xs
xsm
sm
md
lg

จากข่าวการแปรรูป กฟภ. 3 จังหวัดภาคใต้ ถึงการผลิตไฟฟ้าแบบใหม่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

แม้ว่าผมได้ให้ความสนใจกับข่าวคราวเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไฟฟ้ามาตลอด แต่ก็ยอมรับว่าผมตกข่าวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนนี้ครับ ผมได้ตัดพาดหัวข่าวของ 4 สำนักข่าวมาให้ดูด้วยครับ

ข่าวที่ว่านี้คือ สหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภาคใต้ หลายจังหวัดได้รวมตัวกันเพื่อประท้วง “การแปรรูปไฟฟ้าในพื้นที่เป็นบริษัทเอกชน”

ต้นข่าวมาจากหนังสือราชการของผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงผู้ว่า กฟภ. ลงวันที่ 4 พ.ค. 61 ความว่า

“สืบเนื่องจากการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายศิริ จิระพงษ์พันธ์) นำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานและการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อที่ประชุมซึ่งมีนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบการนำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการใหม่ และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงพลังงาน สนับสนุนผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงานและนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำดำเนินการให้เร็วเกิดผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลนี้ให้ได้

ในการนี้ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และเกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม กฟผ. จึงใคร่ขอเรียนหารือในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยจะมอบหมายให้ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน (คุณพัฒนา แสงศรีวิโรจน์) เป็นผู้ประสานในรายละเอียด และกำหนดการนัดหมาย จะขอบคุณยิ่ง” (ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/803383)

รายละเอียดที่ว่านี้ คือ การจัดตั้งบริษัท RPS หรือ Regional Power System Company เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า โดยอ้างความต้องการพลังงานไฟฟ้าและความมั่นคงต่อระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยให้ กฟผ.ถือหุ้นในอัตรา 24.5% และ กฟภ.ถือหุ้นในอัตรา 24.5% และกลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือหุ้นในอัตรา 51%

ข่าวไม่ได้ระบุว่า กลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นใคร

นอกจากนี้บางข่าวยังได้ระบุว่านอกจาก 3 จังหวัดแล้ว ยังมีบางส่วนของจังหวัดสงขลาซึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่ความไม่สงบและโรงไฟฟ้าที่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้เศษไม้ยางพารา ผมเห็นตัวเลขจากบางสื่อ (แต่ค้นหาใหม่ไม่เจอ) รายงานว่าขนาดโรงไฟฟ้ารวมกันประมาณ 112 เมกะวัตต์

เหตุผลหนึ่งที่ทางพนักงาน กฟภ.ออกมาคัดค้านก็คือ “ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนประมาณ 500,000 ราย ต้องถูกโอนให้กับบริษัท RPS บริษัท RPS ชุบมือเปิบจากรายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ได้รับผู้ใช้ไฟ และนำรายได้ไปบริหารจัดการอย่างไร จะส่งต่อให้รัฐหรือนำไปบริหารกิจการสร้างกำไรให้ตนเอง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ของบริษัท RPS เป็นใคร และทำผลประโยชน์เพื่อชุมชนจริงหรือไม่ หรือจะทำกำไรเข้ากระเป๋าตนเอง และหากบริหารขาดทุนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ระบบจำหน่าย สายส่ง สถานีไฟฟ้า อาคารสำนักงาน และทรัพย์สินทุกอย่าง จะต้องให้บริษัท RPS ใช้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นทราบเพียงว่าจะจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าในการดำเนินการให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งไม่รู้ว่าจะดำเนินการไปได้แค่ไหน คุ้มทุนที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ลงทุนไปอย่างไร” (http://www.nationtv.tv/main/content/378630246/?qz=)

ในแง่ผลกระทบต่อประชาชน ข่าวชิ้นเดียวกันรายงานว่า “ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจต้องขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า หากการบริหารจัดการของบริษัท RPS ไม่มีผลกำไร แต่หากยังคงเป็นการบริหารจัดการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องบริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ต่อไป หากมีการจัดตั้งบริษัท จะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่คาดล่วงหน้าได้ว่าวัตถุดิบหลักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ไม้ ยางพารา ซึ่งไม่นานคงจะต้องหมดไป ดังนั้น วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าอาจเป็นอื่นที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน และมลพิษที่จะเกิดต่อชุมชนติดตามมา”

ต้องขอบคุณพนักงาน กฟภ.ที่มีความกล้าหาญลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในครั้งนี้ ภายใต้รัฐบาล คสช.ที่อ้างว่าจะ “คืนความสุขให้ประชาชน” แต่นับวันยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้นทุกวัน

เรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มีรายละเอียดเยอะ ผมเองไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เท่าที่ผมจำได้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีความดึงดูดนักลงทุนเป็นพิเศษ ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา คือ

หนึ่ง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ทั่วประเทศ) ดังนั้นนักลงทุนจึงนิยมทำขนาด 9.9 เมกะวัตต์

