xs
xsm
sm
md
lg

รัฐและมหาวิทยาลัยฮาวายหาญกล้าประกาศใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ...รัฐไทยว่าไง?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในขณะที่กระทรวงพลังงานของไทยกำลังจะว่าจ้างที่ปรึกษาด้วยงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใน 15 จังหวัดภาคใต้หรือไม่ (รวมประจวบคีรีขันธ์ด้วย หากเห็นว่าควรมีจะสร้างที่จังหวัดไหน และหากคำตอบว่าไม่ควรจะหาทางออกอย่างไร-ไทยรัฐ 16 พ.ค. 61) แต่รัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศและตราเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2558 (ก่อนที่จะมีข้อตกลงปารีส 5 เดือน) ว่า จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2588 หรืออีก 17 ปี เรียกว่าเขาปฏิเสธถ่านหินมานานแล้ว

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นมหาวิทยาลัยฮาวายซึ่งมี 10 วิทยาเขต มีนักศึกษารวม 5 หมื่นคน ได้ประกาศว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุด (เรียกว่า Net-Zero Energy) ภายในปี 2578 โดยที่มีบางวิทยาเขตประกาศจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปีกลางปี 2562 นี้ และส่วนมากจะเป็นโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่

ไม่ใช่รัฐฮาวายซึ่งมีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคนแห่งเดียวที่ได้ประกาศเช่นนี้ ขณะนี้รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากร 40 ล้าน กำลังเสนอเพื่อขยับเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2030 เป็น 100% ภายในปี 2045 นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่นๆ กว่า 100 เมืองในสหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมาย 100% แต่ในที่นี้จะขอพูดเรื่องรัฐฮาวายเพียงแห่งเดียวครับ

จริงอยู่ครับว่า เงื่อนไขของรัฐฮาวายกับของไทยแตกต่างกันหลายอย่าง ทั้งเรื่องรายได้ของประชากร ราคาไฟฟ้าและทำเลที่ตั้งของฮาวายซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่นับพันกิโลเมตร แต่มันก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันบ้าง เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถเก็บไฟฟ้าเอาไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนและต่อโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำที่กำลังเป็นปัญหารุนแรง เป็นต้น

ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านหยุดเพื่อคิดถึงภาพใหญ่ของเรื่องสักนิดครับ เช่น เรื่องที่ผมนำมาเสนอนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า มันเป็นไปได้เหรอ แพงไหม แสงแดดมีจะพอหรือ แล้วเวลากลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาจากผู้บริหารประเทศมาตลอดในช่วง 5-6 ปีที่มีประเด็นความขัดแย้ง

นักวิทยาศาสตร์เคยประเมินว่า “พลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีเท่ากับพลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่งมาให้โลกเพียง 8 นาทีเท่านั้น” (ข้อมูลจาก Dr.Hermann Scheer ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นวีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว-นิตยสารไทม์) นั่นคือพลังงานแสงอาทิตย์มีเหลือเฟือ เพียงแต่ในอดีตมนุษย์ไม่มีปัญญาจะไปเก็บเกี่ยวมาใช้

แต่วันนี้ มนุษย์เรามีเทคโนโลยีที่จะทำเช่นนั้นได้แล้วครับ แถมมีราคาถูกจนสามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลทุกชนิด ปรากฏการณ์นี้เพิ่งชัดเจนเมื่อ 3-4 ปีมานี้เอง แต่กลุ่มพ่อค้าถ่านหินพยายามปิดบังและบิดเบือนตลอดมา จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อ

แต่ที่น่าแปลกและเศร้าใจกว่าคือ บางคนในกลุ่มที่เชียร์ถ่านหินเสนอให้มีการลงประชามติเพราะมันเป็นการบิดเบือนหลักการสำคัญของประชาธิปไตยที่ต้องเริ่มต้นด้วยการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเสียก่อน

กลับมาที่เรื่องในรัฐฮาวายซึ่งมี 2 เรื่องคือ เรื่องของรัฐและของมหาวิทยาลัยที่ประสานกันราวเป็นปี่กับขลุ่ยกัน ผมขอเสนอด้วยรูปภาพก่อนนะครับ

รูปแรกเป็นที่ตั้งของรัฐฮาวาย รูปล่างทางขวามือเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งแล้วในวิทยาเขตหลัก Maui ซึ่งนอกจากจะผลิตไฟฟ้าแล้วยังทำหน้าที่เป็นหลังคาลานจอดรถได้อีกด้วย

สำหรับรูปทางซ้ายมือเป็นจำนวนร้อยละของไฟฟ้าที่ทางมหาวิทยาลัยผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ ในเดือนมกราคมปี 2018 ผลิตได้ 2.57% ของความต้องการใช้ทั้งหมด โดยมีแผนการว่าจะผลิตให้ได้ 100% ในปี 2035 เร็วกว่าเป้าหมายของรัฐฮาวาย 10 ปี (หมายเหตุ ปัจจุบันทั้ง 10 วิทยาเขตใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 200 ล้านหน่วย)

รูปต่อมาเป็นเอกสารประกอบกฎหมายของรัฐฮาวาย ซึ่งเขาเขียนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า “การนำเข้าเชื้อเพลิงทำให้เงินไหลออกจากท้องถิ่นนับหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีและ”

