุคปัจจุบัน คือสภาวะของการสูญเสียความสมดุล ทำให้ธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)ไม่ปกติ ส่งผลทำให้ “ระบบ”การทำงานของร่างกายผ่านธาตุสมุฏฐาน ปิตตะ(ระบบความร้อน) วาตะ (ระบบธาตุลมและการเคลื่อนไหว) และเสมหะ(ระบบของเหลว) ผิดปกติไปด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อ “ยกนัง” (ตับ) ซึ่งตั้งอยู่บน “ปวีธาตุ (ธาตุดิน)” สูญเสียสมดุลและสูญเสียหน้าที่ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดการคั่งค้างของพิษหรือของเสียในร่างกายและขับออกไม่หมด หรืออาจเกิดจากสิ่งเรียกว่า “กิมิชาติ” (ความหมายในปัจจุบันหมายถึงจุลชีพต่างๆ เช่น พยาธิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา) ทำให้ เป็นฝี เป็นก้อนเนื้อ หรือทำให้เกิดเป็นแผลเน่าเปื่อยลุกลามได้ด้วย การลุกลามของก้อนเนื้อและแผลเน่าเปื่อยที่มากขึ้นถูกเทียบเคียงเรียกว่า “โรคมะเร็ง” ในปัจจุบัน
“ยกนัง” คือตับและตับอ่อน ตั้งอยู่ชายโครงด้านขวา ตั้งอยู่บนปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ซึ่งมีเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)เป็นธาตุประจำโดยไม่ระคนกับธาตุอื่น เมื่อใดก็ตามที่ธาตุใดธาตุหนึ่ง ใน ๓ ธาตุ คือ อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) หรือเตโชธาตุ (ธาตุน้ำ) เกิดกำเริบ หย่อน พิการ ก็จะส่งผลกระทบต่อธาตุที่เหลือและสุดท้ายจะแสดงผลออกมาที่ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น
ตัวอย่างเช่น การเกิดโรคมะเร็งตับ(ที่เรียกกันในปัจจุบัน) เกิดจากเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)กำเริบอยู่ภายในปิตตะ (ระบบความร้อน) ส่งผลกระทบต่อธาตุที่เหลือและสุดท้ายต่อธาตุปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ของ“ยกนัง” (ตับ)พิการไป โดยพิจารณาจาก ๒ กรณีคือ พัทธะปิตตะ และอพันทธะปิตตะ
พัทธปิตตะ คือระบบความร้อนที่เกิดขึ้น “ภายในร่างกาย” เช่น “ยกนัง” (ตับ) ก่อให้เกิดการผลิตสิ่งต่างๆที่จำเป็นในการย่อยอาหาร กำจัดสารพิษ รวมทั้งการทำงานของต่อมต่างๆ ภายในร่างกาย และส่งผลต่ออามรณ์ด้วย เป็นต้น
อพัทธปิตตะ คือ ระบบความร้อนที่เข้ามาจาก “ภายนอกร่างกาย” เช่น อาหาร (ผ่านทางรสของอาหาร) อากาศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิ่งที่มากระทบต่ออายตนะ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นต้น
พิษของปิตตะที่เกิดขึ้นทั้ง ๒ กรณีข้างต้นกับ “ยกนัง” ให้พิษร้อน หากร้อนมากจะทำให้อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)แห้งลง จึงส่งผลกระทบต่อเสมหะ(ระบบของเหลว)แห้งลงไปด้วย การเกิดพิษของปิตตะดังกล่าวกระทำโทษ คือ เกิดความร้อนเผาผลาญของเหลวภายในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือด น้ำเหลือง ไขมัน ทำให้อวัยวะต่างๆ มีการบำรุงซ่อมแซมได้น้อย หากเกิดภาวะเช่นนี้ต่อไป มีผลทำให้อวัยวะภายในถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง และพิษของปิตตะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของธาตุ (รวมถึงเซลล์)ตามอวัยวะต่างๆด้วย ทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคที่เรียกในปัจจุบันว่า “โรคมะเร็ง”
เมื่อ “ยกนัง” (ตับ) ซึ่งตั้งอยู่บนปถวีธาตุ (ธาตุดิน)พิการไป จะทำให้เกิดโรคตับได้หลายชนิดที่เรียกชื่อกันในยุคปัจจุบัน เช่น เป็นฝีในตับ ไขมันแทรกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมถึงโรคมะเร็งตับด้วย เรียกโดยรวมว่า “ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ของยกนัง (ตับ)พิการไป” ตามหลักการในคัมภีร์ธาตุวิภังค์ และคัมภีร์โรคนิทาน [15]
แนวทางการรักษา คือ ลดเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ของปิตตะ(ระบบความร้อน)ลงใน “ยกนัง” (ตับ) โดยการเร่งระบายความร้อนออกไป รวมถึงเร่งระยายการขับถ่ายของเสียอันเป็นเหตุแห่งโรคที่คั่งค้างอยู่ภายในให้ออกไป และ ต้องวินิฉัยโรคและให้ตำรับยาตามระบุในคัมภีร์ต่างๆให้ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการบำรุงฟื้นฟู “ยกนัง” (ตับ)ให้แข็งแรง ควบคู่ไปกับการบูรณาการเรื่องอาหารให้ถูกต้องและดูและระบบทางเดินอาหารและการขับถ่ายโดยมิให้มีเหตุแห่งโรคเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารแสลงที่จะกระทบทำให้โรคเลวร้ายลงด้วย”
