xs
xsm
sm
md
lg

ลองทายซิ...บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในไทย กำไรกี่เปอร์เซ็นต์?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ก่อนที่ผมจะนั่งเขียนบทความนี้ เพื่อนที่ร่วมเดินออกกำลังกายได้ชวนคุยเรื่องราคาน้ำมัน ผมจึงได้ถามย้อนกลับไปว่า “ลองทายซิ...บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย มีกำไรกี่เปอร์เซ็นต์?”

“น่าจะไม่น้อยกว่า 20%” เพื่อนรุ่นพี่วัยเกือบ 80 ปีตอบหลังจากที่คิดอยู่นาน

เพื่อนอีกคนหนึ่ง (วัย 60 ต้นๆ อดีตผู้จัดการธนาคารสาขาหนึ่ง) ตอบว่า “ก็น่าจะประมาณนี้ บริษัทเขามีความเสี่ยงสูงในการสำรวจ แต่รู้ไหมบริษัทขายตรง (ชื่อดังสัญชาติอเมริกัน-ผมไม่ขอเอ่ยนาม) มีกำไรถึง 80% กรณีน้ำมันเราต้องมาดูลักษณะการลงทุนด้ว/ย ว่าลงทุนไปแล้วจะใช้งานต่อไปได้อีกกี่ปี”

ก่อนที่จะลงรายละเอียด ผมขอเฉลยคำตอบก่อนนะครับ จากการรวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตั้งแต่ปี 2553-2559 (ล่าสุด) พบว่าบริษัทผู้ได้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยมีกำไรหลังจากการหักค่าใช้จ่าย(ทุกชนิด)และภาษีเงินได้รวม 7.34 แสนล้านบาท จากมูลค่าปิโตรเลียมรวม 3.184 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรร้อยละ 80% ของเงินลงทุนจำนวน 9.20 แสนล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

โดยที่เงินลงทุนประกอบด้วย 4 ก้อนใหญ่ ก้อนใหญ่ที่สุด คือ การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม (ประมาณ 66%) รองลงมาคือ การผลิตและขายปิโตรเลียม (ประมาณ 25%)การสำรวจปิโตรเลียม (ประมาณ 6%) และก้อนเล็กที่สุดคือ การบริหารงาน (ประมาณ 2% มูลค่า 2-4 พันล้านบาท)

จากข้อมูลดังกล่าว เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า งบลงทุนที่มีความเสี่ยง เพราะไม่ทราบว่าจะเจอปิโตรเลียมหรือไม่ คืองบสำรวจซึ่งมีสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้น งบลงทุนที่ลงทุนแล้วสามารถใช้งานได้หลายปีคือ งบการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมและการสำรวจ(ในกรณีที่พบ) รวมกันประมาณ 68%

โดยสรุป บริษัทที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย ถ้าลงทุน 100 บาท สิ้นปีจะได้กำไรสุทธิเหลือใส่กระเป๋า 80 บาท สูงกว่าที่เพื่อนผมสองคนได้ลองทายไว้ถึง 4 เท่าตัว

ที่อ้างว่า เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง แต่งบลงทุนที่มีความเสี่ยงก็มีสัดส่วนเพียง 6% ของงบลงทุนทั้งหมดเท่านั้น

ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานมักจะอ้างด้วยความภูมิใจว่า “เมื่อหักค่าใช้จ่ายกันแล้ว รัฐบาลไทยจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าบริษัทผู้รับสัมปทาน” แต่จากรายการที่ (5) และ (6) ของตาราง พบว่า บริษัทได้รับมากกว่ารัฐบาลไทยเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ

เพื่อความชัดเจนเรื่องสัดส่วนการลงทุน ผมได้แนบข้อมูลเรื่องนี้ในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 ซึ่งอยู่ในรายงานประจำปี 2559 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ที่กล่าวมาแล้ว ผมได้สำเสนอข้อมูลรวมในช่วง 7 ปี ซึ่งราคาน้ำมันดิบขึ้น-ลงค่อนข้างมาก เพื่อความชัดเจนมากขึ้น ผมจึงนำเสนอผลประกอบการเป็นรายปี พร้อมกับข้อมูลราคาน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก (ผมไม่แน่ใจว่าเขาซื้อขายกันที่ไหน แต่มีแหล่งอ้างอิงครับ) เพื่อที่จะทราบว่า ภายใต้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน บริษัทสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยมีผลประกอบการอย่างไร