ย้ำอีกครั้งครับ ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงและการมุ่งมาใช้พลังงานหมุนเวียน แต่รัฐไทยพยายามได้ทำลายท้องถิ่นมาตลอด


สำหรับประเทศไทยเราเองทั้งๆ ที่มีการนำเข้าพลังงานถึงประมาณ 50% (คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท หรือ 6.9% ของจีดีพี-ปี 2560) แต่ก็ไม่เคยพูดออกมาตรงๆ

รูปสุดท้ายเป็นคำมั่นสัญญาและวิธีการของแต่ละวิทยาเขต ผมจะไม่ขอลงในรายละเอียด แต่อยากจะเน้นก็คือ เขาไม่ได้มุ่งผลิตพลังงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาได้เน้นเรื่องการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ต้องถือว่าประเทศเราค่อนข้างจะละเลยมาก

ก่อนที่ผมจะเกษียณราชการ ผมได้มีโอกาสร่วมร่างและเป็นผู้ประสานงานสอนรายวิชา “วิทยาเขตสีเขียว (Greening the Campus)” ซึ่งน่าจะเป็นรายวิชาแรกของประเทศไทย เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ทุกคน โดยเน้นกระบวนการวิจัย การเขียนโครงการ การสำเสนอ และการทำงานเป็นทีม โดยยกเอาเรื่องภายในวิทยาเขตซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของตนเองมาเป็นโจทย์วิจัย

ศิษย์รุ่นแรกของผมคนหนึ่งที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เมื่อได้เห็นหลักสูตรนี้ถึงกับพูดว่า “ใครผ่านวิชานี้อย่างถ่องแท้วิชาเดียว เป็นพลเมืองได้เลย”แต่น่าเสียดายที่วิชานี้เปิดสอนได้เพียง 4 ปี 8 ภาคการศึกษา ก็ต้องถูกยุบไปด้วยเหตุผลว่าจัดการยากทั้งๆ ที่การใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า กระดาษ น้ำประปา ฯลฯ ค่อนข้างจะฟุ่มเฟือยมาก

กลับมาที่แนวคิดการนำถ่านหินมาใช้อีกครั้ง

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกามีแผนการจะ “ทำให้ถ่านหินกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”โดยอ้างเหตุผลเพื่อการจ้างงาน แต่ Dr.Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลวิจารณ์ว่า “เป็นนโยบายที่เลวเพราะเป็นการชดเชยให้กับพลังงานที่สกปรก”(https://thinkprogress.org/economist-paul-krugman-says-coal-is-not-coming-back-e593f9f455d9/)

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ครุกแมนได้อธิบายว่า “นับตั้งแต่ปี 1980 แรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินได้ลดลงเหลือ 1 ใน 3 แต่จำนวนถ่านหินที่ขุดได้ต่อคนงานทำเหมืองหนึ่งคนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าตัวเพราะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันคนทำงานในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์และกังหันลมมีมากกว่าอุตสาหกรรมถ่านหิน ดังนั้น ถ่านหินจึงไม่มีทางที่จะกลับมายิ่งใหญ่ได้ เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตแส้สำหรับรถม้า”

นั่นคือคำวิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ระดับมือรางวัลโนเบลต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมุมมองด้านการจ้างงานแต่ที่น่าเศร้ามากกว่านั้นก็คือ ประเทศไทยเราไม่มีแม้แต่แหล่งถ่านหินเป็นของตนเองเลย แต่เรามีแสงแดดดีมาก รวมทั้งพลังงานลมที่ผลงานวิจัยขององค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อว่า IRENA ซึ่งทำร่วมกับกระทรวงพลังงานไทยพบว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากลมได้จำนวนมหาศาล

แต่กระทรวงพลังงานของเราเองไม่เคยเปิดอ่าน

นี่แหละครับประเทศไทยเราวิจัยแล้วนำขึ้นหิ้งไม่นำมาใช้ประโยชน์ เมื่อมีประเด็นขัดแย้งใหม่ ก็จ้างทำวิจัยอีก 50 ล้านบาทคราวนี้ก็ใช่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่รู้จบ ในขณะที่รัฐฮาวายได้สร้างความก้าวหน้าที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง

ผมเขียนบทความนี้ขณะมาร่วมงานครบรอบ 50 ปีของมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียนและทำงาน ผมเห็นป้ายข้อความ “ค้นคว้า มุ่งมั่น ค้นพบ” ผมดีใจและเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมี “ความมุ่งมั่น” แต่ผมขอเพิ่มอีก 2 อย่าง คือ หนึ่ง อย่าลืมต้องมุ่งมั่นค้นคว้าในปัญหาของตัวเองด้วย เพราะเพียงวิทยาเขตหลักแห่งเดียวก็ใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 220 ล้านบาท สอง เมื่อค้นพบแล้วต้องมีความกล้าหาญเยี่ยงปัญญาชน คือ “พูดความจริงและชี้ให้เห็นการโกหก”

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ด้วยความรักต่อมหาวิทยาลัย ต่อประเทศชาติและต่อโลกที่บอบบางของเราครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น