xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย ง่ายนิดเดียว

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA


การออกแบบระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทยควรคำนึงถึงหลักการอย่างน้อยสามประการ อันเป็นหลักการสำคัญของการวัดทางจิตวิทยาและการศึกษา (Psychological and educational measurement)

ประการแรก การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีความตรงเชิงพยากรณ์ (Predictive validity) หมายความว่าคะแนนจากการสอบเข้าไม่ว่าจะ TCAS หรือ Entrance หรือระบบไหนก็ตามต้องสัมพันธ์กับผลการเรียนในชั้นปีหนึ่ง (First year grade point average: FYGPA) เป็นอย่างน้อย คือเข้าไปแล้วสอบผ่าน ต้องเรียนได้ และเรียนได้ดีพอควร ไม่มีการรีไทร์ แบบนี้ถึงจะถือว่าระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นระบบที่ดี ดังนั้นมหาวิทยาลัยไหนจะกำหนดวิชา วิธีการสอบเข้าอย่างไรก็ได้ ให้เหมาะสมกับสาขาวิชาหรือคณะของตน แต่สอบเข้าไปแล้วต้องเรียนได้และเรียนได้ดี ต้องมีการวิจัยศึกษาความตรงเชิงพยากรณ์ (Validation study) ของแต่ละคณะ แต่ละสาขาวิชา แต่ละมหาวิทยาลัย จะได้รู้ว่าที่กำหนดไปว่าให้สอบวิชาอะไรไปนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ทำนายผลการเรียนได้ดีจริงหรือไม่ ซึ่งหากไม่ทำจะบอกไม่ได้ว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ดังนั้นจึงต้องทำวิจัยเช่นนี้เสมอ ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไร แค่หาความสัมพันธ์กับผลคะแนนสอบเข้ากับผลการเรียนชั้นปีที่หนึ่งซึ่งทุกคณะทุกมหาวิทยาลัยก็มีอยู่ในมืออยู่แล้ว มีรายละเอียดนิดหน่อยที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็สามารถทำได้อย่างแน่นอน

ประการที่สอง ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องลดสิ่งที่เรียกว่า Educational disparity ถ้าเด็กมีความสามารถเท่า ๆ กันก็ควรมีโอกาสได้เรียนต่อเท่า ๆ กัน อย่างน้อยถ้าเขาเรียนได้ เขาควรได้รับการตอบรับให้เข้าเรียน ส่วนจะมีทุนการศึกษาให้เขาเข้าเรียนได้ไหมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ระบบ TCAS ล้มเหลวในเรื่องนี้ เพราะมีระบบสอบคัดเลือกซ้อน ๆ ในระบบ TCAS เป็นสามสิบสี่สิบระบบ สอบเข้าอินเตอร์ต้องสอบ TOEFL สอบโควต้า สอบช้างเผือก สอบ กสพท รวม ๆ ค่าสมัครถ้าจะสอบหลาย ๆ ที่จะต้องใช้เงินเป็นหมื่น ๆ บาท

ประการที่สาม ระบบไม่ควรซับซ้อนจนเกินไป ทำให้เด็กบอกช้ำต้องสอบแล้วสอบอีก ผู้ปกครองต้องวิ่งไปรับไปส่ง ไหนรถจะติดอีก แล้วไหนพ่อแม่จะกระวนกระวายจะเป็นจะตายกับลูกไปเสียอีก

มาลองอ่านสภาพความเหลื่อมล้ำ ซับซ้อน สับสน วุ่นวาน ที่เกิดขึ้นจาก TCAS ที่บรรยายโดย ดร. ธนพงษ์ กรีฑาธำรงเดช ดังนี้


