เกริ่นนำด้วยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 นี้กองทัพอากาศโดยโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช จะทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ในฐานะผู้สถาปนาสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ณ อาคารกองบังคับการโรงเรียนนายเรืออากาศ โดยมี พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีตนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 1 และอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธาน
เรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อพลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ กลับจากราชการทัพ ในกรณีสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นพระราชกุศโลบายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2462 ได้นำความก้าวหน้าในการบินรบในอากาศ พร้อมทั้งแนวทางในการพัฒนากองบิน ทั้งในด้านเครื่องบิน กำลังพล ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อาวุธยุทโธปกรณ์และหลักการบริหารหน่วยบิน มาด้วยอย่างลึกซึ้งแนบสนิท
ช่วงเวลา 1 ปีในภาวะสงคราม ซึ่งท่านใช้ชีวิตในกองบินทหารบกฝรั่งเศส ร่วมกับหน่วยบินชาติสัมพันธมิตรอื่นๆ โดยเฉพาะกองบินทหารบกอังกฤษ ที่นำโดยจอมพลอากาศลอร์ด เทรนชาร์ด และกองบินอาสาสมัครกองทัพบกสหรัฐอเมริกานำโดย พลจัตวา วิลเลียม มิตเชลล์ และทั้ง 2 ท่านนี้ถือว่าเป็นบิดาของกองทัพอากาศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ รวมทั้งเป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีสงครามทางอากาศอีกด้วย ตลอดจนยุทธวิธีการบินรบในอากาศซึ่งได้รับการพัฒนาโดยนักบินขับไล่เฉพาะตนจากการบินรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการใช้เครื่องบินรบกันครั้งแรกในโลก ประสบการณ์นักบินระดับเสืออากาศ ซึ่งหมายความว่า ได้พิชิตเครื่องบินข้าศึกตกมาแล้วอย่างน้อย 5 ลำ ที่จบมาจากโรงเรียนนายร้อยแซงซีร์ และโรงเรียนนายร้อยเทคนิคของฝรั่งเศส และนักบินรบจบจากโรงเรียนนายร้อยวูลลิชของอังกฤษ จึงซึมลึกเข้าไปในจิตใจของพลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ
ต่อมาจอมพลอากาศลอร์ด เทรนชาร์ด ได้สถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศอังกฤษ แครมเวลล์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนายเรืออากาศที่ผลิตนักบินรบ ที่เรียนศาสตร์การบินและวิทยาการเฉพาะเรื่องอากาศพลศาสตร์โดยตรง และเป็นแห่งแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่กองบินทหารบกอังกฤษ ได้รับการยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ (Royal Air Force) เพียงปีเดียว
เหตุการณ์และประสบการณ์เหล่านั้น ย่อมหล่อหลอมความคิดของ พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ เรื่องการผลิตนายทหารจากโรงเรียนเฉพาะการรบทางอากาศให้จงได้ และการก่อตัวเป็นกองทัพอากาศแยกออกเป็นอิสระของอารยประเทศ กระตุ้นให้ท่านถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นสู่นายทหาร ลูกศิษย์ และผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน รวมทั้งจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
จอมพลอากาศฟื้น ร.ฤทธาคนี สำเร็จเป็นนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี พ.ศ. 2463 แต่สนใจเรื่องการบินและการบินรบในอากาศ จึงสมัครเข้าเป็นศิษย์การบินในปี พ.ศ. 2465 และจบเป็นนักบินพร้อมรบในปี พ.ศ. 2466 ในห้วงนั้นกิจการทหารก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะจอมพลกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์บุพการีกองทัพอากาศ ขณะทรงเป็นเสนาธิการทหารบก ทรงสนับสนุนกิจการการบินอย่างเต็มพระทัย รวมทั้งคณาจารย์โรงเรียนนายร้อยหลายท่านจบการศึกษาจากต่างประเทศได้บรรยายถึงสงครามในอนาคตและการบินทางทหาร ซึ่งมีเทคโนโลยีต่างออกไปจากอีก 2 เหล่าทัพ หล่อหลอมเข้าในจิตใจของจอมพลอากาศฟื้น ร.ฤทธาคนี
