xs
xsm
sm
md
lg

บินอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน ทำไมไทยสมายล์ขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


ผลดำเนินงานปี พ.ศ. 2560 ของสายการบินไทยสมายล์ขาดทุนสุทธิถึง 1,626 ล้านบาท ในขณะที่สายการบินอื่นๆ ล้วนแต่มีกำไร ยกเว้นสายการบินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ คือ การบินไทย กับนกแอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย เช่นเดียวกับ ไทยสมายล์

การบินไทยขาดทุน 2,072 ล้านบาท นกแอร์ขาดทุน 1,825 ล้านบาท

ไทยแอร์เอเชียกำไร 1,477 ล้านบาท บางกอกแอร์เวย์สกำไร 787.91 ล้านบาท ส่วนไทย ไลอ้อนแอร์ ซึ่งมาทีหลังใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อสร้างมาร์เก็ตแชร์ ขาดทุน แต่ไม่มีข้อมูลว่าเท่าไร เพราะไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปีที่แล้ว ธุรกิจการบินได้อานิสงส์ปัจจัยบวกเหมือนกันคือ การท่องเที่ยวขยายตัว นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้รับผลกระทบปัจจัยลบเดียวกัน คือ ต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นประมาณ 20% และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้ส่วนต่างกำไรลดลง ทั้งบางกอกแอร์เวย์ส และไทยแอร์เอเชียกำไรลดลง แต่ก็ยังกำไร ส่วนการบินไทย นกแอร์ และไทยสมายล์ขาดทุน

ทุกสายการบินดำเนินงานทำการบินภายใต้ท้องฟ้าเดียวกัน มีเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมเหมือนๆ กัน ทำไมสายการบินเอกชนจึงมีกำไร แต่สายการบินที่เป็นรัฐวิสาหกิจขาดทุน นายฉัตรชัย ปานอยู่ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทนสมายล์ บอกว่า ขาดทุนเนื่องจากราคาจำหน่ายตั๋วโดยสารของไทยสมายล์ปรับลดลง เพราะมีการแข่งขันด้านราคารุนแรงจากสายการบินต้นทุนต่ำ รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

ไทยสมายล์วางตำแหน่งตัวเองเป็นสายการบินพรีเมียม โลว์คอสต์ ตั๋วแพงกว่าโลว์คอสต์ ให้บริการมากกว่าโลว์คอสต์ เช่น ให้ผู้โดยสารโหลดสัมภาระ 20 กิโลกรัม โดยไม่คิดค่าบริการ แต่การที่ต้องลดราคาตั๋วเพื่อแข่งขันกับโลว์คอสต์ ก็แสดงว่า ไม่สามารถรักษาความเป็นพรีเมียม โลว์คอสต์ ซึ่งมีอยู่สายการบินเดียวได้ หรืออีกทางหนึ่ง ในตลาดสายการบินมีสายการบินอยู่ 2 ประเภทเท่านั้นคือ สายการบินพรีเมียม กับสายการบินโลว์คอสต์ ไม่มีสายการบินแบบพรีเมียม โลว์คอสต์ เป็นตลาดที่การบินไทยคิดขึ้นมาเอง

การวางตำแหน่งตัวเองเป็นสายการบินพรีเมียม โลว์คอสต์ ทำให้ไทยสมายล์มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการบริการแบบพรีเมียม แต่ต้องขายตั๋วในราคาแบบโลว์คอสต์จะไม่ให้ขาดทุนได้อย่างไร

โครงสร้างธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ของการบินไทยนั้น มีความซ้ำซ้อนคือ มีนกแอร์ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแข่งกับไทยแอร์เอเชีย แต่การบินไทยคุมนกแอร์ไม่ได้ แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด นกแอร์เป็นรัฐอิสระเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ไม่สามารถควบคุม สั่งการ หรือปลดผู้บริหารที่ถือหุ้นเพียง 2% ได้

การบินไทยในยุคที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จึงมีแผนร่วมทุนกับไทเกอร์ แอร์เวย์ส สายการบินโลว์คอสต์ของสิงคโปร์ ตั้งสายการบินไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์สสู้กับไทยแอร์เอเชีย แต่ถูกขัดขวางจากนักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ซึ่งกำกับดูแลการบินไทยในตอนนั้น โดยอ้างว่า การบินไทยมีนกแอร์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์อีกสายให้ซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง

การบินไทยจึงหาทางออก โดยตั้งสายการบินไทยสมายล์ขึ้นมา โดยกำหนดให้เป็นสายการบินพรีเมียม โลว์คอสต์ เพื่อจะได้ตอบคำถามที่ว่า มีนกแอร์แล้ว จะตั้งโลว์คอสต์ แอร์ไลน์อีกทำไม

ตอนแรกไทยสมายล์เป็นหน่วยธุรกิจภายใต้การบินไทยเรียกว่า หน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ แต่ต่อมาไม่นาน ไทยสมายล์ถูกแยกออกจากการบินไทย เป็นบริษัท ไทยสมายล์ จำกัด เมื่อปี 2555 โดยมีการบินไทยถือหุ้น 100% และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

การแยกออกมาเป็นบริษัท ก็เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็คือการสร้างรัฐอิสระที่มีการบริหาร มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นกับการบินไทย ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ไล่เลี่ยกับการตั้งไทยสมายล์ การบินไทยลงทุนร่วมกับบริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด ตั้งบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส ขึ้นมาเป็นกิจการรับช่วงการให้บริการ หรือ Outsource ทำหน้าที่ให้บริการบนเครื่อง ให้บริการภาคพื้นดิน บริการซ่อมบำรุงให้กับ ไทยสมายล์

สายการบินไทยสมายล์ มีแต่ชื่อ และผู้บริหาร ส่วนพนักงานทั้งบนเครื่อง และภาคพื้นดินเป็นพนักงานของวิงสแปน ต้นทุนค่าใช้จ่ายของไทยสมายล์ ก็คือ ค่าจ้างที่จ่ายให้กับวิงสแปน ซึ่งมีอัตราแน่นอน สภาพการแข่งขันในธุรกิจการบินจะรุนแรงขึ้น ไทยสมายล์จะต้องลดค่าตั๋วลงมา ไม่กระทบกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้กับวิงสแปน ไทยสมายล์จะขาดทุนมากหรือน้อย ต้องจ่ายค่าจ้างให้วิงสแปนเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สายการบินอื่นๆ ที่มีกำไรแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับไทยสมายล์ ก็เพราะมีการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายได้คล่องตัว ยืดหยุ่นกว่าไทยสมายล์ สาเหตุที่ไทยสมายล์ขาดทุนมาทุกปี ก็ไม่ต่างจากสาเหตุการขาดทุนของการบินไทยคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น