เห็นแล้วปวดหัวแทน #Dek61 กับระบบ TCAS ที่ปวดหัว ปวดตับกว่าเดิม
- ไหนจะระบบล่ม เพลียและละเหี่ยใจแทนบ้านนี้เมืองนี้จริงๆ ที่เห็นการศึกษาเป็นของเล่น ไม่เคยจะจริงจังตั้งใจเปลี่ยนเพื่อให้ดีขึ้น แต่จะเปลี่ยนเหมือนแค่จะฮุบไปทำ โดยอ้างเพียงว่า"ทำเพื่อเด็ก"
- เปิดฉากที่คำว่า "ลดความเหลื่อมล้ำ" โดยห้ามมหาลัยจัดสอบเอง แต่รับคะแนน BMAT TOEFL IELTS ที่ต่างประเทศจัดสอบได้ ก็ประมาณ 5,000-6,000 บาท ต่อการสอบ //เด็กด้อยฐานะอดนะ รอบ 1
ไม่รวมที่ต้องไปเรียนกวดวิชา BMAT ที่เปิดเป็นดอกเห็ด
ส่วนยื่น Portfolio ก็สร้างปัญหาเด็กกันที่ ยืนยันสิทธิ์แล้วสามารถสละภายหลังได้อีก เกิดรูว่างเหมือนเดิม
- ค่าสอบโน่นนี่นั่น ก็ไม่ดูแก้ไขอะไรเลย จากที่ต้องวิ่งสอบหลายมหาลัย นี่ก็ยังสอบๆๆๆ แค่ส่วนกลางจัด
GAT/PAT = 140 บาท/วิชา สมมติสอบ 4 = 560 บาท
ONET ฟรี
9สามัญ = 100 บาท/วิชา สมมติสอบ 7 = 700 บาท
ความถนัดแพทย์ = 800 บาท
ค่าสอบ BMAT TOEFL = 6000++++
ค่าสมัครรอบ 1 = 600
ค่าสมัครรอบ 3 อีก = 900 บาท
ค่าสมัครรอบ 4 อีก = 300 บาท ...อดีตมหาลัยจัดสอบ จัดรับสมัคร มหาลัยได้ตังส์
//ให้ทาย ทำไมรัฐอยากจัดเองจัง ก็หลายสอบ หลายค่าสมัครเหมือนเดิม แถมทำได้ห่วยมากอีก
- รอบ 3 ระบบล่มจร้าาาา รอกันไป หงุดหงิดกันไป ชาตินี้ ชาติไหน จะไทยแลนด์ 4.0 งงจริง
ยิ่งไปกว่านั้น ให้เลือก 4 อันดับ เด็กเก่ง สอบติดได้ทั้ง 4 อันดับ
แต่เลือก 1 คณะ อีก 3 ลำดับเกิดรูว่าง ที่ไม่มีการเรียกสำรองทดแทน //บอกให้เด็กไปเริ่มใหม่รอบ 4 ที่ก็ใช้เกณฑ์ต่างจากเดิม (รอบ 3)
เด็ก 1 คน อาจติดในรอบ 3 ถ้าเรียกสำรอง ทดแทนแต่เค้าอาจไม่ได้ในรอบ 4 เพราะใช้คนละเกณฑ์ในการคัดเลือก
ก็ได้แต่รอกันไป นานชาติเศษ จนเก็บกด เพราะป้าข้างบ้านขยันถามว่าหนูติดที่ไหน?
ตอบไปเลย "ติดแค่ปัญหาเดียว TCAS" // ระบบใหม่ที่ไม่ได้แก้อะไรเท่าไหร่เลย


ปัญหาใหญ่ที่เกิดปัญหาคือทุกมหาวิทยาลัยต่างก็อยากจะได้ครีม ๆ ได้เด็กเก่ งๆ ประเทศไทยเกิดปัญหาประชากรถดถอย เกินปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย เด็กเกิดน้อยลงไปมาก ที่ว่างในมหาวิทยาลัยมีมากเกินกว่าที่เด็กจะเข้าไปเติมเต็ม ทุกมหาวิทยาลัย พออธิการบดีไปรวมกันที่ ทปอ. ทุกคนก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง คือได้เก่ง ๆ ก่อนทุกคน เลยเกิดการกั๊กเด็กไว้เช่นนี้ คนออกแบบระบบคือ ทปอ. มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ผมรู้สึกเวทนาเด็กนักเรียนและผู้ปกครองมากเหลือเกินที่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลง จึงขอเสนอระบบเพื่อแก้ไข TCAS เดิมที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ มีดังนี้

1.ใช้มาตรา 44 ห้ามมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง ห้ามมีระบบสอบเอง ให้รื้อทุกระบบให้ set zero ต่อไปนี้ให้ใช้ระบบสอบกลางเพียงอย่างเดียว ให้มีระบบสอบกลางปีละครั้งแบบระบบ Entrance ที่เคยใช้มากว่า 30 ปี และพบว่ามีปัญหาน้อยสุดแล้ว ล้มกระดานให้หมด แบบสำนวนภาษาอังกฤษว่า cutting the Gordian knot ปมไหนแก้ไม่ได้ ให้เอามีดดาบตัดฉับ แล้วค่อยสร้างระบบใหม่ จำเป็นต้องทำเช่นนี้เท่านั้น เพราะทุกมหาวิทยาลัยแย่งเด็กและต้องการกั๊กเด็ก

