ผู้จัดการรายวัน360- "อุตตม" แย้มมีนักลงทุนต่างชาติ 9 รายให้ความสนใจที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอีอีซีอย่างมีศักยภาพ พร้อมเตรียมเดินสายโรดโชว์ร่วมรัฐบาลนำร่องอังกฤษและฝรั่งเศสปลายเดือนนี้โชว์ศักยภาพไทยเอาจริงเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุน 9 รายจากต่างชาติแสดงความสนใจที่จะร่วมดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ในพื้นที่เขตพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นโครงสร้างสำคัญพื้นฐานอย่างหนึ่งต่อการขับเคลื่อนอีอีซีเพราะจะก่อให้เกิดเมืองใหม่ที่รองรับทั้งภาคอุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของคนที่มีระบบอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยและดูแลสิ่งแวดล้อม
" การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาอีอีซีนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ 5 โครงการใหญ่ ซึ่งล่าสุดบอร์ดอีอีซีก็ได้รับทราบความก้าวหน้าในเรื่องนี้โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ซึ่งการลงทุนในอีอีซีรัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แต่ล่าสุดตัวเลขการลงทุนจากบีโอไอก็พบว่ามีประมาณ 3 แสนล้านบาทในขณะนี้ "นายอุตตมกล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการชักชวนให้เกิดการลงทุนในอีอีซีและให้นักลงทุนต่างชาติเห็นภาพที่ชัดเจนหลังจากที่พ.ร.บ.อีอีซีพ.ศ.2561 ได้ประกาศใช้แล้วตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะที่เกี่ยวข้องจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ยุโรปเป็นแห่งแรกคือ อังกฤษและฝรั่งเศสช่วงปลายเดือนนี้โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นช่วง 20-25 มิ.ย.โดยในส่วนของอังกฤษนั้นมีเป้าหมายชักจูงการลงทุนไบโอชีวภาพและยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ฝรั่งเศสเป็นการสานต่อและขยายความร่วมมือหลังจากที่บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้ลงนามกับบริษัทแอร์บัส เมื่อธันวาคม 2560 ในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา
นอกจากนี้ยังจะเน้นย้ำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลต้องการผลักดันให้ลงทุนจริง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หลังจากที่รัฐบาลประกาศเชิญชวนการลงทุน และเตรียมเปิดขายซอง ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท อายุสัมปทาน 50 ปี
สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 5 โครงการ ที่คาดจะมีเงินลงทุน 600,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา 3. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 4. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 5. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3