สอง อนุญาตให้ใช้ถ่านหินได้ไม่เกิน 25% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด (ทั่วประเทศ)

สาม ราคารับซื้อไฟฟ้า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคจ่าย เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดมากกว่า 3 กิโลวัตต์ ในจังหวัดทั่วไปจะรับซื้อในราคา 4.24 บาทต่อหน่วย บวกกับ 0.30 บาท ในช่วง 8 ปีแรก แต่ถ้าตั้งอยู่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จะได้รับเพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วย (ตลอด 20 ปี-ประกาศปี 2558)

คิดคร่าวๆ จะได้ว่าโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ที่ตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดจะได้รับเงินเพิ่มพิเศษปีละประมาณ 35 ล้านบาท เมื่อเทียบกับที่ตั้งในจังหวัดอื่นของประเทศในขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในจังหวัดอื่นก็สามารถขายไฟฟ้าได้สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจ่ายอยู่แล้ว

เรียกว่าใครได้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยจะได้กำไรหลายต่อ แต่ถ้าตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้จะได้เพิ่มอีกต่อหนึ่ง จึงเป็นที่หมายปองของนักลงทุนที่อาศัยนโยบายของรัฐเป็นที่พึ่งพิง

มิน่าเล่าจึงจะต้องรีบทำให้แล้วเสร็จภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ (ตามข่าว)

ผมยังมีข้อมูลสำคัญที่จะเรียนให้คนไทยและพนักงาน กฟภ.ได้รับทราบ อีก 2ชิ้นสั้นๆ ดังนี้

หนึ่ง ข้อมูลจากองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อย่อว่า IRENA (ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นสมาชิก) พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าในการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ถูกกว่าต้นทุนที่ผลิตจากชีวมวล และถูกกว่าต้นทุนที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ดูภาพประกอบ)

ดังนั้น การเร่งรีบให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจึงเป็นการผลักภาระและยัดเยียดความล้าสมัยไปให้ประชาชน เพราะเทคโนโลยีอื่นที่ก้าวหน้ามีราคาถูกกว่า

สองรัฐแคลิฟอร์เนียผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 59.7% และใช้แบตเตอรี่มากกว่าถ่านหิน


มีมายาคติในวงการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยและอีกหลายประเทศมายาวนานว่า ในการผลิตไฟฟ้าให้เสถียรและมั่นคงจำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก (base load) ซึ่งมักจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังต้องมีโรงไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองในช่วงที่มีความต้องการสูง (peak) ของแต่ละวันด้วย แต่ข้อมูลจากรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีกำลังการผลิตโดยรวมใกล้เคียงกับประเทศไทยเราได้ทำลายมายาคติเดิมๆ นี้ไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูง ผมมีรูปให้ดูด้วยครับ

เมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย. 61) ผมตื่นขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่าที่เวลา 16.15 น.ของรัฐแคลิฟอร์เนียผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 59.7% ในจำนวนนี้ใช้แบตเตอรี่ขนาด 55 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าจากถ่านหินเพียง 18 เมกะวัตต์ หรือ 0.1% ของกำลังการผลิตทั้งหมดเท่านั้น

ในขณะที่เมื่อเวลา 10.10 น. กำลังการผลิตมากเกินความต้องการจึงได้มีการเก็บไฟฟ้าลงแบตเตอรี่ถึง 111 เมกะวัตต์ (กราฟด้านล่างขวามือ) แต่เมื่อเวลา 16.10 น. แบตเตอรี่ได้ปล่อยไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่ง 55 เมกะวัตต์

การใช้แบตเตอรี่ดังกล่าวได้ทำลายอุปสรรคเก่า เช่น ความเสถียรของกระแสไฟฟ้า รวมทั้งโรงไฟฟ้าหลักไปอย่างสิ้นเชิง เพราะแบตเตอรี่จะเป็นตัวปรับให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการกับอุปทานโดยอัตโนมัติตลอดเวลา

สิ่งที่พวกขุนนางพลังงานไทยจะเถียงก็คือ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เป็นภาระกับประชาชน ซึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียก็แพงกว่าราคาในประเทศไทยจริง

แต่เรื่องค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งเรื่องภาษีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ต้นทุนที่เกิดจากแบตเตอรี่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว บางโครงการที่ผมติดตาม ราคาไฟฟ้าที่เกิดจากแบตเตอรี่ประมาณหนึ่งบาทกว่าๆ เท่านั้นโดยมีอายุการใช้งานนานถึง 15 ปี

แต่เรื่องการแปรรูป กฟภ.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอนครับนอกจากจะเป็นการทำให้ค่าไฟฟ้าแพงแล้ว ยังเป็นการยัดเยียดความล้าสมัยให้คนไทยใช้ไปอีกนานนับ 20 ปี

ขอขอบคุณพนักงาน กฟภ.อีกครั้งครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น