xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีที่สร้างพลังแห่งความหวังจากรัฐแคลิฟอร์เนีย

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


ผู้อ่านหลายท่านคงจะเกิดความรู้สึกผิดหวังและเบื่อหน่าย จนบางคนถึงกับสิ้นหวังกับการเมืองไทยหลังจากได้เกิดกระแส “พลังดูด” จังหวัดแล้วจังหวัดเล่าของกลุ่มที่เชื่อกันว่ากำลังเตรียมการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เท่าที่ผมจำความได้พลังดูดดังกล่าวได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2512 โดย “พรรคสหประชาไทย” ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า จนนำไปสู่วงจรอุบาทว์ คือ รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง-รัฐสภา-วิกฤตการณ์-รัฐประหาร-รัฐธรรมนูญ รอบแล้วรอบเล่าจนนับครั้งไม่ถูก

ที่น่าเจ็บใจกว่านั้น ปัจจุบันนี้ 50 ปีผ่านไป หัวหน้าคณะรัฐประหารคณะนี้ก็อ้างเหตุผลเดิมๆ ในการทำรัฐประหาร และกำลังทำเหมือนเดิมราวกับเป็นประเพณี ทั้งๆ ที่ได้ชูนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ดูทันสมัย

นอกจากพลังดูดเน่าๆ ที่น่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว ยังถูกตอกย้ำด้วยแผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จำนวน 11 ด้าน เช่น ด้านพลังงานที่ล้าหลังนอกจากจะไม่มีอะไรที่สร้างสรรค์ทันต่อความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของโลกแล้ว ยังมีความพยายามที่จะยับยั้งการใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อโลกและการเปิดโอกาสให้การผลิตไฟฟ้ามีการกระจายตัวและไม่ก่อมลพิษเหมือนในอดีตอีกด้วย

ก่อนจะพูดเรื่องพลังแห่งความหวัง ผมขอยกตัวอย่างเรื่องน้ำเน่าสัก 2 เรื่องสำคัญ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ได้เรียกร้องให้ยกเลิกระบบสัมปทานปิโตรเลียม (เพราะถือเป็นระบบเมืองขึ้นที่ประเทศอื่นๆ ต่างก็ได้ยกเลิกกันเกือบหมดแล้ว) รัฐบาลไทยก็ได้แก้ไขกฎหมายด้วยการเพิ่มเติมระบบการแบ่งปันผลผลิตเข้าไปตามข้อเสนอ แต่แทนที่จะใช้เกณฑ์การคัดเลือกว่าใครให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐจะเป็นผู้ได้งานเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่กลับใช้ราคาขายผลผลิตต่ำสุด (ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีกับผู้บริโภคก็ได้) และดุลพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก โดยไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับผลผลิตไปบริหารต่อแต่อย่างใด

ในเรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านบาทต่อปี แทนที่จะมุ่งเน้นใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อมลพิษ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว สามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้แต่กลับเขียนแผนปฏิรูปอย่างคลุมเครือว่า “โดยกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิง” ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่าคือการเปิดทางให้เพิ่มการใช้ถ่านหินที่สังคมโลกปฏิเสธให้มากขึ้นรวมทั้งนิวเคลียร์ด้วยนั่นเอง

แผนการปฏิรูปของไทยดังกล่าวช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับของรัฐแคลิฟอร์เนีย(ซึ่งมีประชากรประมาณ 40 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก) ที่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า 50% ภายในปี 2030 และกำลังเสนอให้ปรับเป็นภายในปี 2525 (เร็วกว่าเดิม 5 ปี) และขยายเป้าเป็น100% ภายในปี2545 (https://futurism.com/california-aims-to-use-100-renewable-energy-by-2045/)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 นี้เองคณะกรรมการพลังงานแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Energy Commission) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ (5 ต่อ 0) ในการผ่านระเบียบของรัฐว่า บ้านอยู่อาศัยและอาคารที่สูงไม่เกิน 3 ชั้นที่สร้างใหม่หลังเดือนมกราคม 2020 จะต้องติดโซลาร์เซลล์ทุกหลัง ถือเป็นกฎระเบียบแห่งรัฐแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา

เหตุผลสำคัญไม่ได้มีอะไรมาก มี 2 ข้อเท่านั้น คือ (1) ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 และ (2) ต้องการให้ชาวแคลิฟอร์เนียได้มีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ

อาจมีผู้แย้งว่า ชาวแคลิฟอร์เนียมีรายได้สูงและค่าไฟฟ้าแพง คนไทยเรายังยากจนจะทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก

แต่จากการประเมินของคณะกรรมการฯ พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการต้องติดโซลาร์เซลล์ประมาณเดือนละ $40 แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าได้เดือนละ $80 ตลอดอายุประมาณ 30 ปีเรียกว่ามีกำไรครับ

ดังนั้น จากตัวเลขดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องของค่าไฟฟ้าถูกหรือแพง แต่หลังจากติดตั้งแล้วนอกจากจะตอบสนองตามวัตถุประสงค์ 2 ข้อที่กล่าวแล้ว ยังเป็นการช่วยลดรายจ่ายให้กับเจ้าของอาคารได้เดือนละ $40 อีกด้วย

คณะกรรมการพลังงานแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียประเมินว่า ในแต่ละปีจะมีบ้านและอาคารสร้างใหม่ประมาณ 80,000 หลัง (ในจำนวนนี้มีการติดตั้งโดยไม่ต้องบังคับ 15,000 หลัง) ถ้าหลังหนึ่งติดตั้งขนาด 2.5 ถึง 4 กิโลวัตต์ ระเบียบใหม่นี้ก็จะส่งผลให้มีการติดตั้งเพิ่มขึ้นปีละ 260 เมกะวัตต์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เยอะระดับหนึ่ง

ผมคิดว่าข่าวดีจากรัฐแคลิฟอร์เนียดังกล่าวได้สร้างพลังแห่งความหวัง (Power of Hope) ให้กับคนทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย แต่ที่น่าแปลกใจข่าวนี้ไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลักของบ้านเราเลย

เป็นพลังแห่งความหวังอย่างไร?

ลองคิดดูนะครับ ทั้งๆ ที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส และสนับสนุนการใช้ถ่านหินอย่างเต็มที่ รวมทั้งขึ้นภาษีโซลาร์เซลล์ แต่ทางรัฐแคลิฟอร์เนียก็ยังสามารถสร้างผลงานบนความเชื่อและนโยบายของตนเองได้

จริงอยู่ครับว่า ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากของบ้านเราที่แต่ละรัฐมีอำนาจและเสรีภาพในการบริหารเป็นของตนเอง (ยกเว้นนโยบายต่างประเทศ) แต่พลเมืองที่ตื่นรู้ในแต่ละรัฐก็คือพลังริเริ่มในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของตนเอง เป็นนโยบายจากล่างสู่บน ไม่ได้ลอยมาเองจากสวรรค์

ประเด็นที่คนไทยเราควรจะเรียนรู้เบื้องต้นจากข่าวการออกระเบียบบังคับให้บ้านและอาคารใหม่ติดโซลาร์เซลล์ก็คือ (1) นอกจากจะทำให้เจ้าของบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว (2) ยังไม่มีปัญหาในเชิงเทคนิคใดๆ ในระบบไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานของไทยชอบข่มขู่เรามาตลอดอีกด้วย

นอกจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้เบื้องต้น 2 ข้อแล้ว ยังได้แง่คิดว่า แม้ผู้นำประเทศจะแย่และล้าหลังสักแค่ไหน แต่ถ้าประชาชนเข้มแข็ง รู้เท่าทันมีเครื่องมือและเครือข่ายในการสื่อสารยุคใหม่แล้วก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ รวมทั้งปัญหาโลกร้อนที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดอันดับให้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของโลก (https://mgronline.com/daily/detail/9610000044589)

เมื่อไม่นานมานี้ มีคนพูดว่า “ภายใต้โลกสมัยใหม่ที่อำนาจในการสื่อสารได้ย้ายฐานจากระบบรวมศูนย์มาอยู่ในมือของประชาชนแล้ว ต่อให้ในสภาผู้แทนมีแต่คนบ้าประชาชนก็ยังสามารถเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้”

การเคลื่อนไหวเรื่อง “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ที่เชียงใหม่ ที่อ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่น่าจะผิดจารีตประเพณีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวอย่างที่ดีของการเคลื่อนไหวดังกล่าวครับ

นักจิตวิทยาอธิบายว่า “ความหวังเป็นสิ่งเดียวที่อยู่ระหว่างมนุษย์กับนรก ความหวังคืออารมณ์ที่สปริงหรือดีดออกมาจากหัวใจ ไม่ใช่สมองตราบเท่าที่เรายังมีความหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น”

นี่คือพลังของความหวัง คือแรงที่ถูกผลักหรือดีดออกมาจากหัวใจ


อย่างไรก็ตาม “ความหวังไม่ใช่ศัพท์เทคนิคที่สร้างขึ้นมาให้คนจำได้ง่าย แต่มันเป็นความรู้สึกที่แท้จริงถึงความเป็นไปได้จากการกระทำสิ่งที่ถูกต้องบนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์”

เป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้วที่ผมได้ศึกษา ค้นคว้าและติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างอุตสาหะ ผมเห็นความเป็นไปได้ และเป็นไปแล้วในหลายพื้นที่ของโลกครับ

ผมมีความหวังและไม่ท้อถอยครับ และผมเห็นด้วยกับคำประชาสัมพันธ์ที่กระชับได้ใจความของรายการหนึ่งของ Voice TV ว่า “โลกใหม่เกิดได้ในพริบตา โลกเปลี่ยน ไทยเปลี่ยน”

อ้อ ขอแถมเพื่อเตือนสติอีกนิดครับ Michelangelo Buonarroti (ชาวอิตาลี 1475–1564) กล่าวว่า“สิ่งที่อันตรายกว่าสำหรับมนุษย์เราส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไปแล้วไปไม่ถึง แต่อยู่ที่การตั้งเป้าหมายไว้ต่ำเกินไปแล้วไปถึงนะซิ”



กำลังโหลดความคิดเห็น