2.กำหนดให้มีการสอบกลางแบบ Entrance ปีละครั้งเท่านั้น และให้ทุกคณะวิชา ทุกสาขาวิชา และทุกมหาวิทยาลัยมาคุยกันให้ลงตัวก่อนว่าจะมีสอบวิชาอะไรบ้าง ให้คุยกันจนตกผลึกและมั่นใจว่าการใช้คะแนนสอบวิชาต่าง ๆ จะมีความตรงเชิงทำนาย (Predictive validity) ในการทำนายผลการเรียน หลังจากกำหนดวิชาที่จะสอบของแต่ละสาขาแล้ว หากวิชาที่สอบคล้าย ๆ กันให้เจรจาตกลงกันให้มีวิชาสอบให้น้อยที่สุดเพื่อให้เด็กไม่ต้องสอบจนบอบช้ำจนเกินไป

3.จัดสอบให้เรียบร้อย เด็กทราบคะแนนสอบตนเอง จะสมัครสอบกี่วิชาก็ได้ เก็บคะแนนไว้ การจัดสอบกลางแบบ Entrance เพียงระบบเดียว ห้ามมีสอบอย่างอื่น จะลดความซ้ำซ้อน ลดระบบสอบที่มีมากมายหลายระบบเหลือเกิน และทำให้ลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้ด้วย

4. นำคะแนนมายื่นผ่านระบบ clearing house รอบแรก เปิดรับสมัครทุกอย่างทุกสาขาวิชา ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัย จะมีโควต้านักกีฬา โควต้าความสามารถพิเศษ โควต้ามหาวิทยาลัยภูมิภาค ได้ทั้งนั้น จะยื่นส่ง portfolio อะไรก็ตรงนี้ได้หมด ประวัติการเล่นกีฬา ความสามารถพิเศษ clearing house มีหน้าที่รวบรวมส่งให้มหาวิทยาลัย คณะวิชา สาขาวิชานั้นๆ ผ่านระบบ electronics ทั้งหมด จะนำเสนอเทปร้องเพลงก็ได้ จะเสนอภาพวาดก็ได้ จะนำเสนอการเต้น การเล่นกีฬา ผ่านระบบ digital ก็ submit ได้ทางอินเตอร์เน็ท นักเรียนสามารถเลือกสมัคร 7 อันดับ และให้จัดอันดับที่ต้องการไว้จนเรียบร้อย

5. Clearing house รอบแรก ทำหน้าที่ส่งรวบรวมข้อมูลให้มหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ ในกรณีที่ จะใช้คะแนนสอบ Entrance ในข้อ 3 วิชาอะไรก็กำหนดให้เรียบร้อย เมื่อมหาวิทยาลัยตัดสินแล้ว ถือว่าเคารพอันดับที่นักเรียนจัดมา แต่จะประกาศคะแนนเฉพาะ 3 อันดับที่แรกนักเรียนเลือกไว้ในลำดับต้นๆ และผ่านการคัดเลือกเท่านั้น นอกจากนี้แต่ละสาขาวิชา แต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย ยังสามารถประกาศรายชื่อสำรองโดยจัดอันดับไว้ หากมีผู้ไม่มารายงานตัวสามารถเลื่อนจากผู้ที่ติดสำรองมารายงานตัวได้ตามลำดับ หากจัดอันดับมาก่อนแม้คะแนนจะต่ำกว่าแต่หากผ่านการคัดเลือกก็จะประกาศให้ได้เฉพาะลำดับ 1 ก่อน

ยกตัวอย่าง นายเหรียญทอง มูฮัมหมัด เป็นชาวอิสลามเชียงใหม่ นักกีฬาเหรียญทองซีเกมส์กีฬาแบดมินตันชาย ผลจากการพิจารณาโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นดังนี้

