xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ล้มกระดาน กสทช.ตามคาด “เลขาฯปปง.”ฉลุย-“ภรณี”วืดผู้ตรวจฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนช.ตีตก “ภรณี” วืดเก้าอี้ผู้ตรวจฯ แต่ “เลขาฯปปง.” ฉลุย ก่อนประชุมลับล้มกระดาน กสทช. อ้าง 8 แคนดิเดตขาดคุณสมบัติ โยน กก.สรรหาตรวจสอบใหม่ “ตวง” แย้ง สนช.ไม่มีสิทธิ์พิจารณษคุณสมบัติ แต่พ่ายเสียงโหวต 118 เสียงที่เห็นชอบญัตติคว่ำที่ “สมชาย แสวงการ” เสนอ

วานนี้ (19 เม.ย.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาวาระเรื่องด่วน เพื่อให้ความเห็นชอบ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานผู้พิพากษาสมทบฝ่ายบริหาร ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.นนทบุรี ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่สมควรได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้พิจารณา

ทันทีที่เริ่มประชุม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. ได้ขอให้มีการประชุมลับ เนื่องจากสมาชิกบางส่วนยังมีประเด็นติดใจ ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้อง และใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนลงมติด้วยคะแนน 64 ต่อ 117 งดออกเสียง 19 ส่งผลให้ นางภรณี ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือมีคะแนนไม่ถึง 124 เสียง ทำให้ต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่

รายงานข่าวจาก สนช. แจ้งว่า สำหรับเหตุผลที่ สนช. เสียงข้างมากลงมติไม่เห็นชอบนั้น เนื่องจากพบข้อร้องเรียนต่อพฤติกรรมที่เข้าข่ายการแอบอ้างบุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงในราชการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นางภรณีเข้ารับตำแหน่ง นอกจากนั้นยังพบว่านางภรณี ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพจริง ดังนั้นพฤติกรรมที่ถูกร้องเรียนและการตรวจสอบที่พบ จึงถือว่าขัดต่อคุณสมบัติการเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในมาตา 202 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์และมีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้น ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติ เห็นชอบ 182 ต่อ 6 งดออกเสียง 8 เห็นชอบ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง.ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธานโดยเป็นการพิจารณารายงานและลงมติลับ

ในช่วงบ่าย ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาวาระเรื่องด่วน เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ 7 ด้าน จำนวน 7 คน จากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อเข้ามาจำนวน 14 คน โดยที่ประชุมได้ทำการประชุมลับนานกว่า 4 ชั่วโมง ระหว่างการประชุม นายสมชาย แสวงการ สนช. แจ้งว่า รายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่สมควรได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. พบว่า มีบุคคลซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตลอดจนมีประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมไม่เหมาะสม จำนวน 8 คน ซึ่งทำให้อาจเกิดปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากจำนวนของผู้เข้ารับการสรรหามีไม่ถึง 2 เท่าของจำนวน กสทช.ทั้ง 7 คน หรือจำนวน 14 คน ตามที่มาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย กสทช. กำหนดให้ “คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการให้ได้จำนวน 2 เท่าของจำนวนกรรมการที่จะพึงมีในแต่ละด้านภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา”

ทั้งนี้นายสมชายเห็นว่า อาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีในอนาคต ก่อนเสนอที่ประชุมงดเว้นการดำเนินการตามมาตรา 17 ด้วยการไม่เลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาทั้ง 14 คน

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย สนช. เห็นแย้งว่า สนช.ไม่สามารถยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายได้ จึงต้องเดินหน้าเลือกกรรมการ กสทช. ตามมาตรา 16 และมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.กสทช.

“สนช.ไม่มีหน้าที่ในการไปวินิจฉัยว่าใครมีคุณสมบัติครบหรือไม่ เพราะบัญชีารายชื่อที่สนช.ได้รับมานั้นได้ผ่านกระบวนการคัดกรองมาแล้วชั้นหนึ่งจากคณะกรรมการสรรหา” นายตวง ระบุ

ทำให้นายสมชายต้องเสนอญัตติให้ สนช.งดเว้นการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการไม่เลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 14 คน ก่อนที่ประชุมจะลงมติด้วยคะแนน 118 ต่อ 25 เสียง เห็นชอบตามที่นายสมชายเสนอ โดยมีผู้งดออกเสียง 20 คน ก่อนที่ประธานฯ จะสั่งปิดการประชุมทันที

สำหรับ 14 รายชื่อว่าที่ กสทช. ที่ สนช.แยกเป็นด้านต่างๆ จำนวนด้านละ 2 ชื่อ ดังนี้ 1.ด้านกิจการกระจายเสียง พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และนายธนกร ศรีสุขใส 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม นายอธิคม ฤกษบุตร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ 4.ด้านวิศวกรรม พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน 5.ด้านกฎหมาย นายมนูภาน ยศธแสนย์ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ นายภักดี มะนะเวศ และนายณรงค์ เขียดเดช 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และนายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์

มีมติไม่เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560

โดยที่ประชุมลงคะแนนเสียงในทางลับเห็นด้วยกับญัตติที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) นำเสนอ ซึ่งนายสมชายให้เหตุผลว่ารายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จำนวน 8 ใน 14 รายตามที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอมานั้น มีคุณสมบัติต้องห้าม และขาดจริยธรรม

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ที่มีผู้เข้าร่วมประชุม 163 เสียง ลงมติไม่เลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ 118 เสียง, ลงมติเลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง

สำหรับ 14 รายชื่อที่ได้รับการสรรหาด้านละ 2 ชื่อ ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง คือ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และ นายธนกร ศรีสุขใส 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ คือ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม คือ นายอธิคม ฤกษบุตร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ 4.ด้านวิศวกรรม คือ พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน

5.ด้านกฎหมาย คือ นายมนูภาน ยศธแสนย์ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ ผศ.ภักดี มะนะเวศ และนายณรงค์ เขียดเดช 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และนายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์

ทั้งนี้ นายสมชาย กล่าวภายหลังการประชุมลับนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า จากการรับฟังรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.พบว่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติ รวม 8 คน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 7 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามว่ากสทช.ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจ ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก

นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อพบว่ามีบุคคลที่คุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม จึงมีประเด็นว่าบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมานั้นมีจำนวนครบ 2 เท่าตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งหาก สนช.ลงมติเลือกไปอาจมีปัญหาในทางกฎหมายได้ จึงเสนอให้สนช.ลงมติเพื่อไม่เลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น