xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัย โภชนาการแบบไหน ขยายอายุขัยผู้ป่วยมะเร็งได้ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แม้ว่าการทดลองในสัตว์ทดลองจะมีจุดอ่อนให้โจมตีได้ว่าสัตว์ทดลองเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ อย่างไรก็ตามการทดลองในสัตว์ก็มีจุดแข็งตรงที่ว่าสามารถกำหนดเงื่อนไขให้สามารถควบคุมตัวแปรสิ่งแวดล้อมแทบทุกอย่างเพื่อรับทราบผลของการวิจัยโดยตรง และปราศจากการรักษาอย่างอื่นมาปะปนแทรกซ้อน

ซึ่งหมายความว่าสัตว์ทดลองเหล่านั้นอาจจะเสี่ยงเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด และการทดลองในสัตว์ทดลองนี้เองจะเป็นเบาะแสให้สามารถคำนวณการวิจัยเพื่อพัฒนากำหนดการทดลองในมนุษย์ต่อไปได้

โดยเฉพาะในเรื่องของการวิจัยที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุของการการเสียชีวิตจำนวนมากนั้น การวิจัยทดลองในมนุษย์โดยปราศจากการรักษาในแนวทางแพทย์ปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่ได้มีการทดลองในสัตว์ทดลองมาก่อนเลย การทดลองเหล่านั้นก็อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะถือว่าผิดจริยธรรม

อย่างไรก็ตามแม้การรักษาโรคมะเร็งในวิธีการของแพทย์ปัจจุบันทั้งในการใช้คีโมบำบัด หรือการฉายแสง ซึ่งได้มีงานวิจัยในผลการศึกษาอย่างมากมาย ซึ่งอาจได้ผลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีโอกาสที่ยารักษาโรคมะเร็งไม่ได้ผล และยังอาจส่งผลทำให้มะเร็งลุกลามมากขึ้นได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบว่ารหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ของยีน Tp53 [1]

เมื่อใดก็ตามที่การรักษาในแนวทางของแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ผล ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจต้องพบกับความเสี่ยงกับปัจจัยกระตุ้นในโรงพยาบาลที่ทำให้มะเร็งแพร่กระจายลุกลามได้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าหลายอย่างจะเป็นไปเพื่อมุ่งหวังที่จะรักษาชีวิตผู้ป่วยและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นก็ตาม

เช่น การสัมผัสรังสีเอ๊กซ์ในปริมาณเข้มข้นจาการเอกซ์เรย์หรือซีทีสแกนบ่อย ซึ่งสำนักงานวิจัยระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agent for Research on Cancer) ขององค์การอนามัยโลกได้ยืนยันว่ารังสีเอ็กซ์เป็นสารก่อมะเร็งได้หลายชนิด [2]

และจากงานวิจัยพบว่าการได้รับยาปฏิชีวนะบ่อยๆและต่อเนื่อง (โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในโรงพยาบาลนานๆ)อาจมีผลทำให้ความเสี่ยงของโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องโรคมะเร็งลำไส้ [3]

การใช้ยาเพนนิซิลินที่ใช้ต่อเนื่องกันในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร-ลำไส้เล็กทำให้เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร, โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็งตับอ่อน อีกทั้งยังพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดยังเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเต้านม
ในทางตรงกันข้ามกลับไม่พบว่าการใช้ยาต้านเชื้อราหรือไวรัสจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแต่ประการใด [4]

รวมถึงประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คืออาหารในโรงพยาบาลยังคงมีแป้งและน้ำตาล รวมถึงกลูตามีน, หรือแม้กระทั่งการได้น้ำตาลกลูโคสทางหลอดเลือดหรือการได้รับเลือดเพิ่มเติมที่มีน้ำตาล คอเลสเตอรอล และฮอร์โมน IGF-1 ซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้วในบทความตอนที่แล้ว [5]

