ฉากเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า “การสังหารหมู่อันน่าสยองขวัญ” ที่อุบัติขึ้นมาในระหว่างพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ แห่งใหม่ ณ กรุงเยรูซาเล็มนั้น คงต้องยอมรับว่า...ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนต่อฝ่ายไหน แต่ถ้ายังคงหลงเหลือความเป็นฝ่าย “มวลมนุษยชาติ” อยู่บ้างแล้วล่ะก็ ย่อมอดที่จะต้องสะทกสะท้อนใจขึ้นมาไม่ได้ เพราะกราดกระสุนและแก๊สน้ำตา รวมทั้งการใช้หน่วยแม่นปืนของทหารอิสราเอล ยิงเข้าใส่ฝูงผู้ประท้วง จนบาดเจ็บล้มตายนับเป็นพันๆ คนมันออกจะเป็นอะไรที่น่าเกลียดน่าชังเอามากๆ ถึงขั้นที่ทำให้นักเขียน ศิลปินดนตรีแจ๊ซ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษ ที่แม้จะมีเชื้อสายเป็นชาวยิวแท้ๆ อย่าง “กิล แอตซมอน” (Gilad Atzmon) ยังอดไม่ได้ที่จะสรุปไว้ในข้อเขียนเรื่อง “Jewish Past vs Jewish State” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “ปฏิบัติการของทหารอิสราเอลครั้งนี้...เป็นปฏิบัติการที่ปลุกความรู้สึกขยะแขยงให้กับผู้คนทั้งโลก...”
เพราะในจำนวนคนเจ็บ คนตาย นอกจากจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกยิงจนเด๊ดสะมอเร่ อิน เดอะ เท่งทึง ไปเกือบสิบราย บรรดาหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินที่พยายามเข้าไปช่วยลากคนเจ็บ คนตายออกมาจากที่เกิดเหตุ ยังถูกสาดกระสุนเข้าใส่ชนิดร่วงกันผลอยๆ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปสังเกตการณ์ ตามรายงานขององค์กร “Journalist Support committee” ว่ากันว่าต้องบาดเจ็บสาหัสไป 6 ราย แม้แต่ผู้ที่พยายามเข้าไปบริจาคเลือดให้กับคนเจ็บที่ยังพอมีชีวิตรอด ก็โดนยิง โดนถล่ม ตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง “Amnesty International” จึงอดไม่ได้ที่จะระบุไว้ในแถลงการณ์ว่าโศกนาฏกรรมที่อุบัติขึ้นมาท่ามกลางพิธีเปิดสถานทูตแห่งใหม่ของอเมริกาคราวนี้... “ถือเป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชังโดยการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้โดยชัดเจน...”
คือมันกลายเป็นกรณีที่บรรดาประเทศผู้ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ทั้งหลาย ไม่อาจเล่นบทเป็น “อีแอบ” แบบที่ “ทูตแอบ” หรือ “ทูตแสบ” ของบ้านเรา เคยพยายามแอบๆ ระหว่างเข้าร่วมเวทีประชุมจัดตั้งพันธมิตรทางทหารเพื่อกดดันเกาหลีเหนือที่แคนาดาได้แบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมันได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้โลกทั้งโลกต้องหันมาจับตาเรื่องราวดังกล่าว แบบจริงๆ จังๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย โดยเฉพาะเมื่อประเทศระดับนำของโลกอิสลาม อย่างตุรกีที่ไม่เพียงตัดสินใจเรียกทูตตัวเองกลับจากอเมริกาและอิสราเอลเท่านั้น ยังได้เรียกร้องให้องค์กรความร่วมมือของชาวอิสลาม (The Organisation of Islamic Cooperation) จัดการประชุมโดยด่วนในช่วงวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม เพื่อหารือกันอย่างจริงๆ จังๆ พร้อมทั้งป่าวประกาศเอาไว้ก่อนล่วงหน้า โดยรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ประมาณว่า... “เราขอประณามอย่างรุนแรง ต่อการตัดสินใจของคณะผู้บริหารสหรัฐฯ ในการย้ายสถานทูตจากเทล อาวีฟ ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ที่ไม่เพียงแต่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือเป็นการฝ่าฝืนมติสหประชาชาติอีกด้วย และขอย้ำเอาไว้ด้วยว่าการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นโมฆะในทางกฎหมายที่มิอาจยอมรับได้...”
ไม่ต่างไปจากประเทศหลักๆ ในยุโรป อย่างเช่นอังกฤษดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ขณะที่ฝรั่งเศสไม่เพียงแต่เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลใช้ความสุขุม และยับยั้งการใช้กำลังต่อพลเรือน รัฐมนตรีต่างประเทศ “Jean-Yves Le Drian” ได้ระบุเอาไว้ชัดเจนถึงขั้นว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องนี้...ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ไม่ต่างไปจากเยอรมนี ที่ยืนหยัดคัดค้านการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังเยรูซาเล็มมาตั้งแต่แรก ว่าไม่ต่างอะไรไปจากการประกาศรับรองให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล อันถือเป็นการขัดมติสหประชาชาติ ที่ได้พยายามหาทางออกในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 ส่วนประเทศมหาอำนาจรายใหม่แห่งเอเชีย อย่างจีน บทบรรณาธิการที่ปรากฏอยู่ในสื่อทางการอย่าง “Global Times” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สะท้อนทัศนะมุมมองของจีนที่มีต่อกรณีดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยข้อเขียนที่ตั้งชื่อเรื่องเอาไว้ว่า “US Embassy move opens Pandora’s Box” หรือการย้ายสถานทูตของสหรัฐฯ คราวนี้ แทบไม่ต่างอะไรไปจากการ “เปิดกล่องแพนโดรา” อันมีแต่จะนำไปสู่ความฉิบหายและฉิบหาย...นั่นแล...
พูดง่ายๆ ว่า...เรื่องราวในกรณีดังกล่าวนับวันมันชักจะลุกลามบานปลาย ขยายวงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่เหลือโอกาสและพื้นที่ให้ประเทศเล็กๆ ที่อาศัยการเดินตามก้นอเมริกาไปเรื่อยๆ สามารถลื่นไหล เอาตัวรอด เป็นปลาไหลใส่สเกตได้แบบสะดวก สบายแบบเดิมๆ อีกต่อไป เนื่องจากมันเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดการเรียกร้องเพรียกหา “ความรับผิดชอบ” จากบรรดาประเทศแต่ละประเทศ ที่รวมกันเป็นประชาคมโลก ว่ายังคงยึดมั่นต่อความถูกต้อง เป็นธรรม ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อมติอย่างเป็นเอกฉันท์ขององค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ อยู่อีกหรือไม่ เพียงใด เพราะแม้แต่ประเทศเล็กๆ จนๆ หรือประเทศที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมากมาย แต่ก็มิอาจปฏิเสธ “หน้าที่” ของการเป็นสมาชิกประชาคมโลกได้โดยเด็ดขาด แม้แต่ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์แห่ง “ความเป็นไทย”แต่ถ้าไม่คิดจะหันไปให้ความสนใจกับ “ความเป็นธรรม” บ้างเลยนั้น คงน่าจะลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ...
ด้วยเหตุนี้...อาจพอสรุปได้ว่า “วิเทโศบาย” แห่งการ “เอาตัวรอด” ของประเทศไทย หรือของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ยึดมั่นถือมั่นกันมาโดยตลอด จนทำให้กระทรวงนี้ได้ชื่อว่าเป็น “แดนสนธยา” มานานแล้ว มาถึง ณ ขณะนี้...มันคงเป็นวิเทโศบายที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกยุคใหม่มากมายซักเท่าไหร่ แม้ว่ามันอาจช่วยให้ผลประโยชน์แห่งชาติในแง่เศรษฐกิจการค้า การขาย การได้รับสิทธิพิเศษ หรือการช่วยลดแรงกดดันจากการถูกจำกัดสิทธิในลักษณะต่างๆ ได้บ้างก็ตาม เพราะความพยายามที่จะเป็นประเทศ 4.0 หรือสังคม 4.0 ขณะที่นโยบายต่างประเทศยังคงยึดมั่นอยู่กับความเป็น 0.4 อย่างไม่คิดจะเปลี่ยนไปเป็นอื่น แม้ไม่ถึงกับเสียหายอะไรมากมาย แต่ในแง่ของการเสียหมา หรือเสียสุนัขนั้น ย่อมต้องเสียอยู่แล้วแน่ๆ!!! (ป.ล.-ขออนุญาตแทรก “ข่าวดี” ปิดท้ายว่า หลังจากเขียนข้อเขียนเรื่องนี้จบไปแล้วประมาณไม่กี่ชั่วโมง ได้ข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธ ว่าไทยไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเยรูซาเล็ม ตามที่มีข่าวในอัลจาซีราแต่อย่างใด เลยต้องขอประทานโทษต่อสิ่งที่ได้ด่าๆ เอาไว้ก่อนล่วงหน้า และขออนุโมทนาต่อ “ความเป็นไทย” ที่ยังคงหลงเหลือ “ความเป็นธรรม” ติดปลายนวมเอาไว้ด้วย ต้องยังงี้...ถึงจะเรียกว่าไม่เสียชื่อทวยไทย เพื่อไทยไชโย ได้มั่ง...)