ผมเริ่มสนใจหิมาลัย จากป่าหิมพานต์ที่เรียนในวรรณคดี ตั้งแต่เด็ก ว่าอยู่บนหิมาลัย อยากเห็นต้นไม้และสัตว์ป่าในหิมพานต์ และอยากสัมผัส “หิมะ” ด้วย ซึ่งในภาษาไืทย”หิมาลัย” แปลว่าที่อยู่ของ”หิมะ” แม้ผมจะรู้จัก และ คุ้นเคย รวมทั้งเผชิญภัย กับ “snow” ในอเมริกามาแล้ว แต่เรามักเข้าใจว่า “snow” นั้นเป็นของไกลตัว เป็นของฝรั่ง เท่านั้น ความจริงเราใกล้ชิดกับ snow มานานแล้ว
คำว่า “หิมะ” นั้น ย่อมเป็นคำเก่าของเราด้วย หิมะเป็นของ “ชมพูทวีป”ครับ ถ้าจะพูดให้ชัด แต่ก็อย่าลืมว่า “ชมพูทวีป” นั้นถือว่าเป็น “ของเรา” ได้ เราผูกพันและคุ้นเคยกับ“ชมพูทวีป” มายาวนานมาก ทั้งที่เป็น “อนุทวีป” ที่เป็นจริง ทั้งที่เป็นดินแดนสมมติ ดินแดนในอุดมคติ และในฝัน ส่วน “ทิเบต” นั้น ก็จัดอยู่ในรายการที่ผมอยากไปเยือน มันช่างน่าสนใจยิ่งดินแดนแห่งนี้ เรียกกันว่า “หลังคาโลก” เสียด้วย
ไม่เคยฝันครับ ว่าในที่สุดกว่าสิบปีมานี้ ผมได้ไปเห็นหิมาลัยเกือบทั้งเทือก ยาวกว่าสองพันกิโลเมตร ตั้งแต่ตะวันตกสุดที่อยู่ในปากีสถาน ที่อยู่ในดินแดนอินเดีย ในเนปาล ภูฏาน ในจีน ในพม่า และ สุดท้าย ยอด “ อินทนนท์ “ ของไทยเรา ก็ถือได้ว่าเป็นแนวด้านตะวันออกสุดของ “มหาหิมาลัย” พืชสัตว์ นก ที่อยู่ในหิมาลัย ก็มักหาได้ที่อินทนนท์ด้วยเสมอ ส่วน “ทิเบต” นั้นยังไม่ได้ไปเยือน แต่ก็ได้ท่องเที่ยวไปบนที่ราบสูงทิเบตที่อยู่ในยูนนานและเสฉวนของจีนมามากแล้ว สวยงาม สดใสมาก และ ก็ขรึมขลังด้วย
หิมาลัยนั้นไม่ใช่สูงเสียดฟ้าแต่อย่างเดียว หากแต่มี”กลาเซียร์” หรือธารน้ำแข็ง อันเป็นต้นน้ำที่ไหลเป็นแม่น้ำไปเลี้ยงที่ราบมากมาย มีปริมาณถึง 20 เท่าของกลาเซียร์ในเทือกเขาแอลป์ในยุโรป ซึ่งคนไทยเราคุ้นเคยและเคยไปมากต่อมากแล้ว และ ทิเบต นั้น ก็ถือได้ว่าเป็น “ถังเก็บน้ำ” ที่ใหญ่ที่สุด น่ามหัศจรรย์ที่สุดของโลกก็ว่าได้
หิมะ และ กลาเซียร์ ในหิมาลัย และบนทิเบต เป็นต้นธารของแม่น้ำใหญ่ร่วมสิบสายของเอเชีย เริ่มจากตะวันตกสุด แม่น้ำสินธู (Indus) และแม่น้ำสัตเลจ (Sutlej)ในปากีสถาน แม่น้ำคงคาในอินเดีย พรหมบุตรในบังกลาเทศ สาละวิน และอิระวดี ในพม่า โขง ที่ไหลผ่านหลายประเทศและลงทะเลที่เวียดนามตอนใต้ และยังเป็นกำเนิดของแม่น้ำเหลือง ที่ไหลลงทะเลที่ซานตง และแม่น้ำแยงซีเกียงที่ไหลลงทะเลใกล้เซี่ยงไฮ้
ในบรรดาแม่น้ำใหญ่ที่ไหลลงมาจากที่ราบสูงทิเบต และ เทือกหิมาลัยนั้น ที่ยาวที่สุดคือ แม่น้ำแยงซีเกียง ยาวหกพันกว่ากิโลเมตร แม่น้ำเหลืองห้าพันกว่ากิโลเมตร และ แม่น้ำโขงยาวสี่พันกว่ากิโลเมตร ผู้คนในปากีสถานเกือบสองร้อยล้าน อินเดียพันกว่าล้าน บังคลาเทศร่วมร้อยล้าน เอเชียอาคเนย์ร่วมสองร้อยล้าน และ จีนพันกว่าล้านคน ล้วนจำต้องอาศัย “น้ำ” จากหิมาลัยและทิเบตนี่เอง
ไทยเรามองเผินๆ มองผาดๆ ไม่เกี่ยวกับหิมาลัยโดยตรง จะเกี่ยวข้องผ่าน “ชมพูทวีป” เท่านั้น แต่มองแบบเพ่งพิศเกี่ยวครับ ตอนต้นพูดไปแล้วว่าอินทนนท์และด้านตะวันตกของภาคเหนือไทยนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย และ ทราบด้วยนะครับว่า เรายังมีแม่น้ำ”ศักดิ์สิทธิ์” จากหิมาลัยอันเป็นที่อยู่ เป็นสวรรค์ ของเทพเทวา ไหลมาผ่านถึงสองสายด้วย คือ แม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลคั่นแดนไทย-พม่า ร้อยกว่ากิโลเมตร ที่ อ แม่สะเรียง จ แม่ฮ่องสอน และ อย่าลืม แม่น้ำโขงที่คั่นแดนไทย-ลาวที่ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ราวแปดร้อยกิโลเมตร ก็ไหลลงมาจากทิเบตและหิมาลัย