xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ย้ายพรรค : เปรียบได้กับนักร่อนทอง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ครั้งใดสมัยใดก็ตามที่มีข่าวลือว่าได้มีผู้พบแร่ทองคำในแม่น้ำลำคลองที่โน่นที่นี่ ก็จะมีนักแสวงโชคจากทั่วสารทิศต่างพากันเดินทางไปร่อนทอง และในจำนวนนี้น้อยคนที่ได้พบทองมีมูลค่าคุ้มกับทุนที่ลงไปกับการซื้อหรือเช่าเครื่องมือร่อนทอง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าอยู่กิน ส่วนใหญ่ล้มเหลว และกลับบ้านมือเปล่า บางคนซ้ำร้ายเกิดการเจ็บป่วยด้วย

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในต้นปี พ.ศ. 2562 และได้มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่หลายพรรค จะมีอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองเก่ามีการเคลื่อนไหวเตรียมย้ายพรรค โดยการติดต่อพรรคโน้นพรรคนี้เพื่อขอเข้าสังกัดพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนว่าจะเลือกเข้าพรรคไหนนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย 2 ประการคือ

1. พรรคมีทุนเงิน และทุนทางสังคมมากพอที่จะสนับสนุนให้ตนเองได้รับเลือกเป็น ส.ส.ได้หรือไม่?

2. พรรคมีโอกาสได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล และตนเองมีโอกาสได้ตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

ปัจจัย 2 ประการข้างต้น เป็นมูลเหตุจูงใจให้นักเลือกตั้งวิ่งเข้าหาพรรค ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นต้นว่า มีอุดมการณ์ทางการเมืองและมีแนวนโยบายสอดคล้องต้องกัน เป็นเพียงข้ออ้างหรือเป็นส่วนประกอบย่อมเท่านั้น

ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีความพร้อมทางด้านทุน เงิน และทุนทางสังคม จึงได้เปรียบพรรคที่ไม่มีหรือมีน้อยกว่า

แต่พรรคที่มีปัจจัย 2 ประการนี้ ก็คงจะเป็นพรรคใหญ่ 2 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทุนทางสังคมสูง และพรรคเพื่อไทยซึ่งมีทุนเงินหนา

ดังนั้น ทั้งสองพรรคนี้จึงมีผู้ต้องการจะเข้าสังกัดมาก และสามารถเลือกที่จะรับใครหรือไม่รับใคร ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่นักแสวงโชคทางการเมืองจะเข้าสังกัดสองพรรคนี้ จึงค่อนข้างยาก ด้วยเหตุนี้พรรคที่นักแสวงในการเลือกตั้งจะมีโอกาสเข้าสังกัดได้ ก็จะเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีอยู่เกินครึ่งร้อย แต่ในจำนวนนี้จะมีอยู่ไม่กี่พรรคที่มองเห็นพอจะมีโอกาสได้รับเลือก และในจำนวนไม่กี่พรรคนี้ พรรคที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.และปัจจุบันดำรงตำแหน่งมูลนิธิมวลมหาประชาชน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้การสนับสนุนในระยะแรกที่จะมีการจัดตั้ง ดูเหมือนจะมีความคึกคักและมีผู้ที่จะเข้าสังกัดพรรคนี้มีจำนวนมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. กปปส.มีมวลชนซึ่งเกิดขึ้นจากกระแสไม่เอาระบอบทักษิณจำนวนมาก และถ้ามวลชนจำนวนนี้ยังแนบแน่นอยู่กับแกนนำ ก็จะเป็นต้นทุนทางสังคมของพรรคได้มาก

2. ถ้าอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นอดีตแกนนำ กปปส.ย้ายจาก ปชป.มาอยู่กับพรรคนี้ ก็เท่ากับได้ผู้สมัครซึ่งมีศักยภาพทางการเมืองสูง และมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส.ค่อนข้างจะแน่นอน

3. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จึงทำให้มองได้ว่าพรรคนี้มีอำนาจรัฐเกื้อหนุน

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในภาวะเป็นปัจจัยบวกในทางการเมืองก่อนหน้า

แต่ในปัจจุบัน ทั้งทางสังคมและการเมืองเปลี่ยนไปในทางลบ ซึ่งทำให้พรรคนี้อยู่ในภาวะง่อนแง่น และมีโอกาสได้ ส.ส.น้อยกว่าที่หลายๆ คนคาดไว้ก็เป็นไปได้ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากผลงานใน 3 ปีที่ผ่านมาไม่เป็นที่ประทับใจของประชาชน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคม

ดังนั้น การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นปัจจัยลบกับพรรค

2. ในการรายงานตัวของสมาชิก ปชป.ไม่ปรากฏว่ามีอดีต ส.ส.ของพรรคนี้ย้ายไปอยู่พรรคที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สนับสนุนให้ตั้งขึ้น ยกเว้นน้องชายและลูกชายของนายสุเทพ

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า พรรคนี้คงจะก้าวไปไม่ถึงที่คาดหวังไว้ และเป็นไปได้ว่าอาจล่มสลายกลางคันก็เป็นได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเลือกตั้งมีอันต้องเลื่อนออกไปนานกว่าที่โรดแมปกำหนด

ถ้าการอนุมานข้างต้นถูกต้อง ก็จะเท่ากับว่าทำให้นักแสวงโชคทางการเมืองหลายคนผิดหวังในทำนองเดียวกันกับนักร่อนทองที่กลับบ้านมือเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น