ดังนั้นความเสี่ยงที่มาจากวิธีการรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์อาจจะมีมากกว่าสัตว์ทดลองก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อการคีโมบำบัดหรือฉายแสงไม่ได้ผลและยังคงให้ปัจจัยความเสี่ยงข้างต้นต่อไปในโรงพยาบาล ดังนั้นในหลายงานวิจัยพบว่าในสัตว์ทดลองได้ผลดี แต่พอนำมาใช้กับมนุษย์อาจไม่ได้ผลก็เพราะมีตัวแปรเพิ่มขึ้นมาหลายด้านมากกว่าสัตว์ทดลองก็ได้

แต่ผลงานวิจัยที่น่าประทับใจตามที่ได้เขียนในบทความตอนที่แล้ว กรณีหนูทดลองที่ “กินอาหารไขมันสูงและกินคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ” หรือที่เรียกว่าอาหารคีโตเจนิก เมื่อผนวกกับการใช้เครื่องแรงดันบรรยากาศสูงเพื่อให้หนูนำออกซิเจนไปใช้ได้มากขึ้น ปรากฏว่าเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหนูทดลองกลุ่มอื่นๆ ปรากฏตามภาพประกอบที่ 1. [6]

นอกจากนั้น หนูทดลองที่ได้อาหารไขมันสูงโดยได้รับออกซิเจนมากขึ้นภายใต้แรงดันบรรยากาศสูง ยังมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้นออกไปมากกว่าหนูทดลองเป็นมะเร็งกลุ่มเปรียบเทียบถึง 77.9% นั่นหมายถึงว่าวิธีการนี้สามารถขยายอายุขัยของหนูทดลองได้สำเร็จ โดยที่ไม่ได้มีการรักษาด้วยการคีโมบำบัด ฉายแสง หรือสมุนไพรใดๆเลย [6]

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ได้ปรากฏจากการศึกษาในสัตว์ทดลองจำนวน 29 ชิ้น พบว่าแนวทางการบริโภคไขมันสูงว่า 72% ให้ผลในการต้านมะเร็งหลายอวัยวะ แม้ว่าการทดลองในมนุษย์ยังไม่มากพอและมีอยู่อย่างจำกัด แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นแนวโน้มในการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งด้วยอาหารด้วยไขมันสูงและกินคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำซึ่งได้ผลดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลข้างเคียง งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกนำเสนอเพื่อที่จะหาทางออกในการช่วยบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ได้ดีขึ้น [7]

ทั้งนี้อาหารของเซลล์มะเร็งคือ “กลูโคส” และ “กลูตามีน”ด้วยการ “กินไขมันในสัดส่วนที่สูง” (เช่น น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันมะกอก, อะโวคาโด, กะทิ) ก็จะส่งผลทำให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำลงไปเอง ซึ่งจะส่งผลทำให้ปริมาณกลูโคส และกลูตามีนลดต่ำลงไปโดยปริยาย

แต่ถึงแม้ว่าจะมีไขมันสูงเพื่อลดสัดส่วนอาหารคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้ต่ำลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้กลูโคสและกลูตามีนหมดไป แต่ก็จะมีอาหารให้กับเซลล์มะเร็งน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไป

ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้งานวิจัยที่เกี่ยวกับโภชนาการที่เน้นไขมันสูงหลายชิ้น จึงแนะนำว่าอาจจะต้องมาควบคู่กับการจำกัดพลังงานของอาหารหรือจำกัดปริมาณแคลอรี่ร่วมด้วย เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งได้รับกลูโคสและกลูตามีนต่ำที่สุด อันจะเป็นหนทางในการชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหรือขยายอายุของผู้ป่วยให้ได้นานที่สุดในระหว่างการรักษาในวิธีอื่นๆ

เช่น การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้การคีโมหรือฉายแสงเพื่อทำให้เซลล์มะเร็งตายลงนั้น โดยในระหว่างนั้นก็ควบคุมและกำหนดอาหารเพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งให้ช้าที่สุด อย่างน้อยที่สุดหากการรักษาของแผนปัจจุบันไม่ได้ผลก็ยังมีเวลาที่จะหาโอกาสวางแผนการรักษาต่อไปในแนวทางอื่นๆได้