เมื่อจอมพลอากาศฟื้น ร.ฤทธาคนี เข้าประจำการที่กองบินทหารบก ซึ่งต่อมายกฐานะเป็นกรมอากาศยาน ได้ซึมซับความรู้ แนวคิด เทคนิคการรบสมัยใหม่และความฝันของพลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ ที่ท่านเรียกว่า “เจ้าคุณพ่อ” ซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและครู ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในปี พ.ศ. 2472 จอมพลอากาศฟื้น ขณะที่ดำรงยศร้อยโท สามารถสอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้โดยมีคะแนนเป็นที่ 1 และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนรณนภากาศ” และสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2474 เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศ แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในปี พ.ศ. 2475 และมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์และกบฏบวรเดชในปีต่อมา จนในปี พ.ศ. 2477 ท่านจึงได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศ
ท่านเลือกไปศึกษาและฝึกบินการบินชั้นสูงต่อที่อังกฤษ ซึ่งท่านได้ทำการฝึกบินกับเครื่องบินเกือบทุกแบบที่ประจำการในกองทัพอากาศอังกฤษขณะนั้น เช่น ฝึกบินขับไล่ที่ 1 และ 32 ที่ Tangmere, Salisbury บินกับ Hawker Hurricane และ Spitfire และที่ฝูงบินโจมตีทิ้งระเบิดหนักและเบาที่ ฝูงบินทิ้งระเบิดหนักที่ 58 Boscombe Down ทำการบินกับเครื่องบินแบบ Avro Anson ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรครูการบินขั้นสูงที่ โรงเรียนการบินของกองทัพอากาศอังกฤษ หรือ Central Flying School
ในขณะที่ท่านฝึกบินตามฝูงบินต่างๆ และที่โรงเรียนการบินของกองทัพอากาศอังกฤษ จึงเป็นโอกาสที่ท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักบินอังกฤษหลายคน ที่จบจากโรงเรียนนายเรืออากาศแครมเวลล์ ทำให้ท่านได้รับรู้หลักสูตรและวิธีการบริหารโรงเรียนนายเรืออากาศแครมเวลล์ ย่อมทำให้จินตนาการการสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้น และที่สำคัญทำให้ท่านมองเห็นความสำเร็จในการสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศ
ดังนั้นแนวคิดในการสานฝันและสร้างฝันของ “เจ้าคุณพ่อ” ให้เป็นจริงได้ สัมฤทธิผลเมื่อท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในปลายปี พ.ศ. 2492
และในปี พ.ศ. 2493 ท่านจึงสั่งการให้ฝ่ายเสนาธิการทุกด้านและหน่วยเกี่ยวข้อง โดยมี พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เป็นนายทหารโครงการและเป็นผู้ประสานงาน จัดทำแผนก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ขึ้นให้จงได้
ซึ่งแผนการก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศ เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2494 ทั้งแผนชั่วคราวและแผนถาวร โดยพร้อมรับนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นแรกจำนวน 30 คน (เมื่อเปิดรับนั้นมี นักเรียนนายเรือโอนเข้ามา 1 คน รวมนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 1 มี 31 คน)
ในปี พ.ศ. 2495 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช แต่กองทัพอากาศมีอุปสรรคในเรื่องงบประมาณ เพราะกระทรวงกลาโหมไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ แต่ให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและโรงเรียนนายเรือ ผลิตนายทหารสนับสนุนกองทัพอากาศ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่กองทัพอากาศต้องการ แต่ต้องการให้มีสถาบันที่สามารถผลิตนายทหารที่เรียนวิทยาการเกี่ยวกับการบินและการบินรบโดยตรง ส่วนเรื่องคณาจารย์และบุคลากร รวมทั้งอุปกรณ์ และอาคารสถานที่ไม่พร้อมนั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของท่าน อุปสรรคทั้งปวงก็ได้รับการแก้ไขด้วยความสามารถของท่านในการประสานงานกับคณะรัฐมนตรี และกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และกองทัพเรือ เพื่อขอรับการสนับสนุนนายทหารที่จบจากโรงนายร้อยเทคนิคและโรงเรียนนายเรือที่สมัครใจ รวมทั้งบรรจุบัณฑิตที่สามารถในสาขาวิชาเทคนิค คำนวณและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งจากต่างประเทศ มาเป็นอาจารย์ และได้พลอากาศจัตวา ดร.สวัสดิ์ ศรีสุข ที่จบทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ มาเป็นผู้อำนวยการศึกษา ทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปอย่างรวดเร็วภายในปีเดียว ทั้งงบประมาณ ซึ่งท่านในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2494 ได้ขอระงับการสร้างอาคารทำการกระทรวงคมนาคมส่วนหนึ่งไว้ก่อน ซึ่งไม่กระทบกระเทือนโครงการสำคัญๆ โดยความเห็นชอบของผู้บริหารระดับสูงและเกี่ยวข้องกับโครงการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบเอง จึงอนุมัติให้ดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้เล่าให้ฟังว่า