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับจึงเป็นภูมิปัญญาของชาติที่พระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์ที่น่าสนใจและน่าวิจัยที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าภูมิปัญญาเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนมาก
ด้วยความปรารถนาดี
อ. ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,คณบดี
แพทย์แผนไทยประยุกต์ แวสะมิง แวหมะ, รองคณบดี
สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง:
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,เปิดบันทึก มรดกภูมิปัญญาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๓ “รักษาโรคมะเร็งตับ”, MGR Online, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, คอลัมน์ ณ บ้านพระอาทิตย์, 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 16.12 น.
[2] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข , สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2559 หน้า 79-80, 87 ISSN 0857-3093
[3] Zhang W, Sun B. Impact of age on the survival of patients with liver cancer: an analysis of 27,255 patients in the SEER database. Oncotarget. 2015;6(2):633-641.
[4] Allemani C, Weir HK, Carreira H, et al. Global surveillance of cancer survival 1995-2009: analysis of individual data for 25,676,887 patients from 279 population-based registries in 67 countries (CONCORD-2). Lancet (London, England). 2015;385(9972):977-1010. doi:10.1016/S0140-6736(14)62038-9.
[5] Sripa B, Pairojkul C. Cholangiocarcinoma: Lessons from Thailand. Current opinion in gastroenterology. 2008;24(3):349-356. doi:10.1097/MOG.0b013e3282fbf9b3.
[6] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำราการแพทย์แผนไทย ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เล่ม 2 , ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, มิถุนายน 2557, ISBN : 978-616-11-2013-9
[7] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำราการแพทย์แผนไทย ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เล่ม 3 , ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, มิถุนายน 2557, ISBN : 978-616-11-2014-6
[8] กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ (๒๕๔๒) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่ ๕ เล่ม ๑, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
[9] กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ (๒๕๔๒) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่ ๕ เล่ม ๒, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
[10] กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ (๒๕๕๕) ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่ ๕ เล่ม ๓, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
[11] แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ ของ พระยาพิศณุประสาทเวช โรงพิมพ์ไทย ร.ศ. ๑๒๘
[12] แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ ของ พระยาพิศณุประสาทเวช โรงพิมพ์ศุภการจำรูญ ร.ศ. ๑๒๖
[13] มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมสุขภาพไทยเดิม อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์) ฉบับอนุรักษ์, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พฤษภาคม 2535 ISBN : 974-88780-2-3
[14] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พระนคร, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๓ ของ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ
[15] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๗