หรือแม้แต่การรักษาด้วยแพทย์ภูมิปัญญาไม่ว่าแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกในเบื้องต้นก็จะคล้ายๆกันคือเน้นการขับถ่ายมากๆเพื่อลดสารก่อมะเร็งและลดจุลชีพก่อมะเร็งให้น้อยลงก่อนที่จะปรับสมดุลธาตุและบำรุงร่างกายต่อไป แต่ในระหว่างนั้นหากเซลล์มะเร็งเติบโตช้าที่สุดจากการควบคุมอาหารร่วมด้วย รวมถึงการใช้แนวทางเสริมเช่นการใช้ฮอร์โมนบำบัด หรือการรักษาที่เน้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการฆ่าเซลล์มะเร็งก็ย่อมได้รับประโยชน์ด้วยหากเซลล์มะเร็งเติบโตช้าลงกว่าการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น จริงหรือไม่?

แม้การรักษาโรคมะเร็งในทุกวันนี้จะมีหลายแนวทาง แต่ทุกแนวทางของการรักษาก็ต้องแข่งกับเวลาในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยกันทั้งสิ้น อย่างน้อยการรู้เรื่องโภชนาการที่จะชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่แล้ว จริงหรือไม่?

หนังสือ “Cancer as a Metabolic Disease : on the Origin, Management, and Prevent of Cancer” เขียนโดย ดร.โธมัส เซยฟรายด์ ได้เขียนจุดประกายเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้ที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญและอาหารคีโตเจนิคหลายชิ้นสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกลูโคส กลูตามีน ออกซิเจน และคอเลสเตอรอลเอาไว้ว่า:

“คอเลสเตอรอลเป็นผนังของเซลล์มะเร็งที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นส่วนประกอบในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และผลการทดลองกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองพบว่าเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ดี เมื่อมีกลูโคสและกลูตามีนในสภาวะที่มีออกซิเจนปกติ โดยเซลล์มะเร็งเหล่านี้สามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลเพื่อเป็นผนังของเซลล์มะเร็งได้ทั้งจากกลูโคสหรือกลูตามีนในสภาวะออกซิเจนปกติ

ต่อมาเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองควรจะตายลงในสภาวะที่ขาดออกซิเจนที่ใช้ไปในการหมักกลูโคสและกลูตามีน แต่เซลล์มะเร็งก็ได้อาศัยคอเลสเตรอรอลซึ่งมีอยู่เซรั่ม(ส่วนน้ำเหลืองที่แยกออกมาจากเลือด)ในการเจริญเติบโตต่อไปได้โดยไม่มีออกซิเจน นั่นหมายความว่าเซลล์มะเร็งสามารถใช้คอเลสเตอรอลจากส่ิงแวดล้อมที่มีอยู่ในเลือดได้ในภาวะที่ขาดออกซิเจน นอกเหนือจากการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลให้เป็นผนังหุ้มเซลล์มะเร็งจากกลูโคสและกลูตามีนโดยอาศัยสภาวะที่มีออกซิเจนในตอนเริ่มแรก”
[8]

เบาะแสจากข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยไม่เพียงจะต้องระมัดระวังอาหารที่ทำให้เกิดกลูโคส และกลูตามีนเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นอาหารที่ไม่เติมคอเลสเตอรอลด้วย ดังนั้นนอกจากแป้งและน้ำตาลที่เป็นปัญหาหลักแล้ว เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีคอเลสเตอรอลก็อาจจะทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตต่อไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ดร.โธมัส เซยฟรายด์ ยังได้เสนอว่านอกจากอาหารที่ไขมันสูงจะช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหนูทดลองแล้ว สิ่งที่สำคัญตามมาก็คือควรจะลดปริมาณอาหารเพื่อจำกัดแคลอรี่ด้วย และยังอาจใช้ยาเคมีบางตัวเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลและกลูตามีนลง ควบคู่กับการใช้เครื่องอบแรงดันบรรยากาศสูงเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเซลล์ให้มากขึ้นก็จะสามารถเป็นหนทางในการลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ งานวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งโดยอาศัยอาหารที่มีไขมันสูง (คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ)เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ในวารสาร Aging (Albany NY) ได้รวบรวมงานวิจัยก่อนการทดลองในมนุษย์ทั้งหมด สิ่งที่น่ายินดีคือส่วนใหญ่ของงานวิจัยพบว่าการใช้อาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำให้ผลในการต้านมะเร็งได้หลายชนิด ภาพประกอบที่ 2.[9]