“ท่านได้ขอระงับการสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงคมนาคมไว้ก่อนและผันงบประมาณส่วนนั้นมาปรับปรุงอาคาร “ตึกเหลือง” ซึ่งเป็นตึกที่กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างไว้ ครั้งสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นอาคารตามแผนชั่วคราวของโรงเรียนนายเรืออากาศ และเตรียมการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมทั้งเงินเดือนข้าราชการ ที่บรรจุตามแผนการสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศขณะนั้น (การสร้างตึกที่ว่าการกระทรวงคมนาคมขึ้นใหม่ ณ ถนนราชดำเนินนอก ช่วงระหว่างถนนจักรพรรดิพงษ์ กับถนนกะออม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2495 ซึ่งช้ากว่าแผนเดิม 1 ปี และสร้างเสร็จเรียบร้อยเปิดเป็นอาคารที่ว่าการกระทรวงคมนาคม ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2497)”
ดังนั้นเมื่องบประมาณผ่านมติคณะรัฐมนตรี และหลักสูตรผ่านการเห็นชอบของสภากลาโหมและกระทรวงศึกษาธิการ มีคณาจารย์ และบุคลากรบรรจุตามแผนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็สามารถเปิดรับนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นแรกได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496
ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ได้พระราชทานธงไชยเฉลิมพลให้แก่โรงเรียนนายเรืออากาศ ณ พระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา ซึ่งจอมพลอากาศฟื้น เป็นผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล เป็นครั้งแรกในฐานะเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศและเป็นสถาบันผลิตนายทหารสัญญาบัตร มีสิทธิ์ศักดิ์ศรีเท่ากับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและโรงเรียนนายเรือ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเป็นมิ่งขวัญแก่โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และนักเรียนนายเรืออากาศ
สรุปได้ว่า จอมพลอากาศฟื้น ร.ฤทธาคนี ใช้เวลาเพียง 3 ปี ในการสานฝัน และสร้างฝันเป็นจริง สามารถสถาปนาสถาบันอันทรงเกียรติสำเร็จตามรอยฝันของ “เจ้าคุณพ่อ” พลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศครบถ้วนทุกประการ
นอกเหนือจากอนุสาวรีย์แห่งนี้แล้ว โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ยังมีอนุสรณ์ที่รำลึกถึงท่าน คือ โล่ “รณนภากาศ” อันเป็นโล่เกียรติยศมอบให้นักเรียนนายเรืออากาศที่เรียนดีสอบไล่ทำคะแนนสูงสุด ติดต่อกันจนจบการศึกษา
และอาคาร “รณนภากาศ” ชื่อรองของท่าน ซึ่งหมายถึง “การบินรบในอากาศ” ที่ท่านประสบมาด้วยตนเองในกรณีพิพาทสงครามอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศส เมื่อท่านเป็น ผบ.กองใหญ่ภาคใต้ ทำการบินรบด้วยเครื่องโจมตีแบบ Mitsubishi Ki-30 ที่ทอ.เรียกว่า “นาโกย่า” อันเป็นเมืองที่ผลิตเครื่องบินแบบนี้ และในการบินรบเหนือยุทธภูมิน่านฟ้าเขมร ที่นครวัดเมื่อบินโจมตีทิ้งระเบิดสนามบินนครวัดแล้ว ท่านแยกตัวออกไปบินถ่ายรูปเพื่อประเมินผลการโจมตี ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินแบบ “โมราน” จำนวน 4 ลำจากสนามบินลับใกล้ๆ กับนครวัด จึงเกิดการต่อสู้ในอากาศกับนักบินขับไล่ฝรั่งเศสซึ่งบินเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงกว่า 4 : 1 และท่านสามารถเอาชนะได้ จนได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ
รวมทั้งคำอวยพรให้โรงเรียนนายเรืออากาศ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 “ขอให้การศึกษาของสถาบันนี้ รุ่งเรืองก้าวหน้าและมั่นคงด้วยดีตลอดชั่วกาลนาน”
และคำอวยพรซึ่งท่านได้บันทึกให้ไว้ในหนังสือที่ระลึก นักเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช รุ่นที่ 1 มี เช่น พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศทั้งสามท่าน และพล.อ.อ.สุวิช จันทประดิษฐ์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ความว่า “สิ่งใดที่เป็นผลแรกได้ สิ่งนั้นย่อมนำความปลาบปลื้มมาให้ผู้เป็นเจ้าของผู้ให้กำเนิดเป็นธรรมดา หากได้เห็นผลที่สำเร็จออกมานั้นมีคุณภาพดีสมใจหวัง...”