xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท

กองทัพสหรัฐฯ ซ้อมรบที่เกาหลีใต้
เปิดฉากสัปดาห์นี้...เพื่อให้เข้าบรรยากาศสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ที่ใครต่อใครยังฮือฮากันไม่จบ หรือจะให้เข้ากับบรรยากาศ “บอลโลก 2018” ที่รัสเซีย ที่มุ่งแต่จะเตะบอล ไม่ได้คิดไล่เตะ ไล่ถีบ ฝ่ายหนึ่ง-ฝ่ายใดก็ยังได้ เลยคงต้องขออนุญาตชวนเชิญให้ “ตามไปดู” ว่าถ้าหากการตัดสินใจ “เลิกซ้อมรบ” ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ มันเกิดเป็นจริง-เป็นจัง ตามคำพูด การดำริของผู้นำอเมริกาขึ้นมาแล้วไซร้...บรรดาทหารอเมริกันจำนวนประมาณ 28,500 นาย ที่แออัดยัดเยียดอยู่ในเกาหลีใต้ ควรจะเก็บเอาไว้ทำยา หรือทำพระแสงด้ามสั้น ด้ามยาวอีกต่อไปหรือไม่ หรือควรได้เวลาที่จะถอนตัวออกมา พร้อมๆ กับการลบล้าง “มรดกบาปแห่งยุคสงครามเย็น” ให้หมดสิ้นลงไป เปิดทางให้กับ “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” แห่งสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี สามารถเป็นไปตามความมุ่งหวังตั้งใจของทุกๆ ฝ่าย...

อันที่จริงแล้ว...การคิดจะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากคาบสมุทรเกาหลี ปิดฉากยุค “สงครามเย็น” ให้หมดสิ้นลงไปซะที เคยเป็นสิ่งที่ผู้นำอเมริกันบางราย เคยคิดๆ เอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วมาโน่นเลย นั่นก็คือประธานาธิบดี “จิมมี คาร์เตอร์” ที่เคยหยิบเอาเรื่องนี้มาหาเสียงตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี และเมื่อสามารถผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1977 เจ้าของรางวัลโนเบล ไพรซ์แบบตัวจริง-เสียงจริงรายนี้ ก็ได้เอาจริง-เอาจังกับแนวคิดดังกล่าว ถึงกับจัดทำบันทึกความเข้าใจของประธานาธิบดีที่เรียกว่า “การลดระดับกองกำลังตามแบบแผนของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลี” (Reduction in US. Conventional Force level on Peninsula) เพื่อใช้กำหนดเป็นนโยบายในการถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะกำลังทหารราบ รวมทั้งอาวุธร้ายแรงเช่นขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวน 700 ลูก คงเอาไว้แต่กองกำลังทางอากาศและเครือข่ายการส่งกำลังบำรุง ที่พอช่วยให้ดุลอำนาจในคาบสมุทรเกาหลีไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง...

ใครที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดเพื่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ของอดีตประธานาธิบดี “จิมมี คาร์เตอร์” ลองไปหาอ่านได้จากข้อเขียน บทความ เรื่อง “How the Deep State Stopped a US President From Withdrawing US Troops From Korea” ในเว็บไซต์ “The Diplomat” ที่บรรณาธิการอาวุโส อย่าง “Franz-Stefan Gady” ได้เรียบเรียงให้เห็นเป็นฉากๆ แต่ถ้าลองสรุปภาพให้เห็นโดยคร่าวๆ แรงจูงใจที่ทำให้อดีตประธานาธิบดี “คาร์เตอร์” คิดจะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้นั้น เชื่อมโยงอยู่กับเหตุการณ์ประมาณ 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1. กรณีทหารสหรัฐฯ 2 ราย ตกเป็นเหยื่อสังหารโดยทหารเกาหลีเหนือในพื้นที่เขตปลอดทหาร อันนำมาซึ่งความเศร้าสลดต่อบรรดาครอบครัวชาวอเมริกัน ที่ลูกๆ หลานๆ ถูกส่งไปตายในดินแดนต่างๆ ที่ประเทศอเมริกาไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย 2. กรณีที่รัฐบาลเกาหลีใต้ยุคนั้น หรือในยุคของประธานาธิบดี “ปัก จุงฮี” (Park Chung-Hee) ออกอาการเผด็จการแบบสุดเดช สุดด้าม ชนิดที่ตัวประธานาธิบดีคาร์เตอร์ อดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยปากถึงขั้นว่า... “เราควรต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าการปราบปรามประชาชนภายในประเทศของพวกเขา เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับประชาชนของเรา และจะเป็นตัวทำลายความสนับสนุนต่อข้อตกลงต่างๆ ที่เรามีกับรัฐบาลเกาหลีใต้” 3. กรณีที่บรรดานักล็อบบี้เกาหลีใต้ พยายามติดสินบนสมาชิกสภาสหรัฐฯ เพื่อให้ออกเสียงปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ จนเกิดเรื่องอื้อฉาวที่ถูกเรียกขานกันในนาม “Koreagate” และประการสุดท้าย คือ 4. คาร์เตอร์นั้นมีความต้องการเอามากๆ ที่จะตัดทอนงบประมาณทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ที่แทบไม่ได้สัดได้ส่วนเอาเลย เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ ไม่ว่าการศึกษา สวัสดิการสังคม หรือต้องการลดความอุ้ยอ้าย เทอะทะของกองทัพสหรัฐฯ (Trimming the Fat) โดยเฉพาะเมื่อมีข้อสรุปจากคณะกรรมการงบประมาณของสภา (Congressional Budget Committee) ว่าการถอนกำลังทหารภาคพื้นดินของสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้ โดยไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจใดๆ ในคาบสมุทรเกาหลี สามารถช่วยประหยัดงบประมาณให้กับประเทศ ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เป็นอย่างน้อย...

แผนการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้...จึงเริ่มเปิดฉากเป็นจริง-เป็นจังมาตั้งแต่บัดนั้น ถึงขั้นมีการส่งรองประธานาธิบดี “วอลเตอร์ มอนเดล” (Walter Mondale) ไปญี่ปุ่นเพื่อหารือถึงแผนการดังกล่าวจัดทำบันทึกความเข้าใจของประธานาธิบดีออกเผยแพร่อย่างเป็นงาน-เป็นการ รวมทั้งรายงาน “การประเมินปัญหาสิทธิมนุษยชนในเกาหลีใต้” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่ถูกเรื่อง ไม่เข้าท่า ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะให้การปกป้อง คุ้มครอง รัฐบาลที่กดขี่ ปราบปรามประชาชนของตนเอง ออกมาเสริมเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยอีกต่างหาก...

แต่สุดท้าย...ก็อย่างที่บรรณาธิการอาวุโส “Franz-Stefan Gady” สรุปเอาไว้ใน “The Diplomat” นั่นแหละว่า สิ่งที่ถูกเรียกขานกันในนาม “Deep State” ในทุกวันนี้ อันประกอบไปด้วยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชุมชนหน่วยข่าวกรองทั้งระบบ รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการทหาร ฯลฯ ต่างรวมหัว รวมตัวเล่นงานนโยบายถอนทหารของคาร์เตอร์ จนหมดสภาพ หรือจนต้อง “เจ๊ง” ไปในปี ค.ศ.1979 ชนิดไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี หรือไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้อีกเลย จนทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยข้อความที่ว่า “มันมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิด ระหว่างผู้นำทางทหารสหรัฐฯ และผู้นำทางทหารเกาหลีใต้ที่ทำให้เกิดแรงกดดันอันมหาศาลออกมาจากเพนตากอนและซีไอเอ” อันส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถเป็นจริง-เป็นจังขึ้นมาได้...

แต่เมื่อมาถึง ณ ขณะนี้...ฉากสถานการณ์ต่างๆ มันจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วมาก-น้อยขนาดไหน แม้ว่า “Deep State” ก็ยังคงเป็น “Deep State” ที่สามารถหันซ้าย-หันขวาประธานาธิบดีอเมริกันรายใดก็ย่อมได้ แต่ด้วย “ความบ้า” หรือ “ความคาดเดาไม่ได้” ของ “ทรัมป์บ้า” นั้น ก็ดูจะทำให้ “Deep State” ออกจะปวดหัว เวียนเฮดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน คือยังไม่อาจสรุปลงไปได้ชัดๆ จนถึงบัดนี้ ว่า “ปฏิบัติการซ้อมรบ” ระหว่างอเมริกากับเกาหลีใต้ จะต้องถูกยุติ หรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจริงๆ หรือไม่ อีกทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้ยุคนี้ แทบจะเป็นคนละเรื่อง คนละม้วน กับรัฐบาลเกาหลีใต้ยุค “ปัก จุงฮี” แบบชนิดพลิกหลังตีนเป็นหน้ามือเอาเลยก็ว่าได้ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้ผู้นำทางทหารเกาหลีใต้เคยถูกประธานาธิบดีเรียกไป “เฉ่ง”กรณีปิดบังรายละเอียด เกี่ยวกับระบบป้องกันขีปนาวุธบนพิกัดตำแหน่งสูง (THAAD) ที่ถูกนำมาติดตั้งในเกาหลีใต้ อันเป็นสิ่งประธานาธิบดี “มุน แจอิน” ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “ศัตรูของอเมริกา” ในช่วงยุค “สงครามเย็น” ไม่ว่าจีนและรัสเซีย ต่างได้เปลี่ยนมาใช้ “สันติภาพ” แทนที่จะอาศัย “สงคราม” เป็นเครื่องมือในการแก้ไขข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาเมื่อครั้งอดีตอีกต่อไปแล้ว อันนี้นี่แหละ...ที่อาจช่วยให้ความหวังต่อ “สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี” มีสิทธิเป็นจริง-เป็นจังขึ้นมาได้มั่ง โดยที่ประธานาธิบดีอเมริกันรายนี้ อาจได้รับรางวัลโนเบล ไพรซ์ แบบ “ส้มหล่น” หรือไม่ ประการใด ก็ตามแต่...


กำลังโหลดความคิดเห็น