เมื่อแบ่งแยกตามชนิดของมะเร็งแล้ว สิ่งที่งานวิจัยได้ค้นพบคือการให้อาหารคีโตเจนิกในสัดส่วนของไขมัน 2 ส่วน ต่อคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนรวมกัน 1 ส่วน เมื่อทำควบคู่กับการควบคุมอาหารเพื่อจำกัดปริมาณแคลอรี่ด้วย โรคมะเร็งเนื้อเยื่อประสาท (neuroblastoma) มีการเจริญเติบโตลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ [10]

อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยการใช้คีโมบำบัดนั้นอาจไม่สามารถใช้การควบคุมปริมาณอาหารเพื่อจำกัดแคลออรี่กับผู้ป่วยได้ เพราะทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ผอมจนมีสภาพหนังหุ้มกระดูก

ดังนั้นเมื่อพิจารณาหาหนทางที่เป็นไปได้ โดยการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง (คีโตเจนิก)แบบเต็มที่ไม่จำกัดปริมาณในสัดส่วน ไขมัน 8 ส่วน และคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนรวมกัน 1 ส่วนแล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของไขมันด้วยว่าจะส่งผลแตกต่างกันอย่างไร โดยหากในไขมัน 8 ส่วนนั้นแบ่งออกเป็นกรดไขมันสายปานกลางประมาณ 25% (ซึ่งพบมากที่สุดจากน้ำมันมะพร้าว) แล้วใช้กรดไขมันสายยาว 75% ปรากฏว่าจะให้ผลในการต้านมะเร็งได้มีประสิทธิภาพสูงกว่ากรดไขมันสายยาวแต่เพียงอย่างเดียว [11]

การเลือกไขมันที่โมเลกุลสายปานกลางในสัดส่วนนี้จะช่วยทำให้ไม่ต้องการควบคุมปริมาณอาหาร และยังคงให้ผลทัดเทียมกับการต้านมะเร็งเนื้อเยื่อประสาท (neuroblastoma)ที่ใช้การควบคุมอาหารเพื่อจำกัดปริมาณแคลอรี่ในสัดส่วนของไขมัน 2 ส่วน ต่อคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนรวมกัน 1 ส่วน

จากหลักฐานที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 2 โดยการรวบรวมงานวิจัยทำให้ได้ทราบว่าการได้รับอาหารไขมันสูงคีโตเจนิกสามารถต้านมะเร็งเนื้องอกในสมองที่เรียกว่า Glioblastoma ได้ผลอย่างชัดเจนมาก ในขณะที่มีผลเล็กน้อยหรือแทบไม่มีผลต่อมะเร็งสมองอีก 2 ชนิดคือ Astrocytoma และ Medulloblastoma

นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานอย่างหนักแน่นจากงาน 2-3 งานวิจัย ที่ระบุว่าอาหารไขมันสูงคีโตเจนิกยังส่งผลในการช่วยต้านการเจริญเติบโตในมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปอด
[7] นอกจากนั้นในผลการศึกษาเหล่านี้ยังพบในหลายรูปแบบของการใช้อาหารไขมันสูงคีโตเจนิกแต่เพียงอย่างเดียวก็สามารถต้านการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ บางผลการศึกษาได้ทำไปควบคู่กับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันและหรือควบคู่ไปกับการควบคุมปริมาณอาหารและจำกัดแคลอรี่ โดยในจำนวนนี้มีผลการวิจัยที่ระบุว่าการใช้อาหารไขมันสูงคีโตเจนิกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องจำกัดปริมาณอาหารเพื่อควบคุมแคลอรี่สามารถต้านการเจริญเติบโตของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับได้ด้วย

