xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าปมช่อง 3 เรตติ้งดี แต่รายได้ไม่เข้าเป้า Q1ขาดทุน126ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผ่าปมปัญหา ช่อง 3 รายได้ไม่เข้าเป้าแม้เรตติ้งดี สรุปไตรมาสแรกปี61 ขาดทุนแล้ว 126 ล้าน ตั้ง“สมประสงค์” กลับมาคุมด้านการตลาดเพื่อหารายได้

แม้ว่าละคร“บุพเพสันนิวาส”จะสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการทีวีดิจิทัล เป็นละครที่สร้างกระแสทั้งบนโลกออนไลน์ และเรตติ้งสูงสุดในยุคทีวีดิจิทัล กลายเป็นละครแห่งชาติ ที่ดังไปทั่วประเทศ ที่ดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์ของบีอีซี เวิลด์ หรือ กลุ่มช่อง 3 ในปี 2560 ซึ่งมีผลประกอบการที่ตกต่ำที่สุด นับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีกำไรจากผลประกอบการเพียง 61 ล้านบาท น่าจะพลิกฟื้นกลับคืนมาได้

แต่หลังจากกลุ่มช่อง 3 แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 กลับพบว่า ผลประกอบการยังขาดทุนอยู่ถึง 126 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,420 ล้านบาท จึงเกิดคำถามว่า อิทธิฤทธิ์ของออเจ้า ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ช่อง 3 พลิกฟื้นขึ้นมาเลยหรือ

ทั้งนี้ รายได้จากโฆษณา เป็นรายได้หลักของช่อง 3 มาโดยตลอด โครงสร้างรายได้ของบริษัทในไตรมาส 1 จะพบว่า 91.8 % มาจากค่าจากโฆษณา, 7.2% มาจากรายได้ค่าลิขสิทธิ์ และบริการอื่นรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 173.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.6% จากไตรมาส 4/60 และ 9.5% จากไตรมาส 1/60 โดยได้แรงส่งจากกระแสของละครบุพเพสันนิวาสผ่านแพลทฟอร์ม เมลโล และพันธมิตรรายอื่นๆ

ช่อง 3 เปิดตัวแอปฯ เมลโล วันที่ 29 มี.ค. เป็นช่วงจังหวะที่ละครบุพเพสันนิวาสกำลังพุ่งแรงพอดี และดูรีรันละครได้หลังละครจบ ทำให้มียอดคนดาวน์โหลดแอปเวลานี้ 490,000 ดาวน์โหลด ส่วนแอป Ch3 Thailand มียอดผู้คนดาวน์โหลด 2.9 ล้านราย

ความจริงแล้ว ไตรมาส 1 ของปี 61 นี้ ไม่ได้เป็นไตรมาสแรก ที่กลุ่มช่อง 3 ขาดทุน เพราะได้เริ่มขาดทุนเป็นครั้งแรก มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว โดยขาดทุนอยู่ที่ 335.5 ล้านบาท ทำให้รวมทั้งปีบริษัทจึงมีกำไรเหลืออยู่เพียง 61 ล้านบาท
สาเหตุหลักมาจากรายได้จากโฆษณาลดลงต่อเนื่อง ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ เม็ดเงินโฆษณาลดลง บวกกับการแข่งขันทีวีดิจิทัล ที่มีถึง 22 ช่อง

ถ้ามองในแง่รายได้ไตรมาสนี้ ถือว่าเพิ่มสูงขึ้น 17.5% ถ้าเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ส่งผลให้ขาดทุนลดลง 209.5 ล้านบาท หรือ 62.4% แต่ถ้าไปเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว รายได้ลดลง 563.4 ล้านบาท หรือ 18.9% ทำให้พลิกจากกำไร 249 ล้านบาท มาเป็นขาดทุน 126 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสาหัสสากรรจ์สำหรับช่อง 3 ทีเดียว

