xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายคุมไอซีโอ ไม่ห้ามแต่เกิดยาก

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใต้กฎหมายนี้ ผู้ที่จะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนายหน้า คนกลางซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือบรรดา Exchange ทั้งหลาย และผู้ที่ต้องการระดมทุนด้วยการออกเงินดิจิทัลขายให้กับนักลงทุนทั่วไป หรือที่เรียกว่า ไอซีโอ-ICO - Initial Coins Offering ต้องขออนุญาตต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.มิฉะนั้นจะมีความผิด มีโทษจำคุกสูงสุดสองปีและโทษปรับ

ประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกนี้ ที่มีกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเทศห้ามเด็ดขาด ไม่ให้มี การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือออกเหรียญเพื่อระดมทุน เช่น จีน และเกาหลีใต้ หลายๆ ประเทศไม่มีกฎหมายกำกับดูแล มีแต่ประกาศตือนให้นักลงทุนระมัดระวังความเสี่ยงกันเอาเอง ประเทศส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมายควบคุม

ประเทศไทยไม่ห้าม แต่ควบคุมกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย และป้องกันไม่ให้มีการใช้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ หรือการฟอกเงิน เป็นต้น

ประเทศไทย ไม่ห้ามการลงทุน การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล แต่ไม่สนับสนุน จึงเก็บภาษีกำไรที่เกิดจากการลงทุนซื้อขาย แลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัล ในอัตรา 15% ของกำไรซึ่งเป็นอัตราที่สูง

นอกจากนั้น กฎ ระเบียบที่ ก.ล.ต.จะเป็นผู้กำหนด ภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ น่าจะมีความเข้มงวดในการกำหนดคุณสมบัติของนักลงทุนที่จะลงทุนในธุรกิจนี้ เช่น อาจกำหนดวงเงินขั้นสูงสุดที่สามารถลงทุนได้ หรือแหล่งที่มาของเงินลงทุนเพื่อกันนักลงทุนรายย่อยออกจากความเสี่ยง

พระราชกำหนดนี้ ไม่ใช่การรับรองว่า เงินดิจิทัลเป็นเงินที่ได้รับการรับรองจากทางการ สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย สถานะของเงินดิจิทัลยังคงเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ในประเทศไทย คริปโตเคอเรนซียังไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ ผู้ทำธุรกรรมอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงิน ในกรณีถูกหลอกลวง หรือเกิดปัญหาในการทำธุรกรรม

สินทรัพย์ดิจิทัลในพระราชกำหนดนี้คือ “คริปโตเคอเรนซี” และ “โทเคนดิจิทัล” ซึ่งไม่เหมือนกัน

“คริปโตเคอเรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

ตัวอย่างของคริปโตเคอเรนซีคือ บิทคอยน์ คือ เงินดิจิทัลที่มีมูลค่าในตัวเอง ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้

ส่วนคำว่า “โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ (2) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.

ตัวอย่างของ “โทเคนดิจิทัล” คือ บรรดาคอยน์ทั้งหลายที่ผู้ระดมทุนด้วยไอซีโอออกมาขายให้กับนักลงทุน ใช้ได้กับการเข้าถึงระบบหรือบริการที่ผู้ออกคอยน์กำหนดไว้เท่านั้น

เมื่ออ่านดูเนื้อหาสาระโดยรวม พระราชกำหนดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มุ่งไปที่การกำกับดูแลสินทรัพย์ที่เป็น “โทเคนดิจิทัล” เป็นหลัก ซึ่งก็คือการกำกับดูแล การทำไอซีโอคือ การออกโทเคนดิจิทัลขายให้กับนักลงทุนที่สนใจ เพื่อเอาเงินไปพัฒนาแพลตฟอร์ม การให้บริการต่างๆ

ที่ผ่านมา ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการทำไอซีโอ จะเห็นได้ว่ามีข่าวการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจากผู้ประกอบการอยู่เป็นระยะๆ แต่ละรายระดมทุนกันเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญ โดยไม่มีความชัดเจนว่า โครงการที่จะเอาเงินขายคอยน์ไปทำนั้นคืออะไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในเรื่องผลตอบแทนหลายๆ รายระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่รับประกันว่าโครงการที่ระดมเงินทุนไปพัฒนานั้นจะสำเร็จ และถ้าล้มเหลวผู้ลงทุนซื้อคอยน์จะไม่ได้เงินคืน

นับเป็นการจับเสือมือเปล่า โดยอ้างคำว่า นวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการทำธุรกิจมาบังหน้า

เอกสารประกอบการเสนอขายโทเคน ที่เรียกกันว่า White Paper ก็มีแต่ศัพท์แสงทางเทคนิคซึ่งยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ สำหรับคนที่มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีที่เรียกว่า บล็อกเชน เมื่ออ่าน White Paper หลายๆ โครงการก็รู้ว่าไปลอกของฝรั่งมาคำต่อคำ

การลอก White Paper เกิดขึ้นทั่วไปในวงการไอซีโอในต่างประเทศ ในยุคที่ไอซีโอเฟื่องฟูเกิดอาชีพฟรีแลนซ์รับจ้างเขียน White Paper ในราคา 100 เหรียญต่อหนึ่งโครงการเท่านั้น

การออกพระราชกำหนดนี้ เป็นการยอมรับในความสำคัญของนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิด ล่อลวงประชาชนทั่วไป จึงต้องมีกติกาในการกำกับดูแล ดังเหตุผลที่ระบุไว้ท้ายพระราชกำหนดว่า

“เพื่อกําหนดให้มีการกํากับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนําเทคโนโลยีมาทําให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุน และอํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดําเนินการ และป้องกันมิให้มีการนําสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทําการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชน หรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม”


กำลังโหลดความคิดเห็น