แม้ว่ารูปแบบของอาหารที่มีสัดส่วนไขมันสูงจะมีงานวิจัยพรีคลีนิกหลายชิ้นที่ระบุว่าสามารถต้านมะเร็งได้หลายชนิด แต่สำหรับมะเร็งบางชนิดปรากฏว่าอาหารกลุ่มนี้กลับให้โทษมากกว่า เช่นการให้อาหารไขมันสูงคีโตเจนิกในหนูทดลองที่เป็นโรคมะเร็งไตชนิดคาร์ซิโนม่ากลับทำให้ตับสูญเสียการทำงานไป [12] นอกจากนี้ยังพบว่าการให้อาหารไขมันสูงคีโตเจนิกกลับทำให้มะเร็งไตเพิ่มสูงขึ้นในหนูทดลองที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Tuberous sclerosis [13] และอาหารไขมันสูงคีโตเจนิกยังอาจเร่งการเจริญเติบโตของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF-V600E แต่ไม่ได้เร่งมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาทั่วๆไป และรวมถึงไม่ได้เร่งมะเร็งผิวหนังที่มีการกลายพันธุ์ในยีน NRAS Q61K [14]

นั่นหมายถึงว่าแม้กระทั่งเรื่องอาหารไขมันสูงคีโตเจนิกที่เข้าใจหลักการในการใช้พลังงานของเซลล์มะเร็ง แล้ว แต่ก็ต้องสอดคล้องกับชนิดมะเร็งควบคู่ไปกับการใช้ข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมด้วย

ส่วนอาหารคีโตเจนิกที่เน้นไขมันสูงและดัชนีน้ำตาลต่ำสุด โดยมากนอกจากจะเน้นไขมันสูงแล้วยังสามารถใช้ใช้ไฟเบอร์สูง (ดัชนีน้ำตาลต่ำและโปรตีนต่ำ) ควบคู่ได้ด้วย แต่ถ้าท่านผู้อ่านยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นเมนูอาหารแบบไหน ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่เฟสบุ๊คชื่อ Foxo Super Food ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารมังสวิรัติที่เน้นดัชนีน้ำตาลต่ำสุดแล้ว ยังมีส่วนผสมตำรับอาหารที่เปี่ยมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระด้วย ซึ่งจะมีการเปิดสอนในการทำอาหารประเภทนี้ต่อไปในนามสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ผู้ที่เรียนนั้นจำเป็นต้องมีพื้นฐานในหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ (Lifestyle Medicine) เสียก่อน

หากท่านใดสนใจในเรื่ององค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้น สามารถสมัครเรียนได้ใน
หลักสูตร “วิถีชีวาเวชศาสตร์” หรือ Lifestyle Medicine ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดให้ประชาชนธรรมดา ที่ไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษาให้ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนการป้องกันและรักษาด้วยวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันกับแพทย์หลากสาขา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในหลายมิติที่มีประสบการณ์ตรงในการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยจนสามารถหายป่วยมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อทำให้ผู้เข้าเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดการใช้ยา ลดการไปหาหมอในโรงพยาบาล

วิชาที่จะเรียนได้แก่ การเรียงลำดับการกินอาหารเพื่อสุขภาพ, โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทย-อายุรเวทจนถึงงานวิจัยยุคใหม่, การใช้สมุนไพรในบ้าน, การลงมือทำตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การกดจุดแก้อาการและฟื้นฟูสุขภาพในบ้านในแนวทางแพทย์แผนไทยประยุกต์, การฝังเข็มและการแมะสำหรับบางอาการสำหรับการดูแลตนเองของแพทย์แผนจีน, ธรรมานามัย, การบูรณาการล้างพิษ, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การค้นคว้าและการอ่านงานวิจัยด้านสุขภาพ, การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน, การออกกำลังกายเพื่อการชะลอวัย, การเลือกใช้วิตามินและอาหารเสริม, การแพทย์ทางเลือกในยุคปัจจุบัน ฯลฯ

หลักสูตรดังกล่าวนี้รับจำนวนจำกัด โดยเริ่มรับสมัครเรียนแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และเริ่มเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ทั้งเช้าและบ่าย ยกเว้นวันหยุดตามที่กำหนด โดยเริ่มเรียนวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต รวมประมาณ 84 ชั่วโมง

สามารถสมัครได้โดยไม่จำกัดวัยและวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต สนใจสมัครเรียนด่วนก่อนเต็ม ได้ที่สถาบันรังสิตวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-5681, 02-791-5683, 02-791-5684


ด้วยความปรารถนาดี

อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] Hientz K, Mohr A, Bhakta-Guha D, Efferth T. The role of p53 in cancer drug resistance and targeted chemotherapy. Oncotarget. 2017;8(5):8921-8946. doi:10.18632/oncotarget.13475.

[2] The International Agency for Research on Cancer (IARC), Radiation Volume 100 D A Review of Human Carcinogens, IARC Monographs on Evaluation of Carcinogenic Risks to humans (2009: Lyon, France) p.103-210

[3] Dik VK, van Oijen MGH, Smeets HM, Siersema PD. Frequent Use of Antibiotics Is Associated with Colorectal Cancer Risk: Results of a Nested Case–Control Study. Digestive Diseases and Sciences. 2016;61:255-264. doi:10.1007/s10620-015-3828-0.

[4] Boursi B, Mamtani R, Haynes K, Yang Y-X. Recurrent antibiotic exposure may promote cancer formation – another step in understanding the role of the human microbiota? European journal of cancer (Oxford, England : 1990). 2015;51(17):2655-2664. doi:10.1016/j.ejca.2015.08.015.

[5] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดงานวิจัย โภชนาการแบบไหนมีโอกาสขยายอายุขัยผู้ป่วยมะเร็งได้ ?, MGR Online, คอลัมน์ ณ บ้านพระอาทิตย์, เผยแพร่: 4 พ.ค. 2561 17:14

[6] Poff AM, Ari C, Seyfried TN, D’Agostino DP. The Ketogenic Diet and Hyperbaric Oxygen Therapy Prolong Survival in Mice with Systemic Metastatic Cancer. Tang C-H, ed. PLoS ONE. 2013;8(6):e65522. doi:10.1371/journal.pone.0065522.

[7] Rainer J. Klement, Beneficial effects of ketogenic diets for cancer patients: a realist review with focus on evidence and confirmation., Med Oncol. 2017 Aug;34(8):132. doi: 10.1007/s12032-017-0991-5. Epub 2017 Jun 26.

[8] Thomas N. Seyfried, Cancer as a Metabolic Disease : on the Origin, Management, and Prevent of Cancer, (Wiley, 1st ed., 2012),p. 264-265, ISBN 978-0-470-58492-7.

[9] Weber DD, Aminazdeh-Gohari S, Kofler B. Ketogenic diet in cancer therapy. Aging (Albany NY). 2018;10(2):164-165. doi:10.18632/aging.101382.

[10] Morscher RJ, Aminzadeh-Gohari S, Feichtinger RG, et al. Inhibition of Neuroblastoma Tumor Growth by Ketogenic Diet and/or Calorie Restriction in a CD1-Nu Mouse Model. Pizzo SV, ed. PLoS ONE. 2015;10(6):e0129802.

[11] Aminzadeh-Gohari S, Feichtinger RG, Vidali S, et al. A ketogenic diet supplemented with medium-chain triglycerides enhances the anti-tumor and anti-angiogenic efficacy of chemotherapy on neuroblastoma xenografts in a CD1-nu mouse model. Oncotarget. 2017;8(39):64728-64744. doi:10.18632/oncotarget.20041.

[12] Vidali S, Aminzadeh-Gohari S, Feichtinger RG, et al. The ketogenic diet is not feasible as a therapy in a CD-1 nu/nu mouse model of renal cell carcinoma with features of Stauffer’s syndrome. Oncotarget. 2017;8(34):57201-57215. doi:10.18632/oncotarget.19306.

[13] Liśkiewicz AD, Kasprowska D, Wojakowska A, et al. Long-term High Fat Ketogenic Diet Promotes Renal Tumor Growth in a Rat Model of Tuberous Sclerosis. Scientific Reports. 2016;6:21807. doi:10.1038/srep21807.

[14] Xia S, Lin R, Jin L, et al. Prevention of dietary fat-fueled ketogenesis attenuates BRAF V600E tumor growth. Cell metabolism. 2017;25(2):358-373. doi:10.1016/j.cmet.2016.12.010.


กำลังโหลดความคิดเห็น