ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ประกาศชะลอการรับสมัครบุคคลภายนอกเข้าทำงานปี 2561 ที่เพิ่งประกาศรับสมัครไปเมื่อเดือนมกราคม โดยให้เหตุผลว่า
“กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาปรับปรุงโครงสร้าง และอัตรากำลังขององค์กร จึงมีความจำเป็นต้องชะลอการรับสมัครบุคคลภายนอกปี 2561 ไว้ก่อน หากมีการดำเนินการเมื่อใด กฟผ.จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”
แต่ละปี กฟผ.รับสมัครพนักงานใหม่หลายร้อยอัตรา ทั้งเพื่อรองรับการขยายงาน และทดแทนพนักงานที่ลาออก เกษียณ การรับสมัครพนักงานของ กฟผ.เป็นที่เฝ้ารอของบัณฑิตจบใหม่ คนที่ยังว่างงาน คนที่มีงานทำแล้วต้องการจะทำงาน กฟผ.เพราะการได้เป็นพนักงาน กฟผ.มีความมั่นคง ผลตอบแทน สวัสดิการดี เป็นหลักประกันชั้นดีของชีวิต
การงดรับสมัครพนักงานปีนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ กฟผ.ไม่รับคนใหม่
กฟผ.ได้ว่าจ้าง บริษัท ไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์ แอนด์ คูเปอร์ส ศึกษาการปรับโครงสร้างองค์กรมาได้ปีกว่าๆ แล้ว สัปดาห์ก่อนมีการเปิดเผยข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะต้องลดพนักงานที่มีอยู่ขณะนี้ 21,800 คนให้เหลือ 15,000 คน ลดลง 7,000 คน และลดตำแหน่งรองผู้ว่าการฯ จากปัจจุบัน 12 คนเหลือเพียง 7 คน
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นตัวแทนพนักงานในคณะกรรมการปรับโครงสร้างบอกว่า วิธีการคือไม่รับพนักงานใหม่ทดแทนพนักงานที่เกษียณอายุเป็นเวลา 4 ปี
ผู้ที่จะเกษียณอายุในปี 2561 มีจำนวน 1,300-1,700 คน ปี 2562-2563 ปีละประมาณ 1,700 คน และปี 2564 อีก 1,400 คนซึ่งรวมทั้งหมดจะลดคนไปได้ประมาณ 6,800-7,000 คน
การลดพนักงานเพื่อให้องค์กรมีขนาดเล็กลง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology
จำนวนพนักงานที่ต้องลดลงไป 7 พันคนเท่ากับ 10% ของพนักงานปัจจุบัน ลดตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ลงไปเกือบครึ่งไม่ใช่น้อยเลย ต้นทุนของพนักงานส่วนเกินนี้ แน่นอนว่า ถูกผลักไปใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย โดยไม่อาจต่อรองได้ เพราะ กฟผ.ผูกขาดครบวงจร ทั้งผลิต และขายไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว
นับตั้งแต่ความพยายามแปรรูป กฟผ.ด้วยการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกศาลปกครองสั่งระงับเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ค่าไฟฟ้ามีแต่แพงขึ้นๆ สวนทางกับวาทกรรมต่อต้านการขายหุ้นครั้งนั้นที่ว่า การนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้น คือการแปรรูปให้เอกชนเข้ามายึดกิจการที่ทำให้ประชาชนต้องใช้ไฟในราคาแพงขึ้น โดยไม่มีทางเลือก
ค่าไฟที่แพงขึ้นๆ ภายใต้วาทกรรม กฟผ.คือ สมบัติของชาติ ห้ามแตะต้อง เป็นเพราะค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น เป็นเพราะ กฟผ.ต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับธุรกิจผลิตไฟฟ้าเอกชน เป็นเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายของ กฟผ.ซึ่งถูกผลักภาระมาให้ประชาชนจ่ายในรูป “ค่าบริการ” ในบิลค่าไฟฟ้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ มีนโยบายที่ชัดเจนว่า ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายในอนาคต ต้องไม่แพงกว่าค่าไฟในปัจจุบันที่หน่วยละ 3.30 บาท เป็นที่มาของการรื้อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 หรือพีดีพี 15 โดยให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟ ณ สิ้นปี 2579 ในราคาไม่เกินค่าไฟปัจจุบัน คือ 3.30 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่หน่วยละ 5.50 บาท ในแผนพีดีพีเดิม และยกเลิกการกำหนดโควตาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามประเภทเชื้อเพลิง แต่ให้รับซื้อจากผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำสุด
แผนพีดีพีซึ่งเดิมให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจนมีกำลังการผลิตเกินความต้องการไปมาก ถูกปรับทิศทางใหม่ให้มุ่งไปที่การส่งเสริมการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟในราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน
แผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา กำหนดการปฏิรูปด้านไฟฟ้า 3 ประเด็น คือ
ปฏิรูปโครงสร้างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) จัดทำ PDP ใหม่ที่คำนึงถึงความสมดุลรายภาค ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า และมุ่งเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าสำหรับจุดที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญต่อประเทศชาติ โดยในปี 2561 จะศึกษาข้อมูลสำคัญเพื่อนำไปสู่การจัดทำ PDP ใหม่ในปี 2562 และสามารถให้หน่วยงานนำแผนไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2563
ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า เน้นส่งเสริมกิจการไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในชุมชน โดยในปี 2561 จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างระเบียบการส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการแข่งขันที่ใช้พลังงานทดแทน
ปรับโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า โดยบูรณาการหน่วยงานกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ โดยในปี 2561 จะศึกษาความเหมาะสมการบูรณาการหน่วยงานกิจการไฟฟ้า และศึกษาระเบียบ TPA ของระบบส่งและระบบจำหน่าย และส่งเสริมกิจการจำหน่ายเพื่อเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น
การลดพนักงานลง 7,000 คน เป็นก้าวแรกของ กฟผ.ในการรับมือกับการปฏิรูปประเทศด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีคีย์เวิร์ดคือ ส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น เพิ่มบทบาทภาคเอกชน