xs
xsm
sm
md
lg

ขนมจีนคลุกน้ำปลา : ส่อเค้าทุจริตเงินเด็ก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


แค่ได้ฟังข่าวพระทุจริตเงินงบประมาณช่วยเหลือการศึกษาของภิกษุสามเณร และข่าวข้าราชการโกงเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง คนไทยทั้งประเทศ (ยกเว้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโกง) รู้สึกหดหู่ใจพอแล้ว ครั้นต่อมาได้ยินข่าวครูมีพฤติกรรมส่อเค้าทุจริตงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โดยจัดอาหารให้เด็กมีเพียงขนมจีนกับน้ำปลา ยิ่งหดหู่ใจเพิ่มขึ้นไปอีก และบางคนอาจหดหู่ใจถึงขั้นปลงอนิจจังว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ประเทศไทยมีเรื่องทุจริตทำนองนี้ขึ้นมาได้

แต่ท่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง คงจะไม่แปลกใจและประหลาดใจที่มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในยุคที่ผู้บริหารประเทศ มุ่งเน้นแต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการลงทุนแล้วพอใจ ภูมิใจกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการส่งออก และการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของต่างชาติ

แต่ลืมลงไปดูความยากจนที่เกิดขึ้นในหมู่คนระดับล่าง หรือแม้กระทั่งคนในระดับกลางซึ่งเดือดร้อน เนื่องจากข้าวของแพงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิมหรือลดลงด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในคนสองกลุ่มคือ

1. คนยากจนในภาคเกษตร อันได้แก่ เกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีแต่ไม่มากพอที่จะทำเกษตรกรรม เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงชีพ ประกอบกับในขณะนี้ราคาพืชผลหลายชนิดราคาถูกไม่คุ้มทุน เป็นเหตุให้เกษตรกรเดือดร้อนจากการเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น

2. คนยากจนในภาคอุตสาหกรรม อันได้แก่แรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งมีรายได้ไม่พอจ่ายเนื่องจากราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้ไม่พอจ่ายถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มแล้วก็ตาม จึงทำให้คนจนทั้งสองกลุ่มนี้เดือดร้อนและความทุกข์ ความเดือดร้อนนี้เองเป็นเหตุให้คนจนส่วนหนึ่งกลายเป็นอาชญากรจำเป็นในคดียาเสพติด และขโมยทรัพย์สินเป็นภาระให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และศาลต้องทำงานหนักขึ้น

ยิ่งกว่านี้ ความยากจนยังเป็นเหตุให้นักการเมือง และข้าราชการประจำ นำมาอ้างเพื่อรองบประมาณช่วยเหลือจากรัฐ แต่เมื่อรับงบประมาณแล้ว ก็หาทางเบียดบัง ส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าของตนเอง และพวกพ้อง ดังที่ได้เกิดขึ้นในโครงการช่วยเหลือคนจนในรูปแบบต่างๆ ภายใต้โครงการประชานิยมในยุคของรัฐบาลในระบอบทักษิณ และโครงการประชารัฐในยุคของรัฐบาลปัจจุบันก็มีให้เห็น

ขนมจีนคลุกน้ำปลา ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทุจริตเงินช่วยเหลือคนจน ดังที่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้านท่าใหม่ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 200 คน และได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็ก 20 บาทต่อคน จึงเท่ากับวันละ 5,000 บาทต่อวัน และเท่ากับ 25,000 บาทต่อสัปดาห์ รวมทั้งเดือนเท่ากับ 100,000 บาท ซึ่งมากพอที่จะจัดหาอาหารที่มีค่าทางโภชนาการ และมีรสชาติอร่อยกว่าขนมจีนกับน้ำปลาแน่นอน

จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อพบว่า การจัดอาหารกลางวันให้แก่เด็กในทำนองนี้ได้เกิดขึ้น ณ โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2557

ดังนั้น เมื่อฟังข่าวนี้แล้ว ทำเกิดข้อกังขาว่า ถ้าข่าวนี้ไม่ปรากฏทางสื่อ ทางราชการจะพบว่ามีเหตุการณ์ในทำนองนี้ไหม และในขณะเดียวกันทำให้เกิดข้อสับสนว่าในโรงเรียนแห่งที่อื่นจะมีพฤติกรรมเยี่ยงโรงเรียนนี้ ยังจะมีอีกไหม? และคำตอบที่น่าจะมีก็คือ คงจะไม่พบและคงจะมีพฤติกรรมในทำนองนี้ในโรงเรียนแห่งอื่นด้วย

การที่ตอบเช่นนี้ ก็ด้วยมีความเชื่อตามนัยแห่งคำสอนของพันเอกปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนาในยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ว่า แมลงวันย่อมไม่ตอมซากแมลงวันด้วยกัน ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ระบบข้าราชการไทย ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำระบบอุปถัมภ์ จะมีระบบคุณธรรมสอดแทรกอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย ดังนั้น การตรวจสอบทุจริต และนำตัวหาผู้กระทำผิดกระทำได้ยาก เข้าทำนองลูบหน้าปะจมูก

2. แม้กระทั่งได้มีการตรวจพบการทุจริตแล้ว และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ผู้ต้องหาหลบหนีไปได้ โดยอาศัยช่องว่างของกระบวนการติดตามจับกุม โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่มีฐานะร่ำรวย

ด้วยเหตุ 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้ปัญหาทุจริตในภาครัฐแก้ได้ยาก และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนกระทั่งวันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของขนมจีนคลุกน้ำปลา ผอ.โรงเรียนเจ้าปัญหาได้ถูกย้าย และได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว

ส่วนว่าสอบแล้วจะมีความผิดหรือไม่ประการใด คงจะต้องติดตามกันต่อไป

แต่สิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้ก็คือ การป้องกันมิให้ปัญหาในทำนองนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งสามารถดำเนินการได้ไม่ยาก เพียงแค่จัดให้มีกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนซึ่งได้รับเลือกจากผู้ปกครองนักเรียน ผู้แทนจากวัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรรมการของวัด และผู้แทนครู ซึ่งได้รับเลือกจากครู แต่ไม่ควรแต่งตั้งโดยตำแหน่ง เนื่องจากทำให้เกิดการผูกขาดได้ง่าย และให้กรรมการมีหน้าที่ในการจัดหาอาหารกลางวันแก่เด็ก โดยใช้วิธีต่อไปนี้วิธีใด วิธีหนึ่งคือ

1. จัดซื้อวัตถุดิบจากนิติบุคคลในท้องถิ่น เช่น สหกรณ์กลุ่มแม่บ้าน หรือเอสเอ็มอี แล้วว่าจ้างบุคคลในท้องถิ่นประกอบอาหารเป็นรายวัน หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงเรียนก็ได้

2. เปิดประมูลให้นิติบุคคลรับจ้างประกอบอาหารเป็นรายปีหรือ 6 เดือนก็ได้

ส่วนทางกระทรวงเจ้าสังกัดจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจดำเนินงานของคณะกรรมการเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น