xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์ที่ปากีสถาน:ทัศนศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์โลก(2)

เผยแพร่:   โดย: เอนก เหล่าธรรมทัศน์


ภูมิศาสตร์ของปากีสถานที่น่าประทับใจที่สุดในสายตาผมคือเทือกเขาสูง”หลังคาโลก”สามเทือกอันได้แก่หิมาลัย คาราโครัม และฮินดูกูษ ที่มาบรรจบกันที่ตอนเหนือของประเทศนี้เอง ผมไปชมหิมาลัยมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ที่สูงเต็มที่นั้นก็แปดพันกว่าเมตร น่าเกรงขามยิ่ง เครื่องบินใบพัดบินไม่ผ่านแน่ ต้องใช้เครื่องไอพ่นเท่านั้น แต่ปากีสถานก็มีหิมาลัยกับเขาด้วย คือหิมาลัยทางด้านตะวันตกสุด และในนั้นมียอดหนึ่งที่ชื่อว่า นานกา พราบาท (Nanga Prabat) สูงถึงแปดพันกว่าเมตร และยังมีเทือกคาราโครัม ที่สูงไม่แพ้หิมาลัยด้วย มีอยู่ในปากีสถานนี้เท่านั้น ในเทือกนี้มีอยู่ถึงสี่ยอดที่สูงกว่าแปดพันเมตร รวมถึงยอด เค 2 ซึ่งสูงเป็นถึงที่สองของโลก เตี้ยกว่ายอดเอเวอเรสต์ไม่กี่ร้อยเมตร

สรุปสั้นๆก่อนว่าปากีสถานมียอดเขาที่สูงแปดพันเมตรขึ้นไปถึงห้าลูก แต่ยังครับ ยังไม่หมด มหาบรรพตในประเทศปากีสถานยังมีอีก เทือกเขาฮินดูกูษก็อยู่ในประเทศนี้ ทางด้านตะวันตก คั่นระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถานนั่นเอง ซึ่งเทือกเขาฮินดูกูษนี้ก็อยู่ในระดับหลังคาโลก แม้ไม่มียอดแปดพันเมตร แต่ก็เต็มไปด้วยยอดเจ็ดพันกว่าเมตรมากมาย

จีนก็มีภูเขาสูงลิ่ว สูงถึง ระดับ 7,000-8,000 เมตรจำนวนมากมาย มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก อินเดียก็น่าจะมีเป็นจำนวนรองๆ ลงมา แต่ถ้านับยอดเขาสูง 7-8,000 เมตร ต่อตารางพื้นที่ประเทศแล้วไซร้ ปากีสถานน่าจะเป็นทึ่หนึ่งของโลกครับ

ตอนเหนือของปากีสถานไม่ได้วิเศษที่มีเทือกเขายักษ์สามลูกมาบรรจบกันเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเชื่อมเอเชียกลางเข้ากับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก จากตรงนี้สามารถเดินหรือเดินรถตามแนวเขาและผ่านช่องแคบต่างๆเข้าไปในอัฟกานิสถาน และถึงทาจิกกิสถาน อูซเบกิสถาน และประเทศเอเชียกลางอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันจากปากีสถานตอนเหนือยังเดินรถตาม “เส้นทางอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก” หรือ ทางหลวงคาราโครัม ซึ่งยาวกว่าแปดร้อยกิโลเมตร ตั้งต้นจากเมืองหลวงของปากีสถานคือ อิสลามาบัด เข้าไปได้จนถึงซินเกียงของจีน ซึ่งจีนก็คือ เอเชียตะวันออก ที่จริงศูนย์กลางของเอเชียตะวันออก เสียด้วย

ปากีสถานนั้นไม่ได้มีแต่”หลังคาโลก” หากตอนใต้สุดยังอยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย เมืองท่าใหม่ “กวาดาร์ “ ของปากีสถานนั้น อยู่ในปากอ่าวเปอร์เซียทีเดียว ฉะนั้น จีน ก็ดี อัฟกานิสถาน และ เอเชียกลาง ก็ดี รัสเซียซึ่งอยู่ติดกับเอเชียกลางก็ดี หากต้องการจะลงทะเลที่มหาสมุทรอินเดียแล้วไซร้ ก็จำต้องผ่านปากีสถานไปลงทะเลครับ

ในอดีตกาลเมื่อพันถึงสองพันปีที่ผ่านมานั้น ปากีสถานคือส่วนสำคัญของทาง “สายไหม” ที่เชื่อม”ตะวันตก” หรือ ยุโรป เข้ากับ “ตะวันออก” หรือเอเชียกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกด้วยทางบก ค้าขายสินค้า และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รับศาสนา และอารยธรรมของกันและกัน มาร์โคโปโล เดินทางบนเส้นทางยาวไกลนี้จากอิตาลี มาเอเชียกลาง แล้วก็ผ่านปากีสถานตอนเหนือนี่แหละ เข้าต่อไปยังจีนด้านตะวันตกสุด แล้วต่อไปถึงเมืองหลวงของราชวงศ์ ”หยวน”ทางตะวันออกสุดของจีน การเดินทางบน “ทางหลวงคาราโครัม”นั้น จึงเป็นการวิ่งรถ “ทับรอยเท้า” ของมาร์โคโปโลเข้าไปในจีนโดยแท้

ตลอด “ทางหลวงคาราโครัม” เราไม่เพียงจะได้เห็นหิมะบนยอดเขาสูง เห็นกลาเซียร์ยาวเหยียด เห็นใบไม้ผลิเห็นดอกเชอรรีบานเบ่ง แต่ยังเห็นเส้นทางสายไหมเส้นเก่าอยู่ไม่ไกลออกไป เห็นอยู่บ่อยๆ คาดว่ามาร์โคโปโลเคยเดินบนเส้นทางเหล่านั้นจริง ๆ เมื่อเกือบพันปีที่แล้ว

มาร์โคโปโล นักเดินทางไกลผู้ลือนามจาก “ตะวันตก” นี้ ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เคยท่องทางไกลในปากีสถาน เพื่อไปยังจีน แต่ นักเดินทางนามระบิลจาก “ตะวันออก” อีกสององค์คือหลวงจีนฟาเสียนแห่งคริสตศววรศที่ 5 และ หลวงจีนถังซำจั๋งแห่งศตววรษที่ 7 ก็เดินจากจีนมาเอเชียกลางและเข้าปากีสถาน ศึกษาที่ตักศิลา และต่อไปยังอินเดีย เส้นทางเดินอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาไปยังจีน และต่อไปเกาหลี และญี่ปุ่น ล้วนต้องผ่านปากีสถานในตอนเหนือ และพุทธมหายานแบบจีน รวมทั้งนิกายเซ็นของญี่ปุ่น ล้วนก่อเกิด พัฒนา ต่อยอด ที่ตักศิลา เป็นสำคัญ และ เดินบนทางสายไหมในปากีสถานออกไปเกือบทั้งนั้น

สุดท้าย ประวัติศาสตร์การเดินทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีกโบราณ เมื่อ 2,300 ปีเศษที่ผ่านมา ตีเข้าไปได้ไกลจนถึงอินเดียที่เราเรียนกันมา รู้กันมา นั้น เอาเข้าจริงการตีศึกและเดินทัพของพวกกรีกนั้นอยู่ในปากีสถานหมด หรือเกือบหมดน่าจะไม่ได้อยู่ในอินเดียเลย เพราะอเล็กซานเดอร์ยึดตักศิลาก่อน แล้วยึดปัญจาบ ลงใต้ต่อไปยังแคว้นซินด์ แน่นอนปัญจาบและซินด์ทุกวันนี้อยู่ทั้งในปากีสถานและอินเดีย แต่การเดินทัพของทหารกรีกใต้อเล็กซานเดอร์ในอินเดียที่โลกทุกวันนี้ก็ยังจำได้นั้น เดินตามแม่น้ำสินธูหรือ”อินดูส” ซึ่งแม่น้ำนี้ ต้องย้ำอีกครั้งครับ อยู่ในปากีสถาน ด้วยเหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ได้กรีธาทัพผ่านส่วนใดของประเทศอินเดียปัจจุบันเลย

ปากีสถานมีผู้คนที่น่ารัก สวยหล่อ น่าคบ น่าเป็นมิตร มีภูมิศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ สำคัญและงดงาม มีประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่า และคาดไม่ถึงว่าเคยสำคัญปานนั้นกับชาวพุทธ กับอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ กับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับภาษา หนังสือ และวรรณกรรมสันสกฤต กับเส้นทางสายไหมเก่า กับเส้นทางสายไหมใหม่ กับกรีกโบราณ กับอเล็กซานเดอร์มหาราช ในแง่หนึ่ง ผมคิดปากีสถานเป็น”ชุมทางประวัติศาสตร์โลก” ทีเดียว

ไปเที่ยว ไปชม ไปเรียนรู้ปากีสถานกันเถิดครับ






กำลังโหลดความคิดเห็น