xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่าน...จากสงครามตัวแทนถึงสงครามโดยตรง (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

<b>ขีปนาวุธพิสัยไกล Shahab-3</b>
คงต้องยอมรับว่า...อิหร่านยุคนี้ ต่างไปจากอิหร่านยุคที่ต้องทำ “สงคราม 8 ปี” กับอิรัก เมื่อช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1980-1988 แบบคนละเรื่อง คนละม้วน อาจด้วยเหตุเพราะคู่สงครามซึ่งเคยสู้รบกับตัวเองมา 8 ปีเต็มๆ โดยแทบไม่อาจตัดสินได้ว่าใครแพ้-ใครชนะอย่างอิรัค เมื่อเจอเข้ากับ “เครื่องจักรสังหาร” แห่งกองทัพอเมริกัน เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ก็สามารถบดขยี้กองทัพของ “ซัดดัม ฮุสเซน” ชนิดราบเรียบเป็นหน้ากลอง อิหร่านที่ถูกเอา “ปูนหมายหัว” มานานแล้วจากอเมริกาและอิสราเอล เลยหนีไม่พ้นต้องหันมาทุ่มเทแทบทุกสิ่งทุกอย่าง ให้กับการพัฒนาศักยภาพทางทหารของตัวเองอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ รวมทั้งต้องหาทางพัฒนาอาวุธป้องกันตัว ที่ทรงประสิทธิภาพอย่าง “อาวุธนิวเคลียร์” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงปฏิเสธได้...

และแม้ว่าการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน จะสะดุดหยุดยั้งตามกระบวนการข้อตกลงนานาชาติปี ค.ศ. 2015 แต่นั่นก็ใช่ว่าจะทำให้อิหร่านเหลือแค่ “สากกะเบือ” เอาไว้สู้รบปรบมือกับใครต่อใครเท่านั้น ตรงกันข้าม...ตลอดช่วงระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้กำลังรบที่มีทหารประจำการประมาณ 934,000 นาย พร้อมพลีชีพปกป้องแผ่นดินของตัวเอง มี “กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม” (Army of the Guardians of the Islamic Revolution) ที่ได้รับการฝึกปรือมาอย่างเข้มข้น ตามแบบกองทัพสมัยใหม่ การพัฒนาอาวุธตามแบบแผนนานาชนิดของอิหร่านตลอดช่วงระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้กองทัพอิหร่านวันนี้ไปไกล ไปโลด ชนิดใครที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ต้อง “หรี่แอร์” ลงไปด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าเมื่อได้รับทราบข่าวคราวความสำเร็จในการผลิตจรวดพิสัยกลางแบบ “Fajr-3” รัศมีทำการ 200 กิโลเมตร การผลิตตอร์ปิโด “Hoot” ที่สามารถหลบหลีกเรดาร์เข้าไปทำลายเรือดำน้ำของฝ่ายตรงข้าม ด้วยความเร็วถึง 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การผลิตจรวดต่อต้านเรือรบพิสัยกลาง “Kowsar” ที่สามารถหลบหลีกเครื่องตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบการยิงแบบพื้น-สู่-พื้น การผลิตจรวด “Fateh-110” พิสัยทำการเกินกว่า 200 กิโลเมตรขึ้นไป และที่น่าหวั่นใจเอามากๆ ก็คือจรวดนำวิถีระดับข้ามทวีป ที่เรียกๆ กันว่า “Shahab-3” บรรทุกหัวรบหนัก 1 ตัน รัศมีทำการตั้งแต่ 1,280 ไปถึง 2,000 กิโลเมตร อันเป็นขีปนาวุธที่หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองเมื่อปี ค.ศ. 2008 ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม อย่าง “พลเอกฮุสเซน ซาลามี” (Hoseyn Salami) ถึงกับออกมาป่าวประกาศว่า... “จรวดของเราพร้อมแล้ว ที่จะบดขยี้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของฝ่ายผู้รุกราน ทุกสถานที่ ทุกเวลา ด้วยความเร็วและความแม่นยำชนิดที่ศัตรูคาดไม่ถึง...”

