ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเชื่อมโยงเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดในโลกนั่นคือ เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค (Indo-Pacific Connectivity) คือยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก จีนเริ่มต้นก่อนใครเพื่อนจากอภิมหาโครงการ Belt and Road Initiative หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเร่งเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์เพื่อสร้างพันธมิตรตลอดเส้นทางการค้าสายนี้
ระเบียงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงเหล่านี้ ได้รับการยืนยันจากสถาบันวิจัยและแวดวงวิชาการระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank: ADB) สถาบันวิจัยเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ฯลฯ แล้วว่า ความเชื่อมโยงเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะสามารถลดระยะเวลา ลดต้นทุน ในการขนส่ง เสริมสร้างโอกาสในการกระจายกระบวนการผลิตสินค้าให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาค ซึ่งแน่นอนว่านั่นหมายถึงการเสริมสร้างโอกาสในการทำงาน โอกาสในการลดความยากจน และสามารถทำให้ภูมิภาคนั้น ๆ พัฒนาได้อย่างยั่งยืน
คำถามที่สำคัญคือ แล้วไทยเรารู้จัก มหาสมุทรอินเดีย หรือ อาณาบริเวณด้านตะวันตกของอาเซียนดีมากน้อยเพียงใด พร้อมที่จะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศของเราตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมมือกันทำงานวิจัยและจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ หัวข้อ the Myanmar-Thailand Southern East-West Corridors in the Context of ASEAN Integration ขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 2561
โดยหนึ่งในบทความวิชาการที่ดีที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือบทความที่ถูกนำเสนอโดย ศาสตราจารย์ ดร. Prabir De ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-อินเดีย ท่านได้นำเสนอยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง สามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาในอ่าวเบงกอล Bay of Bengal Development Triangle ในที่ประชุม โดยเน้นการสร้างความเชื่อมโยงในระดับอนุภูมิภาคที่เรารู้จักในนาม BIMSTEC หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) BIMSTEC ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 3 ประเทศ อันได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และประเทศไทย ร่วมกับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดอีก 4 ประเทศ อันได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล และ เมียนมา แน่นอนว่าทั้งหมดคือประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงหรือที่เรานิยมเรียกกันว่า Emerging Economies ทั้งหมดเป็นประเทศที่ทรัพยากรที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ทั้งหมดอยู่ในชัยภูมิและทำเลที่ตั้งที่สำคัญในทางยุทธศาสตร์ เพราะด้านตะวันออกของอ่าวเบงกอลคือ ช่องแคบมะละกา บริเวณที่มีการเดินเรือคับคั่งมากที่สุดในโลก และปัจจุบันทางการอินโดนีเซียเองก็กำลังเริ่มให้ความสนใจในการที่จะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก BIMSTEC ซึ่งแน่นอนว่าอินโดนีเซีย คือประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และยังมีการศึกษาและคาดการณ์จาก PWC ด้วยว่าในปี 2050 อินเดีย และอินโดนีเซียจะเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ (อันดับ 1 คือจีน และ อันดับ 2 คือสหรัฐอเมริกา) และเนื่องจากอ่าวเบงกอลเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อพิพาทในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทำให้ความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงในอ่าวเบงกอลน่าจะทำได้อย่างราบรื่นมากกว่าซึ่งแตกต่างจากในกรณีทะเลจีนใต้
Prabir De เสนอให้ใช้เรื่องการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทางท่องเที่ยวอาทิ เส้นทางเรือสำราญ (Cruise Tourism) ตลอดเส้นทาง Trans-Andaman Ocean Belt การใช้เมืองหลวง Port Blair ของหมู่เกาอันดามันและนิโคบา อันเป็นดินแดนของอินเดียเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวร่วมกับเมืองท่าสำคัญ ๆ ในภูมิภาคอาทิ ภูเก็ต ระนอง ปีนัง มะละกา ซาบัง (อินโดนีเซีย) มะริด จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวการเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ของโลก แน่นอนว่าการอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ การออก Visas 07’ร่วมกันในลักษณะเดียวกับ Schengen Visas ของประเทศในทวีปยุโรป หรือการเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ จะเป็นส่วนเสริม
ประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประเด็นหนึ่งคือ ระบบโลจิสติกส์และการบริหารเส้นทางการค้าให้ศักยภาพของอ่าวเบงกอลในการเป็นจุดเชื่อมโยงทางการค้าที่สำคัญของโลก การพัฒนาระบบขนส่งแบบหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงกัน Multimodal Physical Connectivity ข้อตกลงเรื่องต่างๆ อาทิ Coastal Shipping Agreement สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) เช่น พิธีการศุลกากร กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง การลด ละ เลิก มาตรการกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อเชื่อมโยงเมืองท่าสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น Colombo, Kolkata, Chennai, Port Blair, Ranong, Vizag, Dhamra, Dawei, Klang, และสิงคโปร์ และการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า Indo-Pacific จึงจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร้รอยต่อ
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันในลักษณะเมืองคู่ขนาน การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค การส่งเสริมการลงทุน และนโยบายเปิดเสรีเส้นทางการบิน เป็นเรื่องสำคัญในระดับต่อเนื่องที่ต้องดำเนินการ
และนอกจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ความร่วมมือในประเด็นด้านความความมั่นคง โดยเฉพาะภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Securities) ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง อ่าวเบงกอลมีความเสี่ยงในเรื่องธรณีพิบัติภัย คลื่นยักษ์สึนามิ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การทำการประมงผิดกฎหมาย การค้าและการขนส่งสินค้าเถื่อน การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด ธนบัตรปลอม อาชญากรรมทางท้องทะเล การสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อการเตือนภัยต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้อ่าวเบงกอลกลายเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศในพื้นที่นี้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน