xs
xsm
sm
md
lg

กม.อีอีซีมีผลวันนี้ คาดดึงลงทุนเข้าไทยทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-ราชกิจจานุกเบกษาประกาศพ.ร.บ.อีอีซีมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป กำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษ มีบอร์ด 1 ชุด นายกฯ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายพัฒนาอีอีซี การใช้ประโยชน์ที่ดิน การอนุมัติ อนุญาต ให้สัมปทาน วางเป้าดึงดูด 10 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ พร้อมตั้งกองทุนพัฒนาอีอีซีช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เอกชน-นักวิชาการชี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น นักลงทุนไทยเทศมาแน่ เหตุเป็นกฎหมายลงทุนที่ดีที่สุดในอาเซียน เชื่อกฎหมายไม่เปลี่ยน แม้การเมืองเปลี่ยน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 พ.ค.) ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 เพื่อกำหนดให้ภาคตะวันออก เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทั้งในและนอกอีอีซี พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทั้งแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีทั้งหมด 73 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2561 เป็นต้นไป

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อ

มาตรา 10 ให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" มีนายกฯ เป็นประธาน รองนายกฯ เป็นรองประธาน ที่เหลือมีรัฐมตรีที่เกี่ยวข้องและตัวแทนอื่นๆ จากรัฐ เช่น เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน เป็นต้น

มาตรา 11 บอร์ดอีอีซี มีอำนาจ อาทิ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาอีอีซี , ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน , โครงสร้างพื้นฐาน , กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน , อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน เป็นต้น

มาตรา 14 ให้มีสำนักงานอีอีซี มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยเลขานุการของบอร์ด โดยมีเลขาธิการ 1 คน รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อบอร์ดอีอีซี

มาตรา 39 กำหนดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10.การแพทย์และสุขภาพครบวงจร

มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฏหมายที่ดินมีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในอีอีซี เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฏหมายที่ดิน ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดโดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิและจำนวนที่ดินหรือห้องชุดตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่บอร์ดอีอีซีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

มาตรา 50 กรณีที่ผู้ประกอบกิจการตามมาตรา 49 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มิได้ประกอบกิจการในเวลา 3 ปี หรือหยุดประกอบกิจการในที่ดินดังกล่าวจะต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายใน 1 ปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งให้ทราบ

มาตรา 61 ให้มีการจัดตั้งกองทุนในสำนักงานเรียกว่า "กองทุนพัฒนาอีอีซี" เพื่อเป็นทุนการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จากก่อนหน้านี้ ก็สร้างความเชื่อมั่นมาเป็นลำดับอยู่แล้ว และจะก่อให้เกิดการผลักดันให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้จะเห็นว่ามีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้ามายังพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่อีอีซี เรียกว่าไม่มีใครเทียบไทยได้ในภูมิภาคอาเซียนเลยทีเดียว เชื่อว่าการตัดสินใจการลงทุน จะเห็นชัดเจนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักก่อน เช่น อาลีบาบาก็ประกาศชัดเจนแล้ว และส่วนตัวยังเชื่อว่าการลงทุนในส่วนที่เน้นตลาดในประเทศ อาจรอดูทิศทางการเลือกตั้งด้วย แต่การมีกฏหมายอีอีซี เชื่อว่าไม่ว่าการเมืองใดมาก็คงจะไม่เปลี่ยนแน่นอน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า จากนี้ไป จะทำให้การตัดสินใจการลงทุนมีมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีนักลงทุน 2 กลุ่ม คือ 1.มั่นใจอยู่แล้วอย่างไรก็มาแน่นอน และ 2.รอดูสถานการณ์จริง เมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจไทยดีแน่นอน การลงทุนอีอีซีไปแน่ ก็จะตัดสินใจตามมาภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น