และไม่ว่าจะเป็นการคุยโม้โอ้อวด หรือจะมีส่วนจริงมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่โดย “ภูมิรัฐศาสตร์” ของอิหร่าน ที่มีที่ตั้งครอบคลุมบรรดาพื้นที่แหล่งผลิต แหล่งสำรองน้ำมัน ระดับแทบทั้งตะวันออกกลางนั่นเอง เคยทำให้อดีตนักบินรบของกองทัพสหรัฐฯ อย่าง “ดักลาส เฮอร์แมน” (Douglas Harman) อดไม่ได้ที่จะต้องวาดฉากจินตนาการเอาไว้ในข้อเขียนเรื่อง “วันแรกแห่งสงครามอิหร่าน” (Day One-The War with Iran) เอาไว้ในช่วงหลายปีที่แล้วประมาณว่า โอกาสที่จะเกิดภาพไฟลุกไหม้คลังน้ำมัน “ปานามา” อันเป็นคลังเก็บกักน้ำมันไว้สำหรับผู้บริโภคในอเมริกา เพราะถูกจรวดอิหร่านถล่มใส่ ชนิดเปลวเพลิงลุกไหม้ไปจรดฟากฟ้า ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ ไม่ต่างไปจากภาพเรือสินค้า เรือบรรทุกน้ำมัน ไม่น่าจะน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ที่เคยแล่นๆ อยู่ในบริเวณช่องแคบฮอร์มุส อาจต้องเจอกับตอร์ปิโดลูกแล้ว ลูกเล่า กลายเป็นเศษขยะกองเรียงรายไปทั่วทั้งช่องแคบ เรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาในฐานทัพบาห์เรนอาจพังพินาศย่อยยับ ตามไปด้วย รวมทั้งระบบเรดาร์ในเขตกรีนโซนไม่ว่าในอิรัก หรือแม้แต่กรุงเยรูซาเล็ม ที่ไม่อาจสกัดกั้นจรวด “Shahab-3” ได้ทั้งหมด อาจต้องระเบิดเป็นผุยผง และนั่นย่อมส่งผลให้ “ราคาน้ำมัน” ของโลกทั้งโลก พุ่งปรี๊ดไปอยู่ที่ประมาณ 200-300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ไม่ยากซ์ซ์ซ์...ฯลฯลฯล...

พูดง่ายๆ ว่า...อิหร่านยุคนี้ ใหญ่โตเกินไปกว่าที่คิดจะ “เผชิญหน้าโดยตรง” ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหารก็แล้วแต่ ภาพของจีนและรัสเซียที่ยืนค้ำตระหง่านอยู่เบื้องหลังประเทศอิสลามประเทศนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันวันละไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาร์เรลและถูกส่งออกถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการผลิต การเป็นแหล่งทรัพยากรแก๊สธรรมชาติ ชนิดที่เชื่อกันว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดโลกเมื่อรวมกับกาตาร์ ที่มีข้อตกลงในการใช้ทรัพยากรร่วมกันอันสามารถผลิตแก๊สธรรมชาติได้วันละไม่ต่ำกว่า 880 ล้านคิวบิกเมตร และจะผลิตได้ถึงวันละ 1.2 พันล้านคิวบิกเมตร ภายในปี ค.ศ. 2021 จนกลายเป็นตัวดึงดูดนักลงทุนจากยุโรปและทั่วทั้งโลก ที่มิอาจปฏิเสธอิหร่านได้โดยเด็ดขาด...ฯลฯลฯ...

สิ่งเหล่านี้นี่เอง...ที่ทำให้ “การเผชิญหน้าโดยตรง” กับอิหร่าน จึงแทบไม่ต่างอะไรไปจากการ “จุดไฟสงครามโลก” ให้อุบัติขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจังนั่นเอง แต่ก็ด้วยสิ่งที่เรียกว่า... “การขจัดภัยคุกคามอิหร่าน” ที่ถูกก่อรูปก่อร่างขึ้นมาอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ โดยอเมริกา อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย ที่พยายามดึงเอาบรรดาพันธมิตรในยุโรปเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว อย่างเข้มข้นและหนักหน่วงยิ่งขึ้นทุกที ถึงขั้น “ขีดเส้นตาย” ให้ต้องเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่เคยตกลงไปแล้ว ในระดับประชาคมระหว่างประเทศ ให้กลายเป็นตัวสร้างแรงกดดันใหม่ๆ หรือให้กลายเป็นตัวที่อาจนำไปสู่ “การเผชิญหน้าโดยตรง” กับอิหร่านจนได้ กระบวนการดังกล่าว...จึงแทบไม่ต่างไปจากกระบวนการเพื่อที่จะ “จุดไฟสงครามโลกครั้งที่ 3” ขึ้นมาอีกครั้งนั่นเอง...

ส่วนมันจะสำเร็จ-ไม่สำเร็จสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของบรรดาผู้ที่พยายามเคลื่อนไหวผลักดันกระบวนการเหล่านี้มาก-น้อยเพียงใด อันนี้...ก็คงขึ้นอยู่กับบรรดาประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่จะต้องใคร่ครวญ พิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ ว่าระหว่าง “สงคราม” กับ “สันติภาพ” อะไรคือเครื่องมือที่สอดคล้องเหมาะสม ในการคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งของโลกในยุคนี้กันแน่!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น