ช่อง 3 ได้ชี้แจงว่า การที่รายได้ลดลงนี้ เป็นผลมาจากรายงานตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาทีวี ได้ลดลงต่อเนื่อง จากตั้งแต่เดือนธ.ค.60 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในเดือนก.พ.และ มี.ค.61 แต่ถือว่า ลดลงทุกเดือนเมื่อเทียบกับแต่ละเดือนในปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากรายได้ของประชาชนลดลง จากการว่างงาน ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ และยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนนัก

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายรวมของกลุ่ม BECไตรมาสแรกปี 61 อยู่ที่ 2,110.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จาก Q4/60 แต่ลดลง 4.3% จาก Q1/60 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนรายการที่เพิ่มขึ้น โดยประมาณ 64%

ต้นทุนรายการที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากช่อง 3 ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมาถึง 3 ช่อง แม้ว่าจะมีการนำรายการมาออนแอรซ้ำก็ตาม แต่ก็ยังมีรายการที่ผลิตใหม่ และก็ยังมีทั้งค่าใบอนุญาต ค่า MUX ที่ต้องชำระต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัญหาหลักของกลุ่มช่อง 3 ตอนนี้คือ ด้านการขาย เนื่องจากเป็นทีมใหม่ แม้บางช่วงจะขายเต็ม แต่รายได้จากเรท ที่ตั้งไว้แต่ละช่วง ไม่ได้เข้ามาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บางช่วงเวลาเป็นเวลาแถมฟรี ไม่เคยมีรายได้ บางช่วงมีการลดแลกแจกแถมสารพัด

“ก่อนหน้านี้ปัญหาของช่องที่โดนวิจารณ์มากคือ เรื่องคอนเทนต์ โดยเฉพาะละคร ที่ไม่โดนใจตลาด เรตติ้งไม่ดี รายได้จึงไม่มา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ คอนเทนต์ดีขึ้น เรตติ้งฟื้นมาได้ แต่ขายไม่ได้ ซึ่งกลายเป็นปัญหาหลักที่กลุ่มช่อง 3 ต้องแก้ปัญหาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเจอกับสภาพขาดทุนไปอีกหลายไตรมาส”

เมื่อเร็วๆนี้ ช่อง 3 ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะกรรมการการตลาดและกระตุ้นการขาย และคณะกรรมการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยได้มีการตั้งให้ สมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการบริษัท มาเป็นประธานคณะทำงานการตลาด และกระตุ้นการขาย ชุดนี้ โดยมีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์การขาย มุ่งหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่เอเจนซี่อย่างเดียว และมุ่งหารายได้ในรูปแบบอื่นๆ

ทั้งนี้สมประสงค์ เคยเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท แต่ได้ลาออกไปในช่วงปลายเดือนก.พ. ที่ผ่านมา แต่ยังคงตำแหน่งบอร์ดบริษัทอยู่

ในวันเดียวกันนี้ บีอีซี เวิลด์ ยังได้แจ้งว่า วรวรรธน์ มาลีนนท์ ลูกชาย นายประวิทย์ มาลีนนท์ ได้แจ้งลาออกจากการเป็นบอร์ดบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้วรวรรธน์ หรือ อ๋อง เป็นตัวแทนของ สายนายประวิทย์ ที่เป็นบอร์ดบริษัทมาเป็นเวลานาน แต่ได้ขายหุ้นที่ถือทั้งหมด 1.47% ออกไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา และในเดือนมี.ค. ลูกสาวและลูกชาย ในสายนายประวิทย์ ทั้ง อรอุมา , วัลลิภา , และชฎิล ที่เคยถือหุ้นคนละ 1.47% ก็ได้ขายหุ้นที่ถือทั้งหมดในบริษัทออกมาจนหมด

ปัจจุบัน ตระกูลมาลีนนท์ ผู้ก่อตั้งช่อง 3 ได้ถือหุ้นในบริษัทผ่าน 7 พี่น้องในครอบครัว ตั้งแต่สายนายประสาร, ประชา, ประชุม, รัชนี, รัตนา, นิภา และอัมพร รวม 40.25%.


กำลังโหลดความคิดเห็น