xs
xsm
sm
md
lg

ประมูลคลื่น 1800 ล่ม เกมนี้ใครเป็นผู้กำหนด

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ต้องล้มเลิกไปตามความคาดหมาย เพราะค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย คือทรู เอไอเอส และดีแทคไม่เข้าประมูล

เหตุผลของทั้ง 3 ค่ายคือ ราคาแพงเกินไป และแต่ละค่ายมีคลื่นมากพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องประมูลคลื่นความถี่เพิ่มอีก ในตอนนี้ กสทช.กำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับการประมูล 37,457 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 ครั้งก่อน เมื่อปลายปี 2558

ที่บอกว่า การประมูลคลื่น 1800 ล่ม เป็นสิ่งที่คาดหมายได้อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้การประมูลคลื่น 1800 ถูกทรูกับเอไอเอสจับเป็นตัวประกัน โดยขู่ว่า หาก คสช. ไม่ใช้มาตรา 44 ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz งวดสุดท้าย จากที่จะต้องจ่ายทั้งหมด 60,000 ล้านบาท ในปี 2562 ให้แบ่งจ่ายเป็น 5 งวดๆละหนึ่งหมื่นกว่าล้านบาท โดยเสียดอกเบี้ยถูกๆ คือ เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งตอนนี้เท่ากับร้อยละ 1.5 ก็อาจจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เพราะไม่มีเงิน ปรากฏว่า คสช.ไม่กล้าให้ตามคำขอของทรูและเอไอเอส เพราะกระแสคัดค้านของสังคม ซึ่งเห็นว่าการยืดอายุค่างวดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทรูและเอไอเอสชัดๆ จะอธิบายอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น เมื่อถึงเส้นตาย ตัวประกันจึงถูกกำจัดทิ้งตามคำขู่

สำหรับดีแทคซึ่งการประมูลคลื่น 900 และคลื่น 1800 ครั้งก่อนไม่สู้ราคา จึงแพ้การประมูล คราวนี้ฝ่ายบริหารของดีแทคประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การประมูลก่อนแล้ว จึงเป็นการแสดงท่าทีว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลด้วย หาก กสทช.ยังใช้หลักเกณฑ์เดิม

แต่สาเหตุที่ทำให้ดีแทคตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะไม่เข้าประมูลคือ ได้รับอนุญาต จากทีโอทีให้เช่าคลื่น 2300 MHz มาใช้แทนคลื่น 1800 ที่หมดสัมปทานเป็นเวลา 5 ปี จึงไม่จำเป็นต้องเข้าประมูล ภายใต้กติกาที่ตนไม่เห็นด้วย

คลื่น 1800 ที่ไม่สามารถจัดประมูลได้ในครั้งนี้ เป็นสัมปทานของ กสท.ที่ดีแทคใช้อยู่จะหมดอายุวันที่ 15 กันยายนปีนี้ เป็นการสิ้นสุดระบบสัมปทานของโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่ระบบใบอนุญาตอย่างสมบูรณ์แบบ กสท.ต้องคืนคลื่นให้ กสทช.นำมาจัดสรรใหม่

ผลกระทบจากการที่ กสทช.ไม่สามารถจัดประมูลคลื่น 1800 ได้คือ มีคลื่นว่างๆ เหลืออยู่ 45 MHz ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ซึ่งจะกระทบกับการบริการในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีจากนี้ เพราะปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และหากผู้ประกอบการไม่ลงทุนขยายโครงข่ายชดเชยความไม่เพียงพอของคลื่น

ความล้มเหลวของการประมูลคลื่นครั้งนี้ ได้ฉายภาพให้เห็นชัดๆ อีกครั้งหนึ่งว่า ทิศทางกิจการโทรคมนาคมของชาติในยุค 4.0 ถูกกำหนดด้วยทรู เอไอเอส และดีแทค เท่านั้น ถ้าทั้ง 3 ค่ายนี้เห็นว่าไม่ได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องเข้าประมูลคลื่น ก็จับมือ “ฮั้ว” กันล้มประมูล โดยที่ กสทช.ซึ่งโดยบทบาทแล้ว เป็นผู้กำกับดูแล ทำอะไรไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต้องถาม คสช.ว่าจะให้ทำอย่างไร

ตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ 2100 ซึ่งเป็นการประมูลครั้งแรกในระบบใบอนุญาตเมื่อปี 2555 มาจนถึงการประมูลคลื่น 1800 ที่ล่มไป ซึ่งทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นใน กสทช.ยุคนี้ กฎกติกาในการประมูลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอื้อต่อการผูกขาดของผู้ที่เข้ามาในตลาดก่อน และกีดกันไม่ให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาขั้นต้นการประมูลที่ครั้งแรกต่ำเกินไป ครั้งล่าสุดสูงเกินไป การออกแบบการประมูลที่ให้มีใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล 1 ใบ หรือสูตร N-1 การกำหนดขนาดของคลื่นต่อใบอนุญาตที่ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต แทนที่จะลดขนาดให้เล็กลงเพื่อให้มีจำนวนใบอนุญาตมากขึ้น เปิดช่องให้มีผู้เข้าประมูลรายใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าผู้ที่อยู่ในตลาดมาก่อน ไปจนถึงการจำกัดสิทธิของต่างชาติในการเข้าร่วมประมูล

การตั้งราคาขั้นต่ำการประมูลครั้งนี้ เท่ากับราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 เมื่อปี 2558 คือ 37,457 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงมากในภาวะที่ความต้องการใช้คลื่นมีน้อยกว่าเมื่อปี 2558 เพราะดีแทคมีคลื่น 2300 ของทีโอทีใช้แล้ว การตั้งราคาไว้สูงๆ จึงเหมือนเป็นการตั้งกำแพงกันไม่ให้ผู้ประมูลหน้าใหม่เข้ามาประมูลแข่ง เพราะจะมีต้นทุนที่สูงมาก ไม่คุ้มกับการลงทุน

ในขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดแล้ว ก็อ้างเรื่องราคาสูงเป็นเหตุผลในการไม่ร่วมประมูลได้ โดยที่ตัวเองก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีคลื่นในมือพอแล้ว จับมือฮั้วกันล้มประมูลเสียเลย

เรื่องราคาที่สูงเกินไปเป็นสิ่งที่ กสทช.รู้อยู่แล้วว่า เป็นปัญหาที่อาจทำให้ไม่มีผู้ร่วมประมูลแต่ก็ไม่ยอมแก้ รวมทั้งกติกาอื่นที่เป็นการกีดกันผู้ประมูลรายใหม่ๆ แต่ก็ไม่ยอมแก้ไข เดินหน้าผลักดันการประมูลให้ไปสู่จุดจบคือ การประมูลล่ม

เป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเกมที่มีผู้กำหนดไว้แล้ว สุดจะหยั่งรู้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น