อันดับหนึ่ง แพทย์ จุฬา --- ไม่ผ่าน
อันดับสอง แพทย์ เชียงใหม่ ใช้โควต้าภาคเหนือ ---ผ่าน
อันดับสาม วิศวกรรมศาสตร์ ม เชียงใหม่ โควต้านักกีฬา ที่มีทุนให้เรียนฟรี นักเรียนส่งเหรียญทองซีเกมส์ใน portfolio ให้ด้วย --ไม่ผ่าน เพราะ วิศวกรรมศาสตร์ ม เชียงใหม่ มีนักกีฬาเหรียญเงินโอลิมปิกของกีฬาชนิดนี้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการอีก
อันดับสี่ วิศวกรรมศาสตร์ ม สงขลานครินทร์ โควต้าอิสลาม --- ผ่าน ได้ทุนเรียน แต่มีเงื่อนไขให้ไปทำงานใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ปี หลังจบการศึกษา
อันดับห้า วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ จุฬา --- ผ่าน ทำคะแนนสอบได้ถึง
อันดับหก วิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ---ผ่าน ทำคะแนนสอบได้ถึง
อันดับเจ็ด วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผ่าน ทำคะแนนสอบได้ถึง
ดังนั้นจะผ่านการคัดเลือกสามอันดับคือ 1. แพทย์ เชียงใหม่ 2. วิศวกรรมศาสตร์ ม สงขลานครินทร์ โควต้าอิสลาม และ 3. วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ จุฬา แม้ว่าผ่านการคัดเลือกเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ก็ตาม และมีคะแนนขั้นต่ำสูงกว่าก็จะไม่ถือว่าผ่านการคัดเลือกเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬา เป็นต้น

สำหรับบางกรณีเช่น โควต้า มหาวิทยาลัยภูมิภาค ทาง clearing house อาจจะเรียงลำดับคะแนนเฉพาะเด็กที่สมัครและตรวจแล้วทราบว่าเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในภูมิภาคนั้น ๆ ก็แค่เรียงลำดับคะแนนเฉพาะคนที่สมัครและจบจากโรงเรียนในภูมิภาคนั้น ๆ ได้ทันทีไม่ต้องพิจารณาจาก portfolio แต่อย่างใด

เมื่อมีผู้ไม่มารายงานตัวก็เรียกสำรอง

กำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าหลังส่งเอกสาร หลักฐาน หรือ portfolio ครบจะประกาศผลเมื่อใด และจะต้องไปรายงานตัวภายในวันที่เท่าใด หากไม่มารายงานตัวในเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยนั้น ๆ สามารถเรียกสำรองได้ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัยต้องแจ้งให้ clearing house ต้องการจะสำรองไว้กี่ตำแหน่งก็ต้องคำนวณมาไว้ให้ดีก่อน แต่ไม่ควรจะมากเกินกว่า 50 % โดยควรพิจารณาจากสถิติการไม่มารายงานตัวในอดีตของสาขาวิชาหรือคณะนั้น ๆ

ด้วยวิธีนี้น่าจะทำให้ได้นักศึกษาครบตามจำนวน และหากสาขาวิชา คณะใด ยังรับนักศึกษาไม่ได้ตามจำนวนที่ต้องการแม้เรียกสำรองแล้วก็ตาม ให้ประกาศว่าต้องการรับสมัครในการเคลียริ่งรอบสอง

6. Clearing house รอบสองเป็นรอบเก็บตกสำหรับ สาขาวิชา คณะ มหาวิทยาลัยที่แม้จะเรียกสำรองแล้วก็ยังได้นักศึกษาไม่ครบตามจำนวน ก็ให้เปิดรับได้อีกรอบ และดำเนินการตามรอบแรก

7. ให้มหาวิทยาลัย คณะวิชา สาขาวิชาที่ยังไม่สามารถรับนักศึกษาได้ครบ สามารถรับนักศึกษาได้โดยอิสระโดยตรงแต่ห้ามจัดสอบ ห้ามยื่นหลักฐานเพิ่มเติม ให้ใช้เพียงหลักฐานที่มีอยู่แล้วใน clearing house ทั้งสองครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนยุ่งยากของระบบ และทำให้ง่ายต่อนักเรียน

สรุปเป็นแผนภาพง่าย ๆ ดังภาพด้านล่างนี้

สำหรับเด็กที่จะซิ่วไปที่ใหม่ก็ต้องไปสอบใหม่ของปีหน้า หรือถ้าจะให้ดีที่สุดในมหาวิทยาลัยเดียวกันควรเปิดให้โอนหรือย้ายสาขาวิชาได้ ถ้าเรียนไหวและคะแนนถึงพอจะเข้าไปเรียนได้ เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยลง แต่ทางที่ดีมหาวิทยาลัยควรสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่สอบเข้าคณะหรือสาขาวิชา แล้วให้เด็กได้เรียนวิชาและทำคะแนนได้ดีจึงแข่งกันเข้า major ในมหาวิทยาลัย

ขอฝากให้ รมว.ศึกษาธิการได้ลองพิจารณาดูครับผม


กำลังโหลดความคิดเห็น