xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าขยะไม่คืบ จับตาปรับค่าไฟเอื้ออีก หึ่งมท.ดองหวังเรียกคุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-แฉโรงไฟฟ้าขยะยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทุกอย่างยังคงชะงักงัน เหตุขั้นตอนการยื่นขอต้องฝ่าด่านหลายด่าน ส่วนใหญ่ค้างที่มหาดไทยเกือบ 300 เมกะวัตต์ จับตาท่าทีรัฐยังจะปรับค่าไฟฟ้าเอื้อให้อีกหรือไม่ ด้านเอกชนเสียงแตก 3.66 บาทต่อหน่วย หากคัดแยกขยะก็ไม่คุ้ม แต่ถ้าเผาตรงรับได้

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560ที่ออกมาสอดรับกับพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2พ.ย.2560เป็นต้นไปนั้น จนถึงขณะนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยเพิ่มเติมนอกเหนือจากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) ก็ยังไม่มีความคืบหน้าการอนุมัติแต่อย่างใด เนื่องจากขั้นตอนส่วนใหญ่ยังคงไปติดที่ระดับจังหวัดและมหาดไทย

"ขั้นตอนการยื่นเสนอขอผลิตไฟฟ้าจะต้องเสนอไปยังระดับจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจะอนุมัติและส่งเรื่องมายังมหาดไทย ซึ่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง เสนอคณะกรรมการกลางสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย จากนั้นจึงจะให้อำนาจมท. 1 เซ็นตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และจึงจะส่งเรื่องมายังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ออกใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าได้ แต่ยอมรับว่าขั้นตอนส่วนใหญ่ ยังไม่ผ่านการอนุมัติ โดยจะติดอยู่ที่มหาดไทยเป็นหลัก ทำให้มีโครงการค้างจำนวนมาก รวมกำลังการผลิตกว่า 300 เมกะวัตต์แล้ว และทำให้เอกชนบางรายมีความพยายามที่จะเข้าไปเจรจา"แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้ยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะจะไม่ใช้ราคา Feed in Tariff (FiT) เท่ากับ 2.44 บาทต่อหน่วย แต่ภาคเอกชนยังคงถกเถียงอย่างหนักถึง FiT ที่ล่าสุด กกพ. ได้ปรับลดลงมาเป็น 3.66 บาทต่อหน่วยจากขยะทั่วไป ซึ่งเอกชนมองต่างมุมในเรื่องนี้อย่างหนัก โดยเห็นว่ารัฐควรจะมีการแยกเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพราะหากมีการคัดแยกขยะออกมาแล้ว มีระบบเผาไหม้ที่ดี ต้องลงทุนสูงระดับ 3.66 บาทต่อหน่วย ก็ไม่ใช่คำตอบ ส่วนกรณีการไม่คัดแยกแล้วนำไปเผาตรงเลยนั้นราคา 3.66 บาทต่อหน่วย ถือเป็นระดับที่เหมาะสม แต่บางส่วนก็มองว่ามากเกินไปด้วยซ้ำ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณาในประเด็นดังกล่าวให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนและใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed in tariff โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันด้านราคา (compettitive bidding) และมีผู้สนใจที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล เข้ามายื่นขอโครงการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา รวม 8โครงการ กำลังผลิตติดตั้ง 77 เมกะวัตต์นั้น ยังต้องขออนุญาตกับกระทรวงมหาดไทยก่อน และล่าสุดมีแนวโน้มว่า กกพ. จะยืดเวลาออกไปให้อีก 2 ปี เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมความพร้อม เพราะกระบวนการขออนุญาตใช้เวลานานนับปี

"ขยะที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทขณะนี้ ยังคงไม่มีอะไรคืบหน้า หากแต่มีข่าวปล่อยกันไปกันมา โดยที่ยังไม่มีใครได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด และเอกชนที่ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอน แต่บางรายไม่ได้เดือดร้อน ก็ปล่อยไป หวังรอการเลือกตั้ง แล้วค่อยมาว่ากันใหม่"แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงานไปแล้ว ขอให้ทบทวนนโยบายการชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งรวมถึงขยะชุมชนที่ไม่มีความคืบหน้าและอาจทบทวนอัตราการรับซื้อใหม่

ทั้งนี้ ล่าสุด รมว.พลังงาน ได้ออกมาระบุว่า จะไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ยกเว้นขยะออกไป 5 ปี แต่ถ้าราคาถูกไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย ก็พร้อมจะซื้อไม่อั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น