ภาพแรกเป็นผลประกอบการรายปี พบว่าบริษัทมีกำไรตั้งแต่ร้อยละ 25 จนถึง 143 (ในปี 2559) โดยมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 80

ที่ผิดปกติมากก็คือปี 2558 (มีกำไร 25%) และ 2559 (มีกำไร 143%) ปัจจัยสำคัญของความผิดปกติก็คือ (1) มูลค่าปิโตรเลียมของปี 2558 ลดลงจากปีก่อนกว่าหนึ่งแสนล้านบาท (2) ในขณะที่ปี 2559 การลงทุนลดลง มูลค่าปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น กำไรของบริษัทจึงเป็น 143%

ภาพถัดมา เป็นราคาน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ผมได้คำนวณออกมาเป็นบาทต่อลิตรเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ท่านที่ไม่ถนัดก็คงรู้สึกว่าเข้าใจยาก ก็ข้ามไปเลยครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ช่วงนี้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยขึ้นราคาวันแล้ววันเล่า บางคนเรียกร้องให้ลดอัตราภาษี ยกเลิกกองทุนน้ำมันต่างๆ นานา แต่จุดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากๆ และถูกมองข้ามมาตลอดก็คือ การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างบริษัท และรัฐ ตามที่ผมได้นำเสนอมาแล้วซึ่งผมถือว่ารัฐหรือประชาชนไทยได้ถูกบริษัทรับสัมปทานเอาเปรียบมากเกินไปมานานแล้ว

ถ้าใครยังไม่เชื่อ ก็ลองคิดดูครับว่า ทำไมประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งมีน้ำมันดิบมหาศาลจึงได้กลายเป็นสนามสงครามกับประเทศมหาอำนาจ โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจหลายคนเคยเป็นซีอีโอของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ชัดยิ่งกว่าชัด

ประเทศไทยเราซึ่งผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ก็ตกอยู่ภายใต้การเอารัดเอาเปรียบของบริษัทไม่แตกต่างกัน

ผมยังมีเรื่องสำคัญที่จะนำมาเล่าอีก 3 ข้อ ครับ

หนึ่ง ผมได้คำนวณราคาน้ำมันดิบที่ขุดในประเทศไทย พบว่า ราคาปากหลุมของไทยขึ้น-ลงตามราคาโอเปก โดยมีราคาต่ำกว่าราคาโอเปก (ซึ่งผมไม่ทราบว่าราคาที่ประเทศไหน) เพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลตลอดมา

แม้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังไม่ได้เปิดเผยราคาน้ำมันดิบเดือนล่าสุดของไทย แต่ก็พอประมาณได้ว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 น่าจะเท่ากับ 15.40 บาทต่อลิตร แต่ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันดีเซลของไทยเท่ากับ 19.30 บาทต่อลิตร (http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price?category_id=538&isc=1&orders[publishUp]=publishUp&issearch=1)

ทำไม ราคาหน้าโรงกลั่นไทยจึงสูงกว่าราคาน้ำมันดิบที่ปากหลุมถึงประมาณ 4 บาทต่อลิตร เรื่องนี้กระทรวงพลังงานของไทยไม่เคยมีคำอธิบายที่สามารถเข้าใจได้ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานควรจะเปิดเผย เช่น น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล เมื่อกลั่นแล้วจะได้ผลผลิตอะไรบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด เป็นต้น

สอง มีการอ้างกันว่าคุณภาพน้ำมันดิบของไทยไม่ดีพอ ต้องส่งออกไปกลั่นต่างประเทศ แต่ผมค้นพบว่า ราคาจากแหล่งที่ส่งออกจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศประมาณ 1-2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำไมของไม่ดีจึงมีราคามากกว่าและในบางแหล่งมีการส่งออกเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เหลือก็กลั่นในประเทศไทย

สาม ผมไม่ได้เขียนถึงเรื่องปิโตรเลียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำมันมาหลายปีแล้ว เพราะผมมีความเชื่อตามนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชั้นนำของโลก (Nikola Tesla) ว่า พลังงานไฟฟ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่งและมีมากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ โดยไม่ต้องใช้พลังงานฟอสซิล และเชื่อตามนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Stanford (Tony Seba) ว่าภายในปี 2025 หรืออีก 7 ปีเอง รถยนต์ที่ออกใหม่ทุกคันในโลกจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

เรื่องน้ำมันจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรให้ความสนใจ ผมจึงให้ความสำคัญกับการค้นคว้าเรื่องพลังงานแสงแดด ลม แบตเตอรี่มาเผยแพร่อย่างที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น