xs
xsm
sm
md
lg

ประเคนไฟฟ้าขยะ ขยายโควตาซื้อ500เมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-ก.พลังงานรับลูกมหาดไทยทบทวนแผนซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนใหม่ให้สอดรับกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคาดก.ย.ได้ข้อสรุป วงในแย้มแนวโน้มรับซื้อเพิ่มมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ขณะที่สมาคมการค้าพลังงานขยะจ่อถกท่าทีสมาชิก 6 มิ.ย.หวังส่งสัญญาณรัฐย้ำราคารับซื้อหากต่ำไปลงทุนไม่เกิดแน่ ด้าน"ครม."ไฟเขียวบ.พีอีเอ เอนคอม ร่วมทุน 3 บ.เดินหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวล3จ.ชายแดนใต้ลงทุนรวม 1.5พันล้านบาท

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เชิญนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าที่ใช้ขยะจากชุมชนเป็นเชื้อเพลิงโดยกระทรวงมหาดไทยขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าใหม่ให้เหมาะสมจากแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP2015)ปี 2558-79 กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนไว้ 500 เมกะวัตต์เพื่อแก้ไขปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น

"นายศิริได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดอาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ฯลฯ ร่วมประสานงานที่จะตรวจสอบปริมาณขยะที่แท้จริงร่วมกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว คาดว่าจะดำเนินการเสร็จ ในเดือน ก.ย. 2561 นี้"นายธรรมยศกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่กำหนดในแผนAEDP 500 เมกะวัตต์ ยังไม่สอดรับกับปริมาณขยะที่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นที่ปัจจุบันมีสูงถึง 30 ล้านตันโดยมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่จะเปิดรับซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาทบทวนถึงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่ปัจจุบัน Feed in Tariff อยู่ที่ 5.78 บาทต่อหน่วยเพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีและไม่เหมาะสมกับการลงทุน

นายมนตรี วิบูลย์รัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า วันที่ 6 มิ.ย.จะมีการจัดงาน Asean Sustainable Energy Week 2018 ทางสมาชิกจะใช้โอกาสดังกล่าวหารือถึงจุดยืนในการผลิตไฟฟ้าจากขยะโดยเฉพาะความชัดเจนถึงแนวทางการรับซื้อและราคาที่ขณะนี้มีความสับสนอย่างมากว่าจะมีการปรับลดลงหรือไม่อย่างไรแน่ ดังนั้นการที่รัฐอยู่ระหว่างทบทวนการปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่กำหนดไว้เดิม 500 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2579 คงจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญแม้ต่อให้รับซื้อเพิ่มขึ้นแต่ราคาไม่เอื้อทุกอย่างก็คงไม่เกิดขึ้น

"ที่ผ่านมาเราเคยเสนอให้เพิ่มสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเป็น1,000 เมกะวัตต์แต่จากกรณีที่รัฐเองยังไม่ชัดเจนว่าจะรับซื้อไฟในอัตราใดซึ่งหากยึดราคาค่าไฟที่ 2.44 บาทต่อหน่วยเหมือนชีวมวลบอกเลยว่าไม่มีการลงทุนแน่ ส่วน 3.66 บาทต่อหน่วยที่มีกระแสข่าวก็ยังไม่จูงใจนักหากโรงไฟฟ้านั้นมีเทคโนโลยีคัดแยกขยะที่ต้องลงทุนสูงเพราะไทยต่างจากประเทศอื่นที่มีการคัดแยกขยะไว้เรียบร้อยแล้ว"นายมนตรีกล่าว

*** ครม.เคาะตั้ง3บ.เดินหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวล3จ.ใต้
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัทพีอีเอฯ) จัดตั้ง/ร่วมทุน บริษัทในเครือ 3 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วงเงินลงทุนรวม 1,555 ล้านบาท โดยในส่วนของแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวลให้บริษัทพีอีเอฯ ลงทุน 40%ของส่วนทุนและภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจลงทุน 60%

สำหรับ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ประชารัฐชีวมวล นราธิวาส จำกัด พื้นที่ 29 ไร่ มูลค่าโครงการ 755 ล้านบาท กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 6.3 เมกะวัตต์ บริษัท ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จำกัด ตั้งอยู่ จังหวัดปัตตานี พื้นที่ 68.6 ไร่ มูลค่าโครงการ 410 ล้านบาท กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2.85 เมกะวัตต์ และบริษัท ประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด ตั้งอยู่ จังหวัดยะลา พื้นที่ 174 ไร่ มูลค่าโครงการ 390 ล้านบาท กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2.85 เมกะวัตต์

" แนวทางนี้รัฐมุ่งหวังที่จะเพิ่มรายได้ให้กับ ชุมชนได้รับการพัฒนาท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชนเติบโต เกิดทัศนคติที่ดีต่อโรงไฟฟ้า รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและปัญหาอื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